ความคิดผู้นำ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

ไอเดียผู้นำ ซี.พี.มีพลังสั่นสะเทือนทางสังคมอย่างกว้างขวางเสมอ

ธนินท์ เจียรวนนท์ กับบทเรียนการบริหารธุรกิจเครือ ซี.พี. มีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการสังคมไทยมามากกว่าครึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรมไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปด้วยอัตราเร่งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เขาสามารถมองเห็นบางปรากฏการณ์เป็นวิวัฒนาการทางสังคม มีความเข้าใจในความเป็นไป และเห็นภาพเชิงแนวโน้มความเชื่อมั่นในทิศทาง และแนวโน้มนั้นได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนอันมีพลังอย่างยิ่ง พร้อม ๆ กับโอกาสทางธุรกิจที่เปิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง ภาพนั้นสัมพันธ์กับพัฒนาการธุรกิจเครือ ซี.พี.โดยตรง

ในแง่สังคมธุรกิจ ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้นำธุรกิจคนสำคัญไม่เพียงในสังคมไทย หากในระดับภูมิภาค ด้วยความสามารถผ่านร้อน-หนาวเข้าถึงอำนาจและสายสัมพันธ์ ข้ามผ่านยุคสมัยอันหลากหลาย ซับซ้อน เขามักนำเสนอความคิดและวิสัยทัศน์อันหลักแหลม ด้วยความมั่นใจและเปิดเผยอย่างซื่อสัตย์กับตนเอง จึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มนักลงทุนกับแวดวงการเงิน

พัฒนาการธุรกิจเครือ ซี.พี.ดังกล่าว ดำเนินมาเป็นขั้น ๆ เป็นยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์อย่างเกื้อกูลกัน

เปิดฉากด้วยเครือข่ายธุรกิจ ซี.พี.-กลุ่มธุรกิจการเกษตรและอาหาร รากฐานธุรกิจดั้งเดิมพัฒนาการเป็นมาช้านาน ตั้งแต่ยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 กว่าจะมีบทบาทผลักดันการเปลี่ยนแปลงการผลิตแบบดั้งเดิมของสังคมสู่ยุคใหม่อย่างที่เป็นใช้เวลาไม่น้อยเลย ในที่สุดก็มาถึงยุค ซี.พี.มีบทบาทอย่างแท้จริง เป็นพลังนำในการเปลี่ยนแปลงและกลไกการค้า

ากธุรกิจดั้งเดิม เมล็ดพันธุ์ไปสู่ปุ๋ยและธุรกิจอารักขาพืช (ผลิตภัณฑ์ สารกระตุ้นการเติบโต และปราบศัตรูพืช) ในปัจจุบันเป็นเครือข่ายธุรกิจครบวงจรอันซับซ้อนที่ใหญ่มาก ๆ โดยเฉพาะซีพีเอฟมีเครือข่ายสัมพันธ์กับสังคมเกษตรกรรมอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน จากฐานธุรกิจอาหารสัตว์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยเครือข่ายรับซื้อสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด เพื่อป้อนโรงงานสู่ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ทั้งของตนเองและเครือข่าย ฯลฯ

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจการเกษตรและอาหาร ซี.พี. ภายใต้ซีพีเอฟ “ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การแปรรูปเนื้อสัตว์ และการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน พร้อมกับการลงทุนในอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก” (อ้างจาก www.cpgroupglobal.com)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมนำเสนอข้อเขียนซีรีส์ “สองทศวรรษสังคมธุรกิจไทย” (ในมติชนสุดสัปดาห์) ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงบางมิติ “ขยายเครือข่ายเชิงพื้นที่อย่างกว้างขวาง พลังและอิทธิพลสามารถพลิกโฉมสังคมบริโภค และวิถีปัจเจก” นั่นคือ การเกิดขึ้นและการพัฒนาเครือข่ายร้านอาหารสมัยใหม่ ทดแทนร้านอาหารดั้งเดิม ในภาพนั้นให้ความสำคัญกรณีซีพีเอฟเป็นพิเศษ

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน แบรนด์หลัก “ซีพี” หรือ CP (ตั้งแต่ปี 2549) ทั้งสร้างแบรนด์ใหม่ ๆ อื่น ๆ อย่างหลากหลาย ทดแทนและเข้าถึงผู้คนทุกระดับ พร้อม ๆ กับขยายเครือข่ายร้านค้าเข้าถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงด้วยรูปแบบหลากหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะภายใต้เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่” เท่าที่ประเมินมีแล้วมากกว่า 6,000 แห่ง โดยเฉพาะร้านค้าย่อยอย่างไก่ย่าง “ห้าดาว” มีมากกว่า 5,500 จุดขายแล้ว

ไอเดียล่าสุดซึ่งผู้คนสนใจกันมาก กรณี ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวกับสื่อไทยระหว่างการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน (ข่าวสารปรากฏในวันที่ 27 สิงหาคม 2561) มีบางตอนเจาะจงกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างสอดคล้องตามแผนการต่อเนื่อง เป็นแผนการใหญ่กว่าที่คาดคิด “ซี.พี.มีแผนที่จะเปิดร้านอาหาร-ภัตตาคารเพิ่มอีก 50,000 จุด โดยเป็นระบบแฟรนไชส์” เป็นโมเดลที่แตกต่างด้วยมีบริการส่งถึงที่ในพื้นที่ชุมชน และมีพื้นที่นั่งทำงาน (cospace) เป็นต้น

แล้วก็มาถึงการค้า ซี.พี.เปิดฉากความพยายามพลิกโฉมการค้าย่อยดั้งเดิมของสังคม ด้วยการเปิดเครือข่ายค้าปลีกขนาดย่อยภายใต้ 7-Eleven เป็นพลังใหม่ที่เหลือเชื่อ ใช้เวลาเพียง 2 ทศวรรษได้ก้าวมาไกลเหลือเกินร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มีเครือข่ายสาขามากที่สุดในประเทศไทย มากกว่าเครือข่ายทั้งหลายทั้งปวงในสังคมธุรกิจ สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังขยายตัวครอบคลุมชุมชนที่มีพื้นฐานมาจากเกษตรกรรม ตามหัวเมืองและชนบท เป็นเครือข่ายย่อยที่มีพลัง มีจำนวนมากกว่าเครือข่ายทางสังคมอื่นใด

แม้กระทั่งสำนักงานรัฐที่ย่อยที่สุดอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. (มีแค่กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ) และอาจเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้คนมีกิจกรรมมากกว่ามาที่วัดเสียอีก แม้ตามสถิติวัดที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศมีกว่า 3 หมื่นแห่งก็ตาม ด้วยปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละมากกว่า 10 ล้านคน

ที่สำคัญเป็นความเชื่อมโยงระหว่างโมเดลเกษตรกรรมสมัยใหม่ มีห่วงโซ่ไปถึงอาหารพร้อมรับประทานกับค้าปลีกแบบใหม่ (modern retail) 7-Eleven มีฐานธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานมาเกือบ ๆ 3 ทศวรรษแล้ว จำหน่ายผ่านทั้งช่องทาง 7-Eleven เอง รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ มียอดขายเฉพาะอาหารมากกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่ 7-Eleven เป็นเครือข่ายร้านค้าให้สินค้าอาหารของซีพีเอฟด้วย

มุมมองและแผนการล่าสุด ธนินท์ เจียรวนนท์ ให้ภาพเชื่อมโยงอีกระดับภายใต้แรงขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในภาพใหญ่ยิ่งขึ้น ว่าไปแล้วนับเป็นแผนการต่อเนื่อง เป็นแผนการใหญ่ เชื่อว่าจะอยู่ท่ามกลางแรงเสียดทานไม่น้อย

เขาบอกว่า “ร้านโชห่วยในประเทศไทยมีมากถึง 6 แสนร้าน ส่วน 7-Eleven ปัจจุบันมีประมาณ 11,000 สาขา เชื่อว่า 7-Eleven สามารถมีเครือข่ายอย่างมากไม่เกิน 20,000 แห่ง” แรงขับเคลื่อนสำคัญของ ซี.พี.จากนี้ไปเป็นความพยายามในการปรับโฉมร้านโชห่วย ไปสู่โมเดลค้าปลีกแบบใหม่อย่างที่เขาเชื่ออย่างที่ควรจะเป็น

ภายใต้แรงขับเคลื่อนของ ซี.พี.เริ่มด้วยกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น “ร้านโชห่วยมีมากเกินไปก็จะแย่งกันจนไม่มีใครได้กำไร ควรมีเพียง 200,000 ร้าน” เขาเน้น ตามมาด้วยการเปลี่ยนโฉม ไม่เพียงการจัดหน้าร้านใหม่

หากอยู่ที่การบริหารด้วยการฝึกอบรมเจ้าของร้านเดิมให้เข้าใจการบริหารแบบใหม่ จากนั้นโมเดลร้านค้าย่อย ร้านโชห่วยใหม่จะมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจ ซี.พี.มากขึ้น ในฐานะเป็นเครือข่ายจำหน่าย “ของสด” ซึ่งไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นนอกจากจะเป็นสินค้าอาหารสดมาจากเครือข่ายธุรกิจ ซี.พี.ด้วย “จะลงตู้แช่ให้ฟรี” เขาให้รายละเอียดที่เป็นอยู่

ตู้แช่ ซี.พี.มีจำนวนมากขึ้น ๆ แล้ว แม้กระทั่งเครือข่ายโรงแรมประหยัด Hop inn ของกลุ่มอมรินทร์ ซึ่งเป็นจุดบริการอาหารพร้อมรับประทานแบรนด์ ซี.พี.นั่นเอง

แผนการดังกล่าวเชื่อมโยงไปยังแผนการสร้างเครือข่ายร้านอาหาร 50,000 แห่งที่กล่าวไว้ตอนต้นอีกด้วย และด้วยวัตถุดิบจะเชื่อมโยงกับเครือข่ายโชห่วยใหม่ “เป็นการระบายสินค้า สร้างรายได้หมุนเวียนกันในชุมชนเอง” เขาว่าอย่างนั้น

ทั้งนี้ โมเดลและความเชื่อมโยงใหม่โดยรวมอีกชั้นหนึ่ง อยู่ที่ระบบโลจิสติกส์ ซี.พี.มีแผนการใหญ่อีกเช่นกัน จะผนึกกำลัง “รถขนปุ๋ย อาหารสัตว์ ขนของ 7-Eleven ซึ่งมีอยู่แล้วประมาณ 18,000 คัน” กลายเป็นเครือข่ายเดียวกันตามแผนการขยายให้มีจำนวนรถเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ด้วยความร่วมมือคู่ค้ารายย่อยต่าง ๆ ให้มีมากถึง 200,000 คัน หากเป็นจริงตามนั้นจะกลายเป็นเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ทั้งหมดล้วนเป็นภาพเชื่อมโยง เป็นแผนการ “ต่อยอด” อันน่าทึ่ง ดูไปแล้วมีความเป็นไปได้ เป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง ขณะที่อีกแผนการหนึ่ง แผนการใหญ่ ซึ่งกำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มกำลังให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง ถือว่าเป็นแผนการใหม่อย่างแท้จริง จะขอกล่าวในตอนต่อไป