เอฟเฟ็กต์กฎหมาย ส.ส.-ส.ว. ทฤษฎีสมคบคิด เลื่อนเลือกตั้งไม่มีกำหนด

โรดแมปการเลือกตั้งขยับ-เขยื้อนออกไปเหมือนจะมีกำหนดแต่ “ไม่มีกำหนด” ภายหลัง “วิษณุ เครืองาม” พญาราชสีห์-เนติบริกรประจำทำเนียบรัฐบาล ออกมากาปฏิทินเลือกตั้งใหม่จากพฤศจิกายน 61 เป็นกุมภาพันธ์ 62

นอกจากนี้ยังชี้ดัชนี “เลื่อนเลือกตั้ง” ที่ไม่สามารถควบคุมได้ 1.สถานะความมั่นคงแห่งรัฐ 2.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตคว่ำกฎหมายเลือกตั้ง และ 3.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้ว่ากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับจะรอประกาศและรอ-บังคับใช้ไปแล้ว ทว่ายังเต็มไปด้วยกับดักในกฎหมายการเลือกตั้ง-อุบัติเหตุให้กระทบต่อ วัน ว. เวลา น. การเลือกตั้ง

กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ได้แก่ 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. 2.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

3.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …. และ 4.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับล่าสุดที่ผ่าน สนช.ในวาระ 3 ฉบับแรก-ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกสมาชิก สนช.รุมทึ้ง ยืดการมีผลบังคับใช้ออกไป 90 วัน ทำให้โรดแมปการเลือกตั้งขยับออกไป 3 เดือน นับนิ้วมือ-นิ้วเท้า ตรงกับเดือน ก.พ. 62

การโหวตเห็นด้วยกับการยืดระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ออกไปอีก 90 วัน ของ สนช. เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เนติบริกร-วิษณุ ไลฟ์สดแท็กติกข้อกฎหมายในมาตรา 2 ว่าด้วยระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายว่าทำได้-ไม่ได้

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันยังมี “จดหมายน้อย” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช. ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เตรียมแผนงานเพื่อบริหารราชการแผ่นดินในปี”62 จนถูกมองว่าเป็น “ใบสั่ง” เลื่อนการเลือกตั้ง

การลงมติขยายเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ออกไปอีก 90 วัน แม้จะมีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับตั้งแต่ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ “อย่างอ่อน” เพราะ สนช.ใช้ “เล่ห์กล” ทางกฎหมายยืดเวลาการมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจาฯออกไปอีก 90 วัน “ตามสูตร” ที่เนติบริกร-วิษณุ การันตีไว้ว่า “ทำได้”

ทว่า ฉบับที่สอง-ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.สุ่มเสี่ยงจะเป็นอุบัติเหตุ “เลื่อนเลือกตั้ง” ตามโรดแมปใหม่ ภายหลังร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. “ฉบับโหวตวาระสาม” ให้ลดจำนวนกลุ่มอาชีพจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม

จับระดับความเข้มของเสียง “อุดม รัฐอมฤต” โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ออกมา “ฟันธง” ว่า ประเด็นการแยกผู้สมัคร ส.ว.เป็น 2 ประเภท ขัดรัฐธรรมนูญ

ยิ่ง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ออกมาแสดงทรรศนะข้อกฎหมายว่า การลดกลุ่มอาชีพและเลือกกันเอง-ไม่เลือกไขว้ ทำให้เกิดการ “บล็อกโหวต” ถือเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายหากไม่มีการแก้ไขในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ให้เป็นไปตามร่างเดิมของ กรธ. คงต้องไปจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

เมื่อคนต้นร่าง-มีชัย วินิจฉัยข้อกฎหมายให้เห็นกันชัด ๆ จึงเป็นไปได้มากว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ แต่จะถูก “ตีตก” เฉพาะมาตรา หรือทั้งฉบับ ยังต้องไปลุ้นในศาลรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่ขั้นตอนการร่างใหม่ ซึ่งทำให้โรดแมปการเลือกตั้งยืดยาวออกไปมากกว่า ก.พ. 62

หลังจากนี้ สนช.จะส่งร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ไปยัง กรธ.และ กกต.เพื่อตั้งข้อสังเกตว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ ภายใน 10 วัน เพื่อพิจารณาให้เสร็จภายใน 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในชั้นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายมีมติร่วมกันในการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้เป็นไปตามร่างเดิมของ กรธ. เพื่อไม่ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะนำไปสู่การโหวตคว่ำของ สนช.โดยเสียง 2 ใน 3 ได้ หรือ 167 เสียงส่งผลให้โรดแมปการเลือกตั้ง ก.พ. 62 ยืดออกไปไม่มีกำหนดเช่นกัน

เป็นแท็กติกทางกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติยื้อ-ยืดโรดแมปเลือกตั้งออกไปไม่มีกำหนด