วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ แบบไหน ไม่ละเมิด ไม่ผิดกฎหมาย

วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ แบบไหนถึงไม่เป็นคดีความ

เปิดข้อกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญ จะวิจารณ์คดี วิจารณ์แบบไหนถึงไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แทบทุกครั้งของการพิจารณาคดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อมีคำพิพากษาออกมา ศาลย่อมต้องเผชิญหน้ากับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ การวินิจฉัยคดีและการทำงานอยู่ตลอด แต่การวิพากษ์วิจารณ์ในบางครั้ง อาจเกินขอบเขตและเกินเลยเส้นแบ่งทางกฎหมาย ไปจนทำให้เกิดปัญหาได้

ก่อนหน้าที่เคยเกิดกรณีข้อกำหนดห้ามละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 38 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เป็นที่สงสัยของสังคมมาแล้วว่า ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย จะไม่มีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญจริง ได้มากน้อยเพียงใด

เปิดรายละเอียดข้อกฎหมาย มาตรา 38

ความตอนหนึ่งในมาตรา 38 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ระบุว่า “การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล”

ถ้าทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ คือ ยังสามารถสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญได้ เพียงแต่ต้องเป็นการวิจารณ์แบบสุภาพ มีหลักการ มีเหตุและผล และไม่ใช้คำหยาบคาย

นอกจากนี้ ในมาตรา 38 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ยังมีการระบุอีกว่า ศาลมีอํานาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทําการศาล หรือบริเวณที่ทําการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล

หรือในกรณีมีความจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคําสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทําการหรืองดเว้นกระทําการ เพื่อให้การพิจารณาคดี ดําเนินไปโดยสงบเรียบร้อย และรวดเร็ว

หากพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า การห้ามละเมิดอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทั้งเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์และการก่อความวุ่นวายในพื้นที่ศาล มีลักษณะและหลักการคล้ายกับการห้ามละเมิดอำนาจของศาลโดยทั่วไป

ความผิดและโทษของการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรา 39 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดบทลงโทษของการละเมิดอำนาจศาล ตั้งแต่การตักเดือนด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร การไล่ออกจากพื้นที่ศาล จนถึงมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีเพื่ออะไร

ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในงานเสวนา “ละเมิดอำนาจศาล : จุดกึ่งกลางระหว่างอำนาจกับสิทธิอยู่ที่ใด ?” เมื่อปี 2561 ว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จำเป็นต้องมีเพื่อคุ้มครองบรรยากาศให้ศาลเกิดความสงบเรียบร้อย แลป้องกันการถูกข่มขู่ คุกคามของผู้ทำหน้าที่ผู้พิพากษา และตุลาการ

ขณะที่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เล่าประสบการณ์การทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อครั้งตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อปี 2551 ว่า ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมคุกคามหนักจนไม่สามารถที่จะพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญได้ และต้องย้ายไปพิจารณาคดีที่ศาลปกครองแทน

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จรัญ เล่าที่มาของบทบัญญัติเรื่องการห้ามละเมิดอำนาจศาลว่า ศาลรัฐธรรมนุญยกร่างเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2551 แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบเรื่องนี้มาโดยตลอด สภา ให้เหตุผลว่าเพื่อคานอำนาจของของศาลรัฐธรรมนูญ จะได้ไม่เหลิงอำนาจ แล้วใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร

กระทั่งปี 2561 ร่าง พ.ร.ป. วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในนั้น ก็ได้เกิดขึ้นจริง พร้อมกับการให้อำนาจศาลอย่างเต็มที่ ทั้งที่การยื่นเสนอข้อกฎหมายครั้งก่อนหน้านี้ทั้งหมด ศาลขอเพียงแค่อำนาจป้องกันการเข้ามาก่อความไม่สงบเรียบร้อยเท่านั้น