ประชาธิปัตย์แตกหัก! 19 กลุ่ม ชิงตัดเกมเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ รับผลเลือกตั้ง

จุรินทร์ - ประชาธิปัตย์

กก.บห.ประชาธิปัตย์ นัดประชุม 24 พ.ค. เคาะวันประชุมใหญ่วิสามัญเลือก กก.บห.พรรคชุดใหม่ หลังจุรินทร์ลาออก กางข้อบังคับ 19 กลุ่มโหวตเตอร์ สัดส่วน ส.ส. 70% ชี้ขาด ผลเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนที่ 9

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 รายงานข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นัดประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดรักษาการในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อกำหนดวันเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ และหารือแนวทางการเลือกตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ รวมถึงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เนื่องจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรคที่ลาออกไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งข้อบังคับพรรคกำหนดให้ต้องเลือกภายใน 60 วัน

เปิดวาระการประชุมนัดสำคัญ

วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

  • รับทราบมติเวียนเรื่อง การอนุมัติสมาชิกพรรคผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (LINE) 1 ครั้ง จำนวน 53 ราย
  • รับทราบมติเวียนเรื่อง การอนุมัติรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 12 เขต
  • รับทราบ นายจุรินทร์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

วาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 3/2566

วาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา

  • อนุมัติผู้สมัครเป็นสมาชิกพรรค
  • หารือแนวทางการเลือกตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ เนื่องจากนายจุรินทร์ลาออกจากตำแหน่ง

วาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการเลือก หัวหน้าพรรคคนใหม่

1.ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคต้องมีคุณสมบัติ “เป็นหรือเคยเป็น ส.ส.ในนามพรรค” เว้นแต่ “สมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าสามในสี่” ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

2.ต้องมีผู้รับรอง “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของผู้ที่อยู่ในที่ประชุม

3.การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคให้คำนึงถึง “ผลการหยั่งเสียงเบื้องต้น”

ทั้งนี้ การลงคะแนนให้ “ลงคะแนนลับ”

ชิงเหลี่ยมทำเกมก่อน-หลังประกาศผลเลือกตั้ง

ให้ถือเกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเป็นสัดส่วน ดังนี้

  • ส.ส.ของพรรคในขณะนั้น “ในกรณีที่ไม่มี ส.ส.ให้ ส.ส.ชุดสุดท้ายก่อนมีการประชุมใหญ่ ซึ่งยังคงเป็นสมาชิกอยู่เป็นองค์ประชุม” ให้ถือเป็นสัดส่วน 70% ของคะแนนเสียงขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่
  • คะแนนเสียงเลือกตั้งขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่อื่น ๆ ให้ถือเป็นสัดส่วน 30% ของคะแนนเสียงขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่

ทั้งนี้ คาดว่าจะเป็นข้อถกเถียงว่า ต้องรอให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งก่อนหรือไม่ หาก กกต.ประกาศผลก่อนถึงวันเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ส.ส.ชุดใหม่ก็จะมีน้ำหนักการลงคะแนนถึง 70%

แต่ถ้าเลือกหัวหน้าพรรคก่อนวันที่ กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.ชุดเก่า หรือสมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 62 ก็จะมีน้ำหนักลงคะแนน 70%

โดยผลการเลือกตั้ง 66 ที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ภาคใต้ถึง 17 คน ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช 6 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 1 นายราชิต สุดพุ่ม เขต 2 นายทรงศักดิ์ มุสิกอง เขต 3 นายพิทักษ์เดช เดชเดโช เขต 4 ว่าที่ ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ เขต 5 นายชัยชนะ เดชเดโช เขต 9 นางอวยศรี เชาวลิต

พัทลุง 2 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 1 นางสุพัชรี ธรรมเพชร เขต 3 นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ตรัง 2 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 3 น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ เขต 4 นายกาญจน์ ตั้งปอง ปัตตานี 1 ที่นั่ง เขต 4 นายยูนัยดี วาบา

สงขลา 6 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 1 นายสรรเพชร บุญญามณี เขต 3 นายสมยศ พลายด้วง เขต 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง น.ส.สุภาพร กำเนิดผล เขต 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เขต 9 นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง

ขณะที่ภาคอื่น มีเพียง 5 ที่นั่ง ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ 2 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 2 นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ เขต 3 นายประมวล พงศ์ถาวราเดช อุบลราชธานี 1 ที่นั่ง เขต 2 นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สกลนคร 1 ที่นั่ง เขต 2 นายชาตรี หล้าพรหม แม่ฮ่องสอน 1 ที่นั่ง นายสมบัติ ยะสินธุ์

ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เพียง 2 ที่นั่ง คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายชวน หลีกภัย

คะแนนในสัดส่วน ส.ส.กลุ่มภาคใต้จึงเป็นตัวชี้ขาดในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่

ผ่าองค์ประชุมใหญ่ 19 กลุ่ม

สำหรับองค์ประชุมที่ประชุมใหญ่วิสามัญต้องไม่น้อยกว่า 250 คน ประกอบด้วย 19 กลุ่ม ดังนี้

  • กรรมการบริหารพรรค
  • สมาชิกที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคหรือเคยเป็นเลขาธิการพรรค
  • ส.ส.ของพรรคในขณะนั้น ในกรณีที่ไม่มี ส.ส. ให้ ส.ส.ชุดสุดท้ายก่อนมีการประชุมใหญ่ ซึ่งยังคงเป็นสมาชิกอยู่เป็นองค์ประชุม
  • สมาชิกที่เป็นอดีต ส.ส.
  • สมาชิกที่เป็นรัฐมนตรีของพรรคในขณะนั้น
  • สมาชิกที่เป็นอดีตรัฐมนตรี
  • สมาชิกที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น
  • สมาชิกที่เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น หรือที่เป็นสมาชิกและที่คณะกรรมการบริหารพรรครับรอง
  • สมาชิกที่เป็นสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น หรือที่เป็นสมาชิก และที่คณะกรรมการบริหารพรรครับรอง จังหวัดละ 1 คน
  • สมาชิกที่เป็นนายกเทศมนตรีที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น หรือที่เป็นสมาชิกและที่คณะกรรมการบริหารพรรครับรองทุกคน
  • สมาชิกที่เป็นสภาเทศบาลที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น หรือที่เป็นสมาชิก และที่คณะกรรมการบริหารพรรครับรอง จังหวัดละ 1 คน
  • สมาชิกที่เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น หรือที่เป็นสมาชิกและที่คณะกรรมการบริหารพรรครับรองจังหวัดละ 1 คน
  • สมาชิกที่เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น หรือที่เป็นสมาชิก และที่คณะกรรมการบริหารพรรครับรอง จังหวัดละ 1 คน
  • สมาชิกที่เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น 2 คน
  • สมาชิกที่เป็นสภาเขตที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงอยู่ในขณะนั้นสองคน
  • สมาชิกที่เป็นสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษหรือผู้บริหารที่พรรคส่งลงสมัครและดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น ฝ่ายละ 2 คนทุกองค์กร
  • หัวหน้าสาขาพรรค
  • ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
  • ตัวแทนสมาชิกตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด

โครงสร้าง กก.บห.พรรค

ขณะที่คณะกรรมการบริหารพรรคตำแหน่งอื่น ๆ ทั้งหมดมีจำนวน 41 คน เสนอชื่อโดยหัวหน้าพรรค ยกเว้นตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอชื่อโดยเลขาธิการพรรค โดยมีวาระคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ประกอบด้วย

  • รองหัวหน้าพรรค 10 คน

รองหัวหน้าพรรคตามภารกิจที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย 8 คน และ รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ รองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร

  • เลขาธิการพรรค

รองเลขาธิการพรรค 6 คน (เลขาธิการพรรคเป็นผู้เสนอชื่อ) เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกพรรค โฆษกพรรค

  • หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 5 คน จากภาคที่ต่างกัน
  • ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น 2 ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น 2 คน
  • กรรมการบริหารพรรคอื่น ๆ 8 คน

ทั้งนี้ สัดส่วนในคณะกรรมการบริหารพรรคต้องมีผู้หญิงไม่น้อยกว่า 10 คน

ย้อนรอยเลือกหัวหน้าพรรค-หยั่งเสียงเบื้องต้น

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ต้องรอมติจากที่ประชุม กก.บห.พรรคชุดรักษาการ ว่าจะกำหนดแนวทางการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่อย่างไร จะเปิดให้มีการ “หยั่งเสียงเบื้องต้น” หรือไม่ เนื่องจากตามกฎหมายไม่ได้บังคับและการเลือก กก.บห.พรรค-หัวหน้าพรรคเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่

ก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งแรก ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้แก้ไขข้อบังคับฉบับใหม่ โดยใช้วิธี “หยั่งเสียงเบื้องต้น” ก่อนที่จะไปเสนอต่อที่ประชุมใหญ่พรรคอีกครั้ง

“ข้อบังคับใหม่” ขณะนั้นเปิดให้สมาชิกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมได้ประกอบด้วย 1.สมาชิกที่มายืนยันตัวตนก่อนวันที่ 30 เมษายน 2561 2.อดีตสมาชิกประมาณ 2 ล้านคน ที่ คสช.ออก “เซตซีโร่” ที่ต้องการขอใช้สิทธิ และ 3.คนที่จะมาสมัครสมาชิกหลัง คสช.ปลดล็อกทางการเมือง

โดยในครั้งนั้นเปิดให้แคนดิเดตหัวหน้าพรรคดีเบตและแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้รับคะแนนหยั่งเสียงเบื้องต้น เป็นอันดับหนึ่ง 67,505 คะแนน ชนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ได้คะแนน 57,689 คะแนน และนายอลงกรณ์ พลบุตร ได้คะแนน 2,285 คะแนน

ต่อมาหลังจากนายอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากแพ้เลือกตั้งปี 2562 นายจุรินทร์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 โดยมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญด้วยคะแนน 135 คะแนน คิดเป็น 50.59% ชนะนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ 82 คะแนน คิดเป็น 37.21% นายกรณ์ จาติกวณิช ได้ 14 คะแนน คิดเป็น 8.48% และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ 8 คะแนน คิดเป็น 3.69%