นฤมล เจ้าแม่ กทม.พลังประชารัฐ ปักธง 120 ส.ส. ปิดตำนานสาวหมัด-สามมิตร

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
คอลัมน์ : Politics policy people forum
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ

สตรีในตำนานถูกนักการเมืองชายเงื้อมือ-สาวหมัด วิวาทะต่อหน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประมุขพรรคพลังประชารัฐ เป็นตำนานเล่าขาน ปากต่อปาก ในเครือข่ายบ้านป่ารอยต่อ

สตรีผู้นั้น คือ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค คือคนคุมถุงเงิน-บรรจุกระสุน จัดคิวหาเสียง-วางภารกิจหัวหน้าพรรค ปลุกกระแสสู้ศึกเลือกตั้ง

กล่าวกันในหมู่แกนนำว่า เธอคือบุคคลสำคัญหน้าด่านก่อนเข้าถึงตัวผู้มีบารมีสูงสุดในพรรค

เธอคือเจ้าแม่ กทม. บรรทัดต่อจากนี้ คือความคิด-ตัวตน-ความจริงจากปาก-บทบาทใหม่ของเธอ

พลังประชารัฐเกิน 120 ที่นั่ง

การเลือกตั้งปี’62 พลังประชารัฐในสนาม กทม.ขี่กระแส “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” เกณฑ์ ส.ส.กทม.เข้าสภาถึง 12 ชีวิต ในฐานะเป็นเจ้าแม่กทม.-นฤมล คำรามเสียงดัง ขอรักษาที่นั่งเดิม เพิ่มเติมคือ “ไม่ทะเลาะกับใคร”

เราหวังว่า ถ้าเราได้อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือมากกว่า 11-12 คน จะทำให้พรรคเรามีเสียงในสภาแทนพี่น้อง กทม.มากขึ้น และทำงานให้พี่น้อง กทม.ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ก็เป็นการทำงานของทุกฝ่ายในพรรค เราจะบอกว่าได้แน่ก็คงไม่ใช่

“เราพร้อมที่จะไม่ทะเลาะกับใคร ก้าวข้ามความขัดแย้ง คน กทม.น่าจะเบื่อมากแล้ว ถ้าเลือกเรา เราทำงานกับทุกฝ่าย จะเป็นฝ่ายค้านเราก็จะทำงานด้วย พัฒนาพื้นที่ไปด้วยกัน”

สำหรับเป็นเป้าหมาย ส.ส.ทั้งหมดของพรรคพลังประชารัฐที่ท่านเลขาธิการพรรค และท่านหัวหน้าพรรคอยากจะทำให้ถึง 120-150 ที่นั่ง ส.ส.เขต ประมาณ 100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ประมาณ 20 ที่นั่ง

ในทรรศนะของเหรัญญิกพลังประชารัฐ-พรรคที่มี asset มากที่สุด มองต่างจากคำวิจารณ์ที่ว่า สนามเลือกตั้งครั้งนี้ที่เป็น money politics เพราะ “เงิน” ไม่สำคัญเสมอไป

ทรัพย์สิน-asset ของพรรคไม่ใช่เม็ดเงิน แต่มันคือบุคลากร ที่เราเห็นว่าดีที่สุด เราไม่เคยคิดว่าเราจะสู้ด้วยเงิน เราคัดบุคลากรที่มีศักยภาพที่สุด ถ้าเป็นเรื่องของทางการเงิน เราก็เป็นไปตามกรอบกฎหมายหมด เงินบริจาคออกมาท้ายสุดได้เท่าไหร่ เงินในบัญชีเป็นเท่าไหร่ก็เท่านั้น

“วัฒนธรรมของการเมืองเปลี่ยนไปเยอะ การใช้ตัวเลขต่าง ๆ นานา แต่ท้ายที่สุด ประชาชนไม่ได้เลือกที่เม็ดเงิน ไม่แน่ว่าเงินสำคัญเสมอไป เขาอาจจะรับ แต่เขาไม่เลือก ไม่มีอะไรบังคับได้ว่าเขาต้องเลือก เขาอาจจะรับเพราะเขาเกรงใจ ไม่ได้อยากได้”

เรื่องการซื้อเสียง ถ้าเราเอาเรื่องของอุดมการณ์ เรื่องจุดยืนของพรรค เรื่องนโยบายพรรคออกมานำเสนอเยอะ ๆ ก็จะทำให้ชาวบ้านได้รับฟังสิ่งเหล่านี้ และตัดสินใจบนข้อมูลเหล่านี้ ถ้ามีการลงไปทำอย่างนั้นจริง ๆ ก็ไม่ใช่พรรคเดียวหรอก 3-4 พรรค เขาเลือกไหมว่าเขารับ (เงิน) พรรคไหน เขาก็เสียความรู้สึกกับอีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็รับหมด ท้ายสุดเขาก็ตัดสินใจบนฐานของเงิน

สูตรร่วมรัฐบาล พปชร.เข้าได้กับทุกขั้ว

นฤมล แกนนำพรรคพลังประชารัฐคนสำคัญ เปิดสูตรจับขั้วรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ร่วมงานได้ทั้งกับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันและพรรคฝ่ายค้าน

พรรคร่วมด้วยกันเราทำได้หมดอยู่แล้ว พรรคอื่น ๆ ที่อยู่กับฝ่ายค้านร่วมงานกันได้ แต่จะให้บอกว่าร่วมกับพรรคใดได้บ้าง ยังไม่ได้คิด ประชาธิปัตย์เราคุยได้ มีจุดร่วมด้วยกันเสมอ ภูมิใจไทย ถึงแม้บางคนอาจจะบอกว่าเขามาดึงคนของเราไป เราโกรธเขาไหม เราก็ไม่โกรธ เพราะพอได้คุย แต่ละคนมีเหตุผลเฉพาะ เราร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา ชาติไทยพัฒนาก็เป็นมิตรกับเราอยู่แล้ว รวมไทยสร้างชาติเราก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะเราก็เคยอยู่ด้วยกันมา

นฤมล ถูกจัดวางไว้เป็น “คนวงในบ้านป่าฯ” เธอวิเคราะห์คนวงนอกที่มองว่า “2 ลุง” แตกกัน ว่าไม่ได้แตกกัน ส่วนสุดท้าย 2 ป.จะกลับมารวมกันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลเลือกตั้ง-ไม่ปิดประตูกลับมาจัดตั้งรัฐบาล

“เขาไม่ได้แตกกันหรอกค่ะ แต่เส้นทางทางการเมืองทำให้เกิดแบบนี้ขึ้น เพราะว่าแต่ละคนมีคนที่อยากจะนำพาไม่เหมือนกัน แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ท่านแยกกัน แต่เมื่อแยกแล้วเราก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป ยืนยันได้ว่าไม่ได้แตก ระหว่างทาง เหมือนเราเป็นพี่น้อง หรือเป็นเพื่อนสนิท อาจจะมีบางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน เป็นเรื่องธรรมชาติ”

เรื่องรวมพรรค 2 ป.อันนี้ตอบแทนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับพรรค ขึ้นอยู่กับว่าได้ ส.ส.มาเท่าไหร่ กรรมการบริหารพรรคเห็นว่าอย่างไร แต่ลำพังตัวท่านเองไม่ได้มีปัญหากัน

คำถามที่ว่ารอบรั้วบ้านป่ารอยต่อ ใครจะเข้าถึงศูนย์รวมอำนาจ-เข้าถึงตัว พล.อ.ประวิตรได้ต้องผ่านด่านนฤมล-เจ้าป่า เธอสวนทันควัน

“ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่เป็นเท็จโดยสมบูรณ์แบบ ท่านเป็นคนที่เข้าถึงง่ายมาก แล้วก็ไม่มีด่านอะไรทั้งสิ้น ภายในพรรคเองใครก็สามารถไปพบท่านได้ ถ้าคนนอกพรรคก็ไปหาท่านได้ เข้าถึงง่ายและเป็นกันเองกับทุกคน อาจารย์ไม่เคยไปจัดคิว ไม่เคยมาผ่านด่าน ไม่เคยเลย 100% และท่านก็มีทีมงานของท่าน

ถ้าเป็นเรื่องของวาระงาน ท่านก็มีทีมงานของท่านอยู่แล้ว ไม่จริงเลย ๆ และท่านก็ฟังทุกคน เป็นจุดที่ไม่เหมือนคนอื่น ไม่มีลำดับชั้นอะไรเลย ทุกคนเข้าถึงท่านได้หมด ไม่มีผ่านใคร คนที่อยากลงสมัครรับเลือกตั้งบางคนก็ไปยืนรอที่รถก็ได้เจอ”

ความจริงอีกด้านในตำนานสาวหมัด-สามมิตร

นฤมล เล่าตำนาน “สาวหมัด” ต่อหน้า พล.อ.ประวิตร เพื่อชำระประวัติศาสตร์-บันทึกเหตุการณ์อีกด้าน

“เป็นความเข้าใจผิดของลูกน้อง ท่านอาจจะไปฟังลูกน้องโดยที่ยังไม่ได้คุยกับเรา ท่านก็เลยโกรธ แต่พอได้อธิบายว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร ท่านก็เข้าใจ”

“ไม่ได้สาวหมัด ท่านก็อยากทำให้พรรคมันดี และก็คิดว่าที่มันติด ติดที่เรา แต่มันไม่ใช่ เราไม่รู้เลยเรื่องนั้น ระดับลูกน้องท่านคุยกันแล้วก็เข้าใจผิดกันไป เขาเคลียร์กันแล้วไม่มีอะไร”

ท่าน (นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกนนำกลุ่มสามมิตรและอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ) เลือกที่จะไป (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะเหตุผลของท่าน ไม่ใช่เรื่องนี้ ท่านนายกฯเชิญขอให้ไป ท่านก็ไป ไม่ได้ทะเลาะกันเลย ยังคุยกันอยู่เลย

พรรคพลังประชารัฐได้รับผลกระทบจากกระแส “เบื่อลุงตู่” และวาทกรรมแลนด์สไลด์ จน “เลือดไหลออก” ความหวังที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาล กลุ่มสามมิตรถึงจะอยู่ไม่ครบทีม แต่นฤมลยังมั่นใจว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยังเป็นกำลังหลัก

เป็นนักการเมืองผู้หญิงต้องอดทน-นิ่ง ถึงจะชนะ

นฤมล กับวันแรกที่ก้าวเข้าสู่การเมือง-แกนนำกลุ่มสี่กุมาร กับนฤมลวันนี้ ผงาดเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ-คนวงในบ้านป่ารอยต่อ และเจ้าแม่ กทม.มาถึงจุดนี้ได้เพราะต้องนิ่ง-อดทน ถึงจะชนะ

“ไม่ได้ชนะ เรียกว่ารอดมากกว่า ไม่ใช่ชนะ นิ่งแล้วเอาความจริงเข้าสู้ มันไม่ใช่อย่างที่เขาพูด หรืออย่างที่เขาคิด แล้วหลาย ๆ เรื่อง เราไม่รู้เรื่องก็หาว่าเราทำ”

มีแต่เรื่องที่เราไม่รู้เลย และชี้ได้เลยว่าใครทำ เรื่องนั้นมันมีคนทำ แต่คนจำนวนหนึ่งไปเข้าใจผิดว่าเราทำ เราก็บอกว่าไม่ใช่ คนนี้ทำ (เสียงสูง) ถ้าไม่ได้มาทำงาน ไม่ได้สัมผัสกันจริง ๆ ก็จะไม่รู้ คนที่อยู่ข้างนอกก็จะรู้สึกว่า โอ๋ เราดูแบบว่า (เจ้าแม่)

“ความอดทนและนิ่งกับทุกสิ่งที่เผชิญ ถึงแม้จะบอกว่าให้โอกาส แต่พอเราเป็นผู้หญิงปั๊บจะถูกคิดว่า เขาเลือกใช้เพราะว่าเราเป็นผู้หญิง ไม่ใช่ เพราะในแต่ละเรื่องเราทำมาตั้งแต่ปี’62 ปี’61 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชาการ เรื่องนโยบาย ไม่เคยวางแผนที่จะเข้าการเมือง จับพลัดจับผลูก็เดินมาเรื่อย”

พออยู่ในพรรค ต้องบอกตรง ๆ ว่ายาก หนึ่ง เราเป็นผู้หญิง ทุกครั้งประชุมไปในห้องหันมองทั่วห้อง เพราะว่าเราเป็นผู้หญิงคนเดียว มันก็จะเป็นจุดที่เขาใช้โจมตีในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง แล้วเราก็ไม่มีพื้นที่ที่จะชี้แจง เราก็จะใช้ความจริงใจของเราทำงาน แต่มันไม่ง่าย

นฤมล ถูกซุบซิบที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับลูกผู้หญิงที่ว่า มาถึงจุดนี้ได้เพราะแรงส่งจากบิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร แต่ต้องอดทน เพราะยังไม่ได้ทำในสิ่งที่เป็น passion

“เป็นความเข้าใจผิด เพราะอยู่มาตั้งแต่ก่อตั้งพรรคยังไม่ได้จดทะเบียนพรรคเลย เป็นผู้หญิงคนเดียวนั่งประชุมกับเขามาตั้งแต่เดือนมกราคม 61 และเราก็อดทนทำมาตลอด เจออะไรหลากหลาย เราก็ทน เพราะยังไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ”

แก้ปัญหาความยากจนที่ยังไม่ได้ทำจริง ๆ อย่างเช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้แจกเงิน ต้องทำครบวงจรทั้ง 4 มิติ ที่ทำตั้งแต่เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีที่กระทรวงการคลัง มันก็ยังไม่เกิด เพราะคนที่รับผิดชอบอาจจะทำแค่นั้นก่อน และมันก็ยังไม่ได้ขยายผล และเราก็อยากให้เป็นสวัสดิการของคนทั้งประเทศ ที่ไม่ใช่เฉพาะคนจน ก็ยังไม่เกิด คนเมืองก็ควรมีสวัสดิการแบบหนึ่ง คนท้องสวัสดิการแบบหนึ่ง คนทำงานในระบบ นอกระบบสวัสดิการก็ไม่เหมือนกัน

“เราเป็นปากเสียงให้กับผู้หญิง ซึ่งสัดส่วนผู้หญิงในสภามันก็น้อยมาก และในการเมืองก็น้อยมาก หลายคนในอดีตก็พยายามมาบอกว่าต้องมีโควตาผู้หญิง ในจำนวน ส.ส.ในสภา ซึ่งตัวเองอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะว่ามันน่าจะเลือกคนที่ดีที่สุดแล้วเออเขาเป็นผู้หญิงก็ว่าไป”

ส่วนอนาคตทางการเมือง-ตำแหน่งแห่งหนหลังการเลือกตั้งของนฤมล ไม่ยึดติด-อยู่ตรงไหนก็ทำงานได้

“อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ แต่จะไปอยู่ตรงไหนต้องแล้วแต่กรรมการบริหารพรรค แล้วแต่สมาชิกพรรค เพราะต้องมีมติว่าใครจะไปอยู่ตรงไหน ไม่มีในใจว่าจะไปอยู่ตรงไหน ไม่เคยอยากเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ทุกวันนี้ก็ไม่อยากอะไรแล้ว แหม่มไม่ยึดติดและก็ไม่เยอะ อยู่ตรงไหนก็ทำงานได้” นฤมลตอบแบบนิ่ง ๆ และอดทน