ศาลรัฐธรรมนูญ จ่อชงตุลาการ รับคำร้องญัตติห้ามโหวต พิธา รอบ 2 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ เผยความคืบหน้า คำร้องผู้ตรวจการ ชี้ขาดญัตติโหวตพิธา รอบ 2-สั่งชะลอโหวตนายกฯ รอบ 3

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยความคืบหน้า กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 213 จากกรณีที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “ญัตติ” ที่ตกไปแล้วตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 หรือไม่

รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา

ทั้งนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.00 น. ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ยื่นคําร้องฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 พร้อมเอกสารประกอบคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติเรื่องการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีอยู่ระหว่างการดําเนินการทางธุรการของสํานักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอคณะตุลาการพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่รับแล้ว อยู่ในกระบวนการมีเวลาพิจารณาภายใน 2 วัน และเสนอตุลาการคณะเล็ก พิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ โดยคณะตุลาการคณะเล็กพิจารณาไปเลยก็ได้ หรือจะเสนอเข้าสู่คณะใหญ่ภายใน 7 วันก็ได้

ขณะที่นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมว่าจะรับหรือไม่รับ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละคดี ไม่สามารถกำหนดได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นและขอเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน ถ้าคดีที่ตกจะจบเร็ว แต่ถ้าเป็นเรื่องข้อเท็จจริงจะต้องมีการนำไต่สวนและมีรายละเอียดเยอะ

ก็เลยไม่สามารถรับรู้ได้ว่าจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมาทำก่อน ต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานว่าเรื่องไหนพร้อมก่อนก็นำหยิบขึ้นมาพิจารณาก่อน ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ แต่กระบวนการตรวจสอบก็ดำเนินการต่อเนื่องทุกกรณี