เปิดใจ 3 ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เพื่อไทย ฝ่ากระแสก้าวไกล-กระสุนพรรครัฐบาล

3 ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เพื่อไทย

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ในเขต กทม.จะเอาชนะทั้งกระแส-กระสุน เบียดคู่แข่งเข้าเส้นชัยแบบไม่ต้องลงแรง

แม้ดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าวาทกรรม “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” จะพาให้ประสบชัยชนะได้โดยง่าย แถมยังมีนโยบาย “เรือธง” อย่าง กระเป๋าตังค์ดิจิทัล 1 หมื่น อัพค่าแรง 250 บาท-เงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่น ภายในปี 2570

…แต่ไม่ง่ายสำหรับผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย 3 คน ที่ “มาดามนครบาล” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่ กทม. พยายามเข็นให้เข้าสู่สภา

คนแรก…ดร.ศิลป์ “ศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร” ผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 24 ประกอบด้วย เขตธนบุรี (ยกเว้นแขวงวัดกัลยาณ์ แขวงหิรัญรูจี และแขวงบางยี่เรือ) เขตคลองสาน เขตราษฎร์บูรณะ (เฉพาะแขวงบางปะกอก)

เขาลงพื้นที่ ธนบุรี-คลองสาน มาแรมปี มีคู่แข่งคนสำคัญคือ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” จากพรรคก้าวไกล แต่หลังจาก กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง “ดร.ศิลป์” ก็เจออุปสรรคสำคัญ เพราะเขตเลือกตั้งของเขาถูกนำไปรวมกับ เขตราษฎรบูรณะ เฉพาะแขวงบางปะกอก ที่เขาไม่เคยลงพื้นที่เลย

ดร.ศิลป์กล่าวว่า รูปแบบของการแบ่งเขตไม่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของคนเลย จากที่ไปหาเสียงที่บางปะกอก คนบางปะกอกบอกว่าทำไมฉันต้องไปรวมกับธนบุรี คลองสาน เพราะในแผ่นพับที่ผมแจกจะบอกง่าย ๆ ว่า ธนบุรี คลองสาน บางปะกอก จะไม่ใช้เขตราษฎร์บูรณะ เฉพาะแขวงบางปะกอก เพราะคนบางปะกอกส่วนใหญ่เรียกตัวเองว่าบางปะกอก ไม่เรียกว่าราษฎร์บูรณะ

“ซึ่งแขวงบางปะกอกเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายมาก ไม่คิดว่าจะมาอยู่กับคลองสาน เพราะคลองสานไม่ได้ติดกับบางปะกอก เวลาหาเสียงคนก็สับสนมาก ว่าฉันจะต้องไปเลือกคลองสานหรือ เพราะตอนแรก พรรควางคุณหนึ่ง กิตติพน (กิตติพล รวยฟูพันธ์) ไว้ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ แต่หลังจากแบ่งเขตเลือกตั้ง กลายเป็นผมต้องไปอธิบายว่า ไม่ใช่คุณหนึ่งแล้วนะ เป็น ‘ด็อกเตอร์ศิลป์’ แล้วนะ”

“ตั้งแต่ประกาศแบ่งเขตเสร็จ เดินบางปะกอก 100% แล้วหลายรอบ ด้วยคนไม่เหมือนคลองสานเลย แต่คล้าย ๆ ธนบุรีบางแห่งที่เป็นแอ่ง เป็นสวน ท้องร่องอยู่”

ฝ่าดงกระแส กระสุน

“พรรคเพื่อไทย” พยายามเข็นชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ช่วยลงพื้นที่ให้กับผู้สมัคร ซึ่ง “ดร.ศิลป์” ยอมรับว่า เรียกกระแสได้ในกลุ่มที่เป็นเป็นพ่อค้า มีสถานะประมาณหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชอบคุณเศรษฐาเลย แต่กลุ่มที่ยังเป็นชาวบ้านพื้นถิ่นยังชอบคุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร

ตามโปรแกรมหาเสียงขอคะแนน “ดร.ศิลป์” ออกเคาะประตูบ้านชาวบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 07.30-12.00 น. จากนั้นเป็นช่วงบ่ายจะจบที่เวลา 18.00 น.

“ผมกับทีมเดินสื่อ เดินหนักจริง ๆ วันละ 2 หมื่นก้าว มี 3 เขต เช้าธนบุรี บ่ายคลองสาน วันรุ่งขึ้นเช้าบางปะกอก เย็นธนบุรี เช้าที่ เย็นที่ เดินเคาะ เดินคุย สิ่งสำคัญตอนนี้คือคนจะถามเรื่องนโยบาย 1 หมื่นบาทใช้ได้จริงเหรอ ใช้ยังไง แต่คนสูงอายุชอบเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค และเรื่องยาเสพติด กัญชา ซึ่งเยอะจริง ๆ ธรรมดาของคนแถวนั้นไปเลย เขาห่วงเรื่องนี้มาก”

เขายอมรับว่า ขณะนี้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กำลังอยู่ในวงล้อม กระแส (ก้าวไกล) และกระสุน (พรรคฝ่ายตรงข้าม)

“เวลานี้พรรคที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันมีทรัพยากรเยอะมาก ไปเดินคุยกับกลุ่มชาวบ้านมา ผมใส่ชุดธรรมดาไม่ได้ใส่ชุดพรรค มีคนของรัฐบาลบางพรรคมาคุย บอกว่าจะดูแลให้ ปรากฏว่าเขาให้ 600 บาททันที แต่ผมมั่นใจว่าหัวคะแนน ทำของแบบนี้ มันไม่มี 600 บาทหรอก พรรคอาจจะให้มาพันนึง แต่เวลาถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจเหลือ 600 บาท แล้วขอจดชื่อไป ถ้ายอมจดชื่อ ไม่เก็บบัตร”

รวมถึงมีวิธีขอคะแนนรูปแบบใหม่ คือ พรรคเพื่อไทยอยากเป็นนายกฯ ให้เป็นไป แต่เขตขอคะแนน ส.ส.เขตให้ “พรรค ก. พรรค ข. พรรค ค. แปลว่า พรรคอื่นไม่หาเสียงบัตรบัญชีรายชื่อ บัตรพรรคเลย เอาอุ๊งอิ๊ง เลือกไปเลย แต่บัตรเขตขอเขา”

ส่วน​ “กระแส” ดร.ศิลป์ยอมรับว่า หวั่น ๆ พอเห็นโพลแบบนี้ มีคนที่ยังไม่ตัดสินใจ 22% จากโพลต่าง ๆ ซึ่งสามารถสะวิงโหวตจะไปซ้ายไปขวา ยังไม่รู้เลย

“จากวันนี้ต้องทำงานให้หนักขึ้น เน้นเข้าไปคุย จากใจ ต้องเลือกพรรคที่หยุดระบอบประยุทธ์ให้ได้ พรรคเพื่อไทยคือพรรคเดียวที่หยุดระบอบประยุทธ์ พรรคเดียวที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเราไม่เลือกพรรคเพื่อไทย จะหาคนจัดตั้งรัฐบาลยากเลย นื่คือสิ่งที่พยายามอธิบาย”

“ย้ำในจุดที่เป็นยุทธศาสตร์ และย้ำในพื้นที่คู่แข่ง และไปทำความเข้าใจกับประชาชนเพิ่มขึ้น ให้เห็นนโยบายจับต้องได้มากกว่าทรัพยากรที่เขาได้มาครั้งคราว ทำให้รู้ว่าเพื่อไทยให้โอกาสให้อนาคต ให้โอกาสในการทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวได้ ไม่ใช่ให้แบบหยอดน้ำข้าวต้ม”

ธิติวัฐ ในวงล้อมคู่แข่งตัวเด็ด

คนต่อมา แบงค์ “ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล” ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตเลือกตั้งที่ 33 ประกอบด้วย เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย (ยกเว้นแขวงศิริราช)

เขตนี้ “แบงค์” ต้องชนกับคู่แข่งระดับเบอร์ใหญ่หลายคน ทั้ง นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ ก้าวไกล  นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รวมไทยสร้างชาติ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ภูมิใจไทย นายชนินทร์ รุ่งแสง ประชาธิปัตย์  นายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล พลังประชารัฐ

เขาบอกว่า คู่แข่งในเขตนี้ ทั้งลิสต์ตัวเด็ดหมดเลย ที่ชกกันบนสนาม

ถามว่าต้องออกแรงหนักแค่ไหน “แบงค์” ตอบว่า เราลงพื้นที่ทุกวันมา 6 เดือน เดินล่วงหน้ามาก่อน เพราะรู้ว่าเราเป็นหน้าใหม่จึงต้องลงพื้นที่หนัก เพื่อรับฟังปัญหาชาวบ้าน แต่ความใหม่ของผม ผมว่าเป็นอะไรที่ท้าทาย มากกว่าอุปสรรค  ซึ่งเรามาอยู่ในสนามใหม่ ทุกคนต้องเจอสิ่งที่ไม่ได้คาดหมาย ซึ่งเขตนี้เป็นเขตของพรรคประชาธิปัตย์เดิม เราจึงเสนอความแปลกใหม่ ที่สามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้

“ชาวบ้านถามว่า เราทำอะไรให้เขาได้บ้าง ร้องเรียนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเจออะไรมาบ้าง บางทีประสานไปแล้วไม่ได้รับการแก้ไข คือสิ่งที่เจอตลอดมา”

“ผมเป็นคนอธิบายเกือบทุกนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายกระเป๋าตังค์ดิจิทัล 1 หมื่นบาท โดยเฉพาผู้สูงอายุจะเข้าใจยาก บางครั้งผมขึ้นรถแห่ไปตามตลาด ไปปราศรัยอธิบาย แวะทุกตลาด ขอคะแนนเพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริง”

แบงค์-ธิติวัฐ ในวัย 29 ปี แต่โปรไฟล์สัมผัสงานการเมืองมาก่อน เคยช่วยงาน “เสี่ยโรงแป้ง” วีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ในช่วงที่เป็น รมช.พาณิชย์ และ รมช.คมนาคม ในชายคาพรรคภูมิใจไทย แต่เขาไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคอีสานใต้

“ผมเคยทำงานที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนั้น ซึ่งหน้าที่ตอนนั้นคือปรับโครงสร้างองค์กร และพยายามปรับระดับความโปร่งใสองค์กรให้ขึ้นมาระดับต้น ๆ ของประเทศ ดูเรื่องการผลักดันการค้าขาย”

ส่วนงานในช่วงที่เป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  เราดูสถาบันการบินพลเรือน ตอนที่เราอยู่เป็นช่วงโควิด-19  ดังนั้น นักศึกษาจะลดลงทันที ต้องหาว่าโจทย์ในฐานะที่เราเข้ามากำกับ เราจะหาแหล่งเงินทุนให้กับสถาบันได้อย่างไร โดยจะไม่พึ่งพิงงบประมาณของรัฐมากจนเกินไป

นอกจากนี้ ยังดูเรื่องโรงแรมโนโวเทล ที่สนามบินสุวรรณภูมิ business development ว่าจะมีวิธีการขยายกิจการอย่างไร

แบงค์ เล่าปัญหาในพื้นที่ว่า หลัก ๆ ที่เจอผู้ป่วยติดเตียง เพราะเป็นเขตข้าราชการ คนเกษียณอายุจะเยอะ ซึ่งนโยบายบัตร 30 บาทพลัส จะเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ เพราะเขามีอายุมากขึ้นจะใช้ได้ทุกที่ เป็นครั้งแรกที่ลงสมัคร ส.ส.

จำนวนงานน้อยกว่าคนในพื้นที่ ตึกร้างเยอะ 30% ร้านค้าท้องถิ่นก็น้อยมาก ในพื้นที่มีแค่ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า โลตัส  ตั้งฮั่วเส็ง หมายความว่าเป็นพื้นที่ร้านค้าขายน้อย กิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อย คนก็กระจายไปทำงานที่อื่น ดังนั้น โจทย์คือ ทำอย่างไร ให้คนในพื้นที่มีการค้าขายเพิ่มมากขึ้นได้

เพราะในชุมชนเรามีของดี มีโขนโบราณ มีบ้านบุที่เป็นงานคราฟต์ เหลือที่เดียวในเมืองไทยอยู่ที่บางกอกน้อย มีกระทั่งวังเดิมที่ปล่อยร้าง ถ้ามีอะไรทำให้เรานำกลับขึ้นมาแล้วสนับสนุนขึ้นมาได้ก็จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้โดยตรง

“เขาไม่เชื่อผลโพลใด ๆ ที่ออกมา เพราะถ้าเราหลงตามโพล เราก็จะเหนื่อย เราก็จะเหลิง แต่เราเป็นผู้สมัครคนใหม่ ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ เราไม่อยากทำให้ผู้ใหญ่ผิดหวัง เราก็สมควรที่จะชนะ”

ยานนาวา ฝ่ากระแส “พิธา”

คนที่สาม “เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ” ผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา ผู้ที่มีชื่อเล่นว่า “ตุ๊ดตู่” แต่ไม่อยากให้ใครเรียกชื่อเล่น (ตู่) ในช่วงนี้

ดีกรีของ “เพ็ญพิสุทธิ์” ไม่ธรรมดา เพราะเธอเป็นลูกของ พงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ อดีต ส.ก. และ ส.ส. เขตบางคอแหลม พื้นที่ทุกตารางนิ้วเธอจึงรู้จักทะลุปรุโปร่ง เช่นเดียวกับนโยบายกระเป๋าตังค์ดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของพรรคเพื่อไทย ที่เธอสามารถอธิบายได้ทะลุเช่นกัน

เพราะเธอผ่านหลักสูตร MIT Management Sloan School. Blockchain Technologies : Business Innovation and Application, Massachusetts Institute of Technology (MIT).

Certified Blockchain Council – Certified Cryptocurrency Expert (CCE) – Certified Blockchain Expert (CBE) – Certified Blockchain & Healthcare Professional

เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่แปลกในยามที่พรรคเพื่อไทยต้องตอบคำถามถึงนโยบาย กระเป๋าตังค์ดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่ใช้ “บล็อกเชน” เป็นตัวขับเคลื่อน จึงมี “เพ็ญพิสุทธิ์” ขึ้นเวทีอธิบายแทนทีมเศรษฐกิจของพรรค

ตัดมาภาพการลงพื้นที่ “ตู่” บอกว่า ส่วนตัวลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ดังนั้นการลงพื้นที่ยานนาวา บางคอแหลม ไม่ใช่เรื่องใหม่ คุ้นเคยกับพื้นที่เป็นอย่างดี และพ่อเคยเป็นอดีต ส.ก. และ อดีต ส.ส.ในบางคอแหลม ดังนั้น เราจึงรู้จักคนก่อนหน้านี้แล้ว แต่พื้นที่ยานนาวา กับ บางคอแหลม เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของพื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณ์ จาติกวณิช และ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล แจ้งเกิดจากพื้นที่นี้ เพราะเดิมเป็นพื้นที่เขตของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ล่าสุดพรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งไป ส่วนพ่ออยู่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

การลงพื้นที่จุดเด่นของพรรคเพื่อไทยคือเกมนโยบาย เด่นกว่าพรรคอื่น และปฏิบัติได้จริง ประชาชนจะให้ความสำคัญกับการฟังนโยบายของเรา เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค วันนี้เราพูดถึงการต่อยอดว่าทำอย่างไรถึงการรักษาทางการแพทย์ ได้สะดวกขึ้น เร็วขึ้น เป็นนโยบายแรกที่คนชอบ

รวมถึงนโยบายกระเป๋าตังค์ดิจิทัล ซึ่งหลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจ ทั้งที่เป็นเขตเมืองชั้นใน คนเรียนจบสูงๆ มาบางคนก็ไม่เข้าใจ ผู้สมัครจึงมีหน้าที่เล่าให้ฟัง แต่เรื่องนี้โชคดีที่เป็นกระแส

เธอกล่าวถึงคู่แข่งพรรคก้าวไกลว่า “เขตเลือกตั้งนี้เป็นพื้นที่ที่บ้านรั้วเยอะ คอนโดฯเยอะ ต้องยอมรับว่ากระแส และตัวผู้สมัครเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบการตัดสินใจเช่นกัน”

“ต้องยอมรับว่าไปในพื้นที่ทั่ว กทม. โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นใน เวลาเราสู้กับผู้สมัครรู้สึกว่าไม่ได้สู้แบบตัวต่อตัวกับผู้สมัครด้วยกัน แต่สู้กับคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วยกระแสแคนดิเดตนายกฯ ถามว่าคนในพื้นที่รู้จักผู้สมัครได้ดีไหม…เขาก็เฉย ๆ แต่ถ้าถามว่าเลือกก้าวไกลแล้วได้คุณพิธาไหม การรับรู้เป็นเช่นนั้น”

“แต่เพื่อไทยไม่ใช่..ตัวผู้สมัครเราขยัน ต้องเข้าถึงคนไห้ได้ ต้องลงพื้นที่ เพราะพรรคเพื่อไทยติดกับคนรากหญ้า”

เธอบอกเหตุผลที่อยากเป็น ส.ส.ว่า “งานการเมืองเป็นบันไดไปสู่ทุกเรื่อง ถ้าการเมืองปลดล็อกได้ เศรษฐกิจก็จะดีกว่านี้ ปากท้องก็คงดีกว่านี้ ยาเสพติดลดลงกว่านี้”

“หวังอยากเป็น ส.ส.มาก เต็ม 10 ให้ 10 เพราะอยากประสบความสำเร็จ ที่สำคัญไม่อยากทำให้ผู้ใหญ่ผิดหวัง ดังนั้น การลงพื้นที่แต่ละวัน เราตั้งใจทุกวัน เรามีเพื่อไทยยังไงก็ต้องเดินเท้าเคาะประตูตามบ้าน ออนไลน์ก็ต้องทำ แต่เราเด่นเรื่องออนกราวนด์ เราเด่นเรื่องการนำเสนอนโยบาย เราเชื่อว่าปิดการขายได้”

“ข้อเด่น 1.เกมนโยบาย 2.เป็นคนในพื้นที่ คุ้นเคยกันตั้งแต่เด็ก ๆ ชาวบ้านเคยเห็นหน้าเรามาตลอด 3.คุณพ่อไม่เคยทิ้งพื้นที่ 4.ด้วยความตั้งใจ ด้วย 4 ข้อนี้เราสู้พรรคก้าวไกลได้แน่นอน”

ทั้ง 3 คน คือคนที่ “มาดามพวงเพ็ชร” ภูมิใจนำเสนอ