ส.ส.ในระบอบเผด็จการสืบทอด

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ในที่สุดการเลือกตั้งคงจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมปีนี้แน่แล้ว หลังจากมีความไม่แน่ใจอยู่นาน ส่วนผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็เป็นเรื่องที่น่าจะคาดเดากันได้ ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

อย่างไรเสีย พรรคการเมืองที่รัฐบาลเผด็จการทหารจัดตั้งขึ้นก็คงจะสามารถรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อย เสนอชื่อผู้นำปัจจุบันให้กลับมาดำรงตำแหน่งได้

ตามเดิม เพราะมีตัวช่วยคือสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ผู้นำปัจจุบันเป็นผู้ทูลเกล้าฯเสนอรายชื่อ ดังนั้น วุฒิสมาชิกจะลงคะแนนเสียงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะเกิด “อภินิหาร” ทางการเมือง แต่ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการเมืองไทย

ผู้นำคนปัจจุบัน ค่อนข้างแน่นอนว่าต้องกลับมาอีกแน่ แม้จะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ กล่าว “มุสาวาจา” ติดตลกเป็น “ล้อต๊อก” ไปวัน ๆ แต่หนักกว่าล้อต๊อกเพราะล้อต๊อกไม่เคยกล่าว

คำหยาบ ไม่ด่าสบถสาบานในที่สาธารณะ ทั้ง ๆ ที่ล้อต๊อกไม่มีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ไม่ต้องกลัวอนุชนรุ่นหลังเอาเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีไปใช้

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ที่จะมาถึงนี้ จึงไม่ใช่การเลือกพรรคการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ แต่เป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ผู้นำเผด็จการทหารของไทยที่ต้องการสืบทอดอำนาจเท่านั้นเอง

พฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ได้มีให้เห็นแต่ในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่ออกไปสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนในระดับรากหญ้าโดยทั่วไป เป็นผู้อยู่ตรงกลางระหว่างคณะรัฐมนตรีกับประชาชน แต่บทบาทพฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนฯในระบอบเผด็จการก็จะไม่เหมือน ส.ส.ในระบอบประชาธิปไตย

ส.ส.ในระบอบเผด็จการกลายพันธุ์จะมีหน้าที่เพียงยกมือให้กับฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ทั้งที่สังกัดอยู่กับพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลและที่รอเข้าร่วมกับรัฐบาล จะไม่กล้าเสนอตั้งกระทู้ญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ หรือเสนอญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล

เราเคยเรียกรัฐบาลที่มีนายทหารเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ยังไม่เกษียณอายุราชการและต่ออายุมาเรื่อย ๆ ว่าเป็นระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่รัฐบาลที่ผู้นำปัจจุบันจะสืบทอดอำนาจของตัวเองจะเรียกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบไม่ได้ ต้องเรียกว่าเป็น “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” เพราะ คสช.ก็ยังอยู่ มาตรา 44 ก็ยังอยู่ เพียงแต่จะมีนักการเมืองเก่าในระบอบประชาธิปไตยและพรรคการเมืองเก่าแก่หรือพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปร่วมด้วย

เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยรักษาระบอบ ทำเพียงแค่ต่อสู้เพื่อให้ตนเองจะได้เข้าร่วมรัฐบาล และรัฐบาลที่ตนเองจะเข้าร่วมรัฐบาลได้ก็ต้องเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารเท่านั้น แต่ถ้าตนเห็นว่าพรรคการเมืองคู่แข่งจะชนะการเลือกตั้ง ตนก็จะประกาศ “คว่ำบาตร” การเลือกตั้งและยินดีเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ไม่เคยคิดจะสร้างพรรคให้ใหญ่โตเข้มแข็งจนสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้

หลายคนที่ร่วมสภากาแฟกล่าวว่า เสียดายที่พรรคประชาธิปัตย์ละทิ้งอุดมการณ์ของการเป็นพรรคการเมืองของประชาชน เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีความเชี่ยวชาญในการพูด มีประสบการณ์สูงในการตรวจสอบรัฐบาลเผด็จการทหารตลอดมา เมื่อประชาธิปัตย์ละทิ้งอุดมการณ์ไปเข้าร่วมรัฐบาลทหาร ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคคู่แฝดกับพรรคเพื่อไทย ทั้ง 2 พรรคควรต้องถือว่าเป็นโอกาสทองที่จะลบล้างคำสบประมาทว่า พรรคฝั่งประชาธิปไตยคราวนี้คงจะไม่เชี่ยวชาญในการอภิปรายตรวจสอบในสภา

อาจจะสู้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ แต่เป็นพรรคที่ทำงานเก่งและสามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้ดี จนเกิดเสียงที่กระฉ่อนไปทั่วโลกคือ “โครงการจำนำข้าว” ที่สร้างความเสียหายมหาศาลกับการคลังของประเทศ โดยชาวไร่ชาวนาได้ประโยชน์เล็กน้อยเพียงบางกลุ่ม จนต้องเขียนห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญจนดูเป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกประหลาด

แต่การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ จะไม่เหมือนกับการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ จะเป็นการจัดตั้งระบอบเผด็จการครึ่งใบ เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด จึงสามารถวางตัว “เป็นกลาง” ได้ อย่างน้อยก็ในสายตาของสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งยุคนี้สื่อมวลชนที่เป็นผู้แทนของประชาชนก็มีเหลือน้อยเต็มที

ยุคนี้สื่อมวลชนไทยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเผด็จการทหารอย่างหน้าชื่นตาบาน เพียงเพื่ออยากได้ข่าวกลับสำนักงาน ไม่มีจิตวิญญาณของการทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งสำคัญอย่างมากในยามที่เราไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นอิสระจากเผด็จการจริง ๆ

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ รัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจจะมีมาตรการเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมอย่างไร เพราะราคาสินค้าเกษตรกรรมในตลาดโลกยังจะคงตกต่ำอยู่อีกหลายปี ส.ส.ในสังกัด

พรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล จะจัดการกับคะแนนเสียงในภาคเหนือและภาคอีสานอย่างไร จึงจะไม่ลุกลามเข้ากรุงเทพฯเป็นปัญหาการเมือง ส่วนภาคใต้และภาคกลางคงไม่มีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ ม.ร.ว.จัตุมงคล เพราะได้เข้าร่วมรัฐบาล การนำคนมาเดินขบวนก็คงจะไม่เกิดที่จะปวดหัวสำหรับหัวหน้ารัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจก็คือ การจัดสรร

ตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล และการจัดการให้มีการออกเสียงลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งของพรรคตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาล ขอให้เตรียมชะลอมผลไม้ไว้หลาย ๆ ชะลอม ขณะเดียวกันก็คุมสติอารมณ์ของตนไว้ให้ดี อย่าสติแตก เพราะจะเป็นเหยื่ออันโอชะของฝ่ายตรงกันข้าม แม้ว่าสื่อมวลชนสมัยนี้จะรับได้ก็ตาม

ยิ่งมีคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ที่ไม่สนใจเรื่องใหญ่ สนใจแต่เรื่องจุกจิกหยุมหยิม และไม่เข้าใจวัฒนธรรมประเพณีการเมืองของไทย สังเกตได้จากการเปิดรับสมัคร ส.ส.ในวันจันทร์ ที่ 4 ก.พ. ซึ่งปกติพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ก็จะจัดขบวนแห่ให้ครึกครื้น เป็นข่าวทางโทรทัศน์ ออกหน้าหนังสือพิมพ์ การที่บรรยากาศคึกคักย่อมเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งเองด้วย จะเป็นยันต์กันผีไม่ให้รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามก้าวก่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้ กกต.ดูจะเป็นองค์กรอิสระมากขึ้น แม้ว่าจะไม่จริงก็ตาม

การที่ระแวงว่าพรรคการเมืองพรรคใหญ่ ซึ่งก็คงจะหมายถึงพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จะได้เปรียบพรรคเล็กอย่าง พปชร. หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรคพันธมิตรของตนจนเกินไปจนต้องเข้มงวด แม้แต่ขนาดของป้ายหาเสียง ที่ตั้งป้าย รวมทั้งจำกัดจำนวนเงินของแต่ละพรรคในการใช้จ่ายในการหาเสียง ซึ่งตนเองก็ไม่มีปัญญาตรวจสอบการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งแรก

ที่รัฐบาลซึ่งจัดตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง แต่ตนเองยังยืนยันว่ายังเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มระหว่างการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการซึ่งมีอำนาจจำกัด เพื่อจะได้วางตัวเป็นกลางให้ไม่เป็นที่ครหาแก่การเลือกตั้งทั่วไป แต่ครั้งนี้หัวหน้ารัฐบาลตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง แม้จะทำเป็นไขสือ แต่คนเขาก็รู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่าเป็นมุสาวาจา ไม่ยอมลาออก เป็นรัฐบาลรักษาการหลังจากมีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้ว

แต่ถ้าปรากฏว่านายกรัฐมนตรีไม่ลงนามยินยอมให้พรรค พปชร.เสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ยิ่งดูอารมณ์

อันแปรปรวนของนายกรัฐมนตรีที่หลุดคำผรุสวาท คำหยาบคาย ที่คนในตำแหน่งสาธารณะที่ไม่ได้เจ็บป่วยทางด้านจิตใจจะหลุดออกมาได้ถึงขนาดนี้ แต่ถ้ายังจะลงนามยินยอมให้พรรคการเมืองของตนเสนอชื่อตนได้แล้วยังมีอารมณ์ฉุนเฉียว แทนที่จะมีอารมณ์เบิกบานใจ เพราะตนกำลังจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

เพราะถ้าได้ต่ออีกสมัยหนึ่งก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดรองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ น่าจะเป็นอนาคตอันสวยงาม ทางเดินปูด้วยกลีบกุหลาบ ทั้ง ๆ ที่ผ่านมา 5 ปีแล้ว ยังไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาสินค้าส่งออกและสินค้าเกษตรตกต่ำ โรงงานทยอยกันปิดและลดจำนวนแรงงาน ไม่มีการทำงานล่วงเวลา เพราะจำหน่ายสินค้าได้น้อยลง ประชาชนก็ไม่มีใครต่อว่า สื่อมวลชนทุกแขนงกำลังจะต้องเลิกกิจการ ก็ไม่มีเสียงเรียกร้องอะไรให้เป็นที่รำคาญ ประชาชนสื่อมวลชนให้ความสำคัญกับคำพูดติดตลกของผู้นำ มากกว่าจะสนใจว่าตนจะยังมีเก้าอี้ทำงานหรือไม่ในเดือนหน้า

ดวงรัฐบาลเขาดีจริง ๆ