ประยุทธ์ ถือไพ่ไม่ยุบสภา ถ่วงเวลา ส.ส.สังกัดพรรคใหม่

ตู่-ป้อม
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กุมความได้เปรียบทางการเมือง

นักการเมืองที่อยากปันใจไปร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ ต่างเช็กข่าวกันวุ่นวาย

เมื่อมีม่านหมอกข่าวลือ ข่าวปล่อย ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าไปร่ำลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะไปอยู่ในพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค ในช่วงบ่ายของวันที่ 21 พฤศจิกายน

ไทม์ไลน์ข่าวปล่อย “บิ๊กตู่”

จู่ ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไปปรากฏกายที่สนามกีฬาเคหะคลองจั่น เตะฟุตบอล-ร่วมกิจกรรมกับชุมชนละแวกนั้น โดยไม่มีการแจ้งให้ใคร ๆ ทราบล่วงหน้า

ทว่า บุคคลที่แอ็กชั่นหนักในเรื่องที่ชาวชุมชนคลองจั่นร้องเรียน ให้การเคหะแห่งชาติ ยุติโครงการมิกซ์ยูส คอนโดฯขนาดใหญ่บนเนื้อที่อยู่อาศัยในชุมชนการเคหะคลองจั่น ไม่ใช่ใครอื่น… นั่นคือ “พีระพันธุ์” ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ

จนกระทั่ง บอร์ดการเคหะ สั่ง “ยุติ” โครงการ จึงเป็นการปูทางไปสู่ภาพของ “พล.อ.ประยุทธ์” ลงพื้นที่การเคหะคลองจั่น แบบเงียบ ๆ แต่ก็ปล่อยภาพเคลื่อนไหวออกสื่อตามหลัง

ขณะที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กำแพงเพชร ท่ามกลางการห้อมล้อมของแกนนำพรรคพลังประชารัฐบางราย

อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง

ที่น่าจับตาคือมี ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คู่อริ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมขบวน นำโดย นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร

วลีหนึ่งที่หล่นจากปาก ไผ่ ลิกค์ ระหว่างการลงพื้นที่เคียงข้าง พล.อ.ประวิตร คือ “พวกผมเนี่ยพรรคอะไรก็ไม่รู้ แต่จะกลับมาอยู่พลังประชารัฐเหมือนเดิม จะมาช่วยลุงป้อม” แต่ทั้งหมดอยู่บนเงื่อนไข ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเงาเบื้องหลังพรรคพลังประชารัฐ จึงจะกลับไป

วันรุ่งขึ้นในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรากฏแอ็กชั่นของ พล.อ.ประยุทธ์ และบรรดารัฐมนตรีร่วม ครม. อย่างน่าสนใจ

1.พล.อ.ประวิตร ตัวเอกของเรื่อง ถูกส่งไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการที่กัมพูชา ทั้งที่มีตำแหน่งเพียงแค่รองนายกฯ ไม่ได้กำกับกลาโหม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เองที่เป็น รมว.กลาโหม

2.พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถามเรื่องแยกทางกับ พล.อ.ประวิตร “สวัสดีจ้ะ ขอให้อยู่ในบรรยากาศช่วงเวลาแห่งความสุขก่อนแล้วกันนะจ๊ะ”

3.พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวบนโต๊ะอาหารเที่ยง หลังการประชุม ครม. มีการเอ่ยถึงการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ครบเทอมในเดือนมีนาคม 2566 ทำให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดขึ้นว่า “ก็ไม่มีใครอยากเสียตังค์เร็วหรอก” พล.อ.ประยุทธ์จึงพูดขึ้นว่า งั้นก็อยู่กันไปยันมีนาคมปีหน้า

4.รัฐมนตรีกลุ่ม 3 มิตร นำโดย “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ตอบคำถามเรื่องจะไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ กับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ว่า “ตอนนี้มีข้อมูลใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ จึงทำให้เราต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินใจ”

“มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดในเวลานี้ รอให้ถึงเดือนมกราคม 2566 ก่อนแล้วกัน”

5.สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ อีกหมวกหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นขุนพลข้างกาย พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า “คนชลบุรี จิตใจ นักเลงจริง สมคำว่า “นักเลงเมืองชล” ลุงตู่ ปกป้องดูแล ผมมาตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี จะทิ้งลุงตู่ไปคนเดียว ผมจะเอาหน้ากลับมาบ้าน ได้อย่างไร เสียชื่อ คนชลบุรี หมดสิครับ”

ไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา 23 พฤศจิกายน 2565 “พล.อ.ประยุทธ์” ก็เปิดปากการเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

“พล.อ.ประยุทธ์” กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “พิจารณาอยู่”

ประยุทธ์ผู้กำหนดเกม

แท้จริงแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” มีไพ่ในมือหลายใบ ให้เลือกเล่น เพราะเขาคือผู้กำหนดเกม ที่จะขี่คอสภา 500 คน

ไพ่ใบสำคัญที่สุดคือ “เวลา” เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงผู้เดียวว่าจะ ยุบสภา วันใด เวลาใด และจะยุบสภาหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดผูกกับเงื่อนไขการย้ายพรรค-สังกัดพรรคของ ส.ส.ทั้งสิ้น

กล่าวคือ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ทำท่า “ลากยาว” อยู่ครบเทอม 23 มีนาคม 2566 จะเป็นตัวบีบให้ ส.ส.ต้องรีบย้ายพรรค เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 97 (3) กำหนดว่า ในกรณีที่รัฐบาลอยู่ครบเทอม ให้คนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

โดยห้วงเวลา 90 วัน ที่ safe zone ในการย้ายพรรคคือ 23 ธันวาคม 2565 คือ ก่อนรัฐบาลครบเทอม 90 วัน (23 มีนาคม 2566) ดังนั้น หาก ส.ส.คนใดที่จะย้ายตาม “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องไตร่ตรองให้ทันเส้นตาย 23 ธันวาคม 2565

นักเลือกตั้งในสภาจากพรรคเพื่อไทย ที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ย้ายพรรค สลับขั้ว จึงวิเคราะห์ ข่าวลือ-ข่าวปล่อย แบบ “คนกลาง” ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย กับเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ แตกกับ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จะย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติว่า

“เป็นฝีมือของนักเลือกตั้งที่ปล่อยข่าวในฝ่ายรัฐบาลกันเอง เพื่อเร่งให้ ส.ส.ตัดสินใจย้ายพรรคมาอยู่รวมไทยสร้างชาติ เพราะในเดือนธันวาคม ก่อนวันที่ 23 ธันวาคม คนที่ย้ายพรรคก็ต้องตัดสินใจได้แล้ว และจะเห็นการย้ายพรรคกันมากมาย”

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งเป็นของ ส.ส.สายชิล ไม่แคร์ “safe zone ” ที่อ่านเกมว่า ยังสามารถรอดูท่าที พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถึงเดือนมกราคม 2566 เพราะตีความเวลาใน รัฐธรรมนูญมาตรา 97 (3) อีกมุมหนึ่งว่า ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน “นับถึงวันเลือกตั้ง”

ดังนั้น ถ้ายึดว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบเทอม และมีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน การเลือกตั้งจะตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตามปฏิทิน กกต.กำหนด

“safe zone” ของสูตรนี้ สามารถเริ่มนับได้ตั้งแต่ช่วงปลายมกราคม 2566

เพราะถ้านับการสังกัดพรรค 90 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งมี 28 วัน มีนาคม มี 31 วัน เมษายน มี 30 วัน รวมกันแล้ว 89 วัน ยังมีเวลาเผื่อเหลือเผื่อขาด ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง

การตัดสินใจสังกัดพรรคใหม่ของ ส.ส.ในห้วงเดือนมกราคม 2566 ยังมีเพียงพอ

อีกสูตรหนึ่ง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยุบสภา จะทำให้ระยะเวลาการ “สังกัดพรรค” จะลดลงจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง และจะต้องเลือกตั้งภายในไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

สูตรนี้ ในทางทฤษฎีสามารถ “ชิงตัว” ส.ส. ให้ย้ายพรรค จนถึง 30 วันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติอาจจะยากในการอธิบายชาวบ้าน

ทั้งหมดขมวดปมอยู่ที่การตัดสินใจของ “พล.อ.ประยุทธ์” ผู้ที่ “ควบคุมเวลา” และ “จังหวะการเมือง” จะเล่นสูตรไหน ไม่มีใครรู้ แต่ทุกการตัดสินใจจะต้องได้เปรียบทางการเมือง

ตู่-ป้อม สลับเก้าอี้

“วีระกร คำประกอบ” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ บอกถึงข้อดีหาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจอยู่กับพรรคพลังประชารัฐต่อไปว่า ก็จะมาสร้างพลัง มาสนับสนุน พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี 9 เดือน ไม่คุ้มที่จะลงทุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ และ พล.อ.ประวิตร ก็พร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

“ใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็เหมือนกัน เพราะพี่-น้องกัน แตะมือกันเฉย ๆ คนนี้ไปเล่นศูนย์หน้า คนนี้ไปเล่นกองกลางแทน มาเป็นกัปตันอยู่กองกลางแทน”

“ลุงตู่ควรจะต้องคุยกับลุงป้อม ไม่ใช่ให้ลุงป้อมมาคุยกับลุงตู่ เพราะถ้าลุงป้อมไปคุยกับลุงตู่ก็จะกลายเป็นว่า ลุงป้อมอยากเป็นนายกรัฐมนตรี”

นักการเมืองรุ่นเก๋าแห่งปากน้ำโพกล่าวว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลดีกับพรรค ข้อแรก ส่งเสริม พล.อ.ประวิตร ได้ดีที่สุด ทำให้เห็นว่า พี่-น้องรักใคร่กัน

และข้อที่สอง เกิดความมั่นคง-แข็งแรงในพรรค พลังประชารัฐจะเป็นพรรคแกนนำฝ่ายอนุรักษนิยม

“ยังไงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 1 ใน 3 ชื่อ ต้องมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังขายได้ดีในพื้นที่ภาคใต้ และทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะถ้าออกนโยบายโดนใจประชาชน จะทำให้ความนิยมของพรรคดีขึ้น”

จุดเสี่ยง ประยุทธ์ ตกม้าตาย

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานนโยบายพรรคที่ต้องเตรียมนโยบายไว้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า พรรคพลังประชารัฐจะเป็นเอกภาพมากขึ้น

ส่วนจะแลกมาด้วยเสียง ส.ส. ที่อาจจะน้อยลง-พรรคเล็กลง ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ เพราะความเป็นเอกภาพภายในพรรคสำคัญที่สุด และพรรคมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคงในอนาคต

“จำนวนเสียงไม่เท่ากับคุณภาพและความสามัคคี ความเป็นเอกภาพภายในพรรค จำนวน ส.ส.อาจจะลดลงไปบ้าง แต่มีเอกภาพสำคัญที่สุด”

“พล.อ.ประวิตร คือ เสาหลักของพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเพียงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ดูพรรคพลังประชารัฐให้เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ทุกอย่างจะไม่มีปัญหา”

แกนนำพรรคพลังประชารัฐอีกรายวิเคราะห์ “จุดเสี่ยง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจ “ตกม้าตาย” หากการย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 2 ปี คือ ส.ส.ไม่ถึง 25 ที่นั่ง-เสียงโหวตในสภาน้อยกว่า 375 เสียง

“ไม่ใช่ได้ ส.ส. 25 ที่นั่งแล้วจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติต้องได้ ส.ส.มากพอ เพื่อความสง่างามที่จะให้พรรคการเมืองอื่นยกมือสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย”

“พล.อ.ประยุทธ์ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาเกิน 375 เสียง จะได้หรือไม่ เพราะพรรคพลังประชารัฐก็จะต้องเสนอ พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”

ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถรวมเสียงได้ถึง 375 เสียง แต่ถ้าได้เสียง ส.ส.ไม่ถึง 250 เสียง หรือกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จะกลายเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” โอกาสสูงที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ-สอยร่วงในสภาทันที

ดังนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติ จะต้องได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ พอที่จะสามารถเอาตัวรอดจากศึกซักฟอก

เสียพรรคแนวร่วม-ประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์อาจจะเสีย “แนวร่วม” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะวีรกรรม “ตกปลาในบ่อเพื่อน”

โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนายพีระพันธุ์ กับผู้มีบารมีในพรรคประชาธิปัตย์อย่าง นายชวน หลีกภัย

ขณะที่เสียง 250 ส.ว. ที่เคยอยู่ในแนวรบเดียวกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะออกอาการ “แตกแถว” เมื่อถึงเวลาต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคผู้ท้าชิง

ทางเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะลงหลังเสืออย่างสง่างาม คือ “พอแค่นี้” คว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในอำนาจนานเป็นอันดับสอง รองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และแซงหน้า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่รั้งอันดับที่สาม