มหาชนส้ม กันชนโหวตพิธา ระดมนักคิดก้าวหน้า หักเกม ส.ว.นั่งนายกฯ

พิธา นายก
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เส้นทางอันตรายของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ใกล้ถึงจุดตัดสิน

13 กรกฎาคม คือวัน “ดีเดย์” อันเป็นวันที่ประชุมรัฐสภา จะลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

พรรคก้าวไกล 151 เสียง ที่เสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ มีอีก 7 พรรคสนับสนุน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง รวม 312 เสียง

แคนดิเดตนายกฯ ในขั้วนี้นอกจาก “พิธา” ยังมีแคนดิเดต 3 คน จากพรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย

ขณะที่ขั้วรัฐบาลเดิม และไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลขณะนี้มี 188 เสียง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคใหม่ 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง

ในขั้วมีแคนดิเดตนายกฯ 5 คน นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์

พิธา ใช้พลังมวลชน

เมื่อขั้วรัฐบาลเดิมอยู่ในสภาวะ “พร้อมเสียบ” หากขบวนพิธา พลิกคว่ำ พรรคก้าวไกลจึงจัดคิวใช้แผน “มวลชน” เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก อุ้ม “พิธา” ฝ่าด่านหินเพื่อเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

เพียงแค่เข้าสู่เดือนกรกฎาคม จนถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลและพิธา วางโปรแกรมพบมวลชนสีส้ม 5 จังหวัด 6 เวที

เริ่มจาก 1 กรกฎาคม ไปที่ จ.ขอนแก่น 8 กรกฎาคม ไปที่ จ.นครราชสีมา 9 กรกฎาคม ไปที่ จ.สุพรรณบุรี และวกกลับมาขึ้นปราศรัยที่ ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ในช่วงเย็น 10 กรกฎาคม ไป จ.ปทุมธานี และ 11 กรกฎาคม ไป จ.สมุทรปราการ

3 จังหวัดหลัง ก่อนเข้าสู่วันโหวตนายกรัฐมนตรี ทั้ง กทม. ปทุมธานี และสมุทรปราการ เป็นจังหวัดที่พรรคก้าวไกลชนะแบบแลนด์สไลด์ทั้งสิ้น

ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมมีการเตรียมแผนเดินสาย มีการประเมินสถานการณ์ในพรรคก้าวไกลว่า “พิธา” อาจจะไม่ชนะในการโหวตยกที่หนึ่ง จึงต้องวางคิวเดินสายปลุกกระแสมวลชน เอามาสู้กับอำนาจ ส.ว. และมือที่มองไม่เห็น

นอกจากนี้ ในสัปดาห์อันตราย พรรคก้าวไกลเตรียมระดมนักคิด – อินฟลูเอนเซอร์ฝ่ายซ้าย ออกมาสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ

รวมถึงมีถึง 14 กลุ่ม ที่เตรียมยกขบวนไปชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาในวันโหวตนายกฯ วันที่ 13 กรกฎาคม ประกอบด้วย  1.กลุ่มแฟนคลับพรรคก้าวไกล (ด้อมส้ม) นำโดย นางนภัสสร บุญรีย์ 2.กลุ่มทะลุฟ้า นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 3.กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย น.ส.กัลยกร สุนทรพฤกษ์

4.กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข 5.กลุ่มเครือข่ายแรงงาน นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ 6.คณะก้าวหน้า นำโดย น.ส.พรรณิกา วาณิช 7.กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นำโดย นายกรกช แสงเย็นพันธ์

8.กลุ่ม iLaw นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 9.กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก นำโดย น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง 10. กลุ่มทะลุวัง นำโดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ 11.กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ นำโดย นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง 12 .กลุ่มการ์ด We Volunteer นำโดย นายธนากร มูลถวิล 13.กลุ่มเพื่อนกัญปฏิวัติ นำโดย นายจิรภาส กอรัมย์ 14 กลุ่มล่องนภา ประมาณ น.ส. มาริสา เพศยนาวิน

ท่าทีเครือข่าย 2 ลุง

ในทางตรงกันข้ามกับเกมของ “พิธา” กลุ่ม ส.ว. 250 คน ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนโหวตนายกฯ บางคนสงวนท่าที-รอดูทิศทางลมจนถึงนาทีสุดท้าย บางกลุ่มประกาศ “คว่ำ” งดโหวตพิธา โดยเฉพาะ ส.ว.ที่มีรากเหง้าจากแม่น้ำ 5 สาย ขณะที่บางปีก ส.ว.สายที่เกี่ยวข้องกับเอ็นจีโอ-นักการเมืองท้องถิ่น-ก็ออกมาเชียร์พิธา เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

ข้อกังขา ซึ่งกลายเป็น “กระดูกชิ้นโต” ขวาง “พิธา” คือนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ส.ว.กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มทหาร โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่มีสัมพันธ์ต่างตอบแทนกันมานาน โดยเฉพาะเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีประมาณ 20 กว่าคน

อาทิ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ, พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ, พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์, พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์, พล.อ.โปฎก บุนนาค, พล.อ.ประสาท สุขเกษตร พล.ร.อ.นพดล โชคระดา พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์, พล.อ.ดนัย มีชูเวท

ออกมาตั้งแถวขวาง ตัวอย่างเช่น กระบอกเสียงของกลุ่มอย่าง “พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์” ได้ออกมาเปิดสเป็กนายกฯ คนที่ 30 ไว้คร่าว ๆ ว่า “ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนเก่ง และคนดี ต้องมีสองอย่างนี้คู่กัน ถ้าเก่งแล้วไม่ดีก็ไม่เอา ต้องการทั้งเก่งและดี ทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

แม้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” โนคอมเมนต์การเมือง พร้อมส่งสัญญาณถอย “ผมจำเป็นต้องถอยห่างออกจากการเมือง ฉะนั้น อย่ามาถามผมในเรื่องการเมือง”

“เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องของการเมืองที่จะว่ากันไป อย่าเอาผมไปทำให้มันเกิดปัญหาความขัดแย้งอีกเลย ผมก็จะทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่” ก็ตาม

ขณะที่เตรียมทหารรุ่น 6 สาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.นพดล อินทปัญญา มือเดินเกมคนสำคัญ ที่มีอดีตภรรยาชื่อ ประวีณ์นุช เลิศจิตติสุทธ์ (อินทปัญญา) เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเวลานี้, พล.อ.อู้ด เบื้องบน, พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย, พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์,

ผนึกกับ ส.ว.สายพลเรือนหลายรายที่เป็นขุนพลในเครือข่าย พล.อ.ประวิตร และยังมี “พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ” น้องชาย พล.อ.ประวิตร เป็นตัวเชื่อมทั้งใน-นอกสภา พร้อมพลิกเกมได้ทุกเมื่อ

โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองสาย พล.อ.ประวิตร ในนามพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.ในเครือข่าย ที่เคย “ปฏิวัติเงียบ” เปลี่ยนตัวนายกฯ ประยุทธ์ ในสภามาแล้ว ระหว่างศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2564 แต่ไม่สำเร็จ

แหล่งข่าว ส.ว.ในเครือข่าย พล.อ.ประวิตร มั่นใจว่าพิธาไม่ผ่านการโหวตรอบแรก ส่วนการโหวตรอบสองค่อยมาว่ากันใหม่ เช่นเดียวกับนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า แม้พรรคพลังประชารัฐจะเงียบ ไม่เคลื่อนไหวในช่วงนี้ แต่ใช่ว่าจะ “ยอมแพ้” หรือการไม่เคลื่อนไหว ไม่ได้หมายความว่า “ไม่ได้ทำอะไร”

“ฝ่ายพรรคก้าวไกลครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็จริง แต่เราเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา เกมนี้เป็นเกมชิงประเทศ จะจบต่อเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เป็นรัฐบาล” แหล่งข่าวสาย พล.อ.ประวิตรกล่าว

หุ้นไอทีวีบ่วงรัด “พิธา”

ในด้านคู่ขนาน “พิธา” ต้องเผชิญ “ข้อกล่าวหา” คดีถือหุ้นสื่อไอทีวี ที่กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง เพราะ กกต.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนถึง 2 ชุด

ชุดแรกคือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของ “พิธา” ตามเรื่องร้องเรียน “ใหม่” หลังการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง อันเป็นคำร้องของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ “นพรุจ วรชิตวุฒิกุล” อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ขอให้ กกต.ดำเนินการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของ “พิธา” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82

ว่าการที่ “พิธา” มีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา101 (6) หรือไม่

ชุดที่สอง คณะกรรมการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัย กกต. ที่รับคดีหุ้นสื่อของ “พิธา” ไว้เป็น “ความปรากฏ” กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัคร ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561

คณะกรรมการไต่สวนทั้งสองชุดได้ประสานข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างกัน นอกจากพิจารณาคำร้องของ “เรืองไกร-นพรุจ” แล้ว ยังมีการนำ “ข้อมูลใหม่” ของฝ่ายวุฒิสภา นำโดย “เสรี สุวรรณภานนท์” ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา

เพียงแค่ “พิธา” มีมลทินก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี เช่น ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “พิธา” ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โอกาสที่ไปไม่ถึงดวงดาวมีสูง

โหวตพิธา รอบสองไม่ง่าย

ขณะเดียวกัน หากการโหวต “พิธา” รอบแรกไม่ผ่าน แม้จะมีการนัดโหวตรอบสอง รอบสามไว้ล่วงหน้า แต่ใช่ว่าจะง่าย

แหล่งข่าวจากฝ่าย ส.ว.ระดับ “คีย์แมน” ที่คลุกวงในการทำรัฐธรรมนูญ 2560 ในนามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องการโหวต “พิธา” รอบ 2 ได้หรือไม่นั้น ยังเป็น “ปัญหาข้อกฎหมาย” เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ อีกทั้งเมื่อไปดู “บันทึกความมุ่งหมาย ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ” ก็ไม่ได้บัญญัติไว้อีกเช่นกัน

ดังนั้น จึงมีการหารือว่า ถ้ารอบแรกไม่ผ่าน อาจใช้การเทียบเคียงกับการพิจารณาคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภา โดยใช้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้น หรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรใช้ มาตรา 5 เพียงแต่ยังมีปัญหาข้อกฎหมายที่ยังต้องหารือกัน ว่าจะทำอย่างไร เชื่อว่าหากการโหวตรอบแรกนายพิธาไม่ผ่าน ก็ต้องมีรอบที่สอง เพราะประธานรัฐสภาได้กำหนดวันประชุมแล้ว แต่ระหว่างนั้นอาจมี ‘มือดี’ ไปยื่นตีความถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่”

คำร้องเพิ่มของเรืองไกร

นอกจากนี้ “นักร้อง” เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักการเมืองใน “เครือข่าย พล.อ.ประวิตร” อีกหนึ่งราย ยังขยันร้อง กกต.ให้ดำเนินคดี “พิธา” ต่อเนื่อง

คำร้องใหม่ยื่น กกต.ตรวจสอบและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ “พิธา” สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบมาตรา 101(6) หรือไม่ จากกรณีถือสิทธิและมีรายได้จากการขายหนังสือ 4 เล่มคือ หนังสือวิถีก้าวไกล, ความรัก คือการตกหลุมรักหลาย ๆ ครั้ง, ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน, ด้วยรักจากอนาคต

นอกจากนี้ ยังแนบข้อกฎหมาย กรณีผู้พิมพ์และเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ โดยตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า “หนังสือพิมพ์” หมายความว่า

สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออก หรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทํานองเดียวกัน

ชั่วโมงอันตรายของ “พิธา” มิอาจเดินไปสู่ทำเนียบรัฐบาลได้อย่างราบรื่น