การประกาศเขตภัยพิบัติฝุ่น

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ภาพถ่ายจากดาวเทียมเว็บไซต์ Fire Information for Resource Management System (FIRMS) ที่พัฒนาโดยนาซ่า เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อนทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏความน่ากังวลที่ว่า ประเทศไทยกำลังถูกล้อมจากจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาข้ามแดนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างหนาแน่น

โดยจุดความร้อนดังกล่าวกระจายตัวอยู่ทั้งทางทิศตะวันตกในประเทศเมียนมา กับทิศตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาวตอนใต้ เมื่อลมพัดควันไฟที่เกิดจากจุดความร้อนเหล่านี้เข้ามาในอาณาเขตประเทศไทย ก็จะส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันดูเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA เอง ล่าสุดพบว่า แม้จุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในประเทศไทยจะลดลง (เหลือประมาณ 232 จุด) แต่เมื่อเทียบกับจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแม้จะลดลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก

โดยเฉพาะเมียนมาพบจุดความร้อนถึง 1,717 จุด สปป.ลาว 1,099 จุด กัมพูชา 776 จุด และเวียดนาม 307 จุด เท่ากับสถานการณ์ความรุนแรงของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ต่อจากนี้ไปจะไม่ได้ขึ้นกับมาตรการควบคุมฝุ่นมลพิษที่เกิดจากการเผาและกิจกรรมการขนส่ง-ก่อสร้างในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเหตุมาจากการเผานอกประเทศและลมพัดพาเข้ามาในประเทศเป็นสำคัญ

ความกังวลเรื่องสถานการณ์ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ซึ่งจะเป็น “ของจริง” ตั้งแต่เดือนเมษายนที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวทั้งในส่วนของภาคประชาชนในพื้นที่และในส่วนของภาครัฐ ในขณะที่การประชุม ครม.ครั้งที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันถึงมาตรการห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเชื่อว่าการเผาไร่เพื่อปลูกข้าวโพดเป็นต้นตอของการเผาข้ามแดน ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 พัดเข้ามาในประเทศ

ทว่ามาตรการห้ามการนำเข้าข้าวโพดโดยสาเหตุมาจากการเผาไร่ อาจไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าเกษตรตามพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ ทั้งพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมไปถึงความตกลงเขตการค้าเสรี AFTA

ประกอบกับการยกข้ออ้างจะห้ามนำเข้าข้าวโพดที่เกิดจากการเผานั้น การผลิตข้าวโพดภายในประเทศก็จะต้องไม่ก่อให้เกิดการเผาไร่เช่นกัน ดังนั้น การใช้มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าจากในประเทศไปบังคับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้นโยบายขอ “ความร่วมมือ” ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้นตอของฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่จะมาจากการเผาข้ามแดน จึงควรที่จะต้องทบทวนความจำเป็นในการใช้มาตรการด้านอื่น ๆ อาทิ การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่น เข้ามาดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่