
คอลัมน์ : Politics policy people forum
พรรคเพื่อไทยใส่เกียร์ 5 เดินหน้าเป็นรัฐบาลเต็มกำลัง รวมกับขั้วรัฐบาลเดิม
ประกาศเป็นแกนนำรัฐบาล เวอร์ชั่น “สลายขั้วขัดแย้ง”
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- รู้จัก น้ำมัน EURO 5 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 มีผลกับค่าการตลาดน้ำมันอย่างไร
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
แม้ว่าขณะนี้ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ยังถูกการเมือง “เขย่า” และให้เปลี่ยนตัวเป็น “แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทยอีกคน
เพราะบังเอิญมองว่า รัฐมนตรีขั้วเดิมจะอยู่ในเก้าอี้ตัวเดิมไม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เป็น “แนวคิดที่ดี”
ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ จากพรรคขั้วเก่า ที่ต้องการเป็นรัฐบาลและนั่งอยู่ในเก้าอี้รัฐมนตรีตัวเดิม และสะเทือนไปถึง ส.ว. ที่เป็น “ลูกคู่” กับขั้วอำนาจเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้พรรคเพื่อไทยอาจถูกพรรคที่ต้องการร่วมรัฐบาล “บีบคอ” แลกเสียงโหวตนายกรัฐมนตรี แต่พรรคเพื่อไทยไม่อาจปล่อยมือให้ “สิทธิ” การจัดตั้งรัฐบาลหลุดไปง่าย ๆ เพราะ “จ่ายต้นทุน” ความน่าเชื่อถือทางการเมืองไปแทบหมดหน้าตัก
พรรคเพื่อไทยแลกเดิมพันทางการเมือง หวังพิสูจน์ฝีมือ-ผลงาน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ต่อไปนี้คือนโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศต่อสาธารณะ ว่า “ทำทันที” และแจ้งความเสี่ยง ความคุ้มค่ากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม
เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
พรรคเพื่อไทยชูนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เป็นนโยบายหลัก และเคยประกาศว่าใช้งบฯทั้งสิ้น 5.6 แสนล้านบาท ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ ประชาชนได้รับเงินดิจิทัลก้นถุง ที่มีเงื่อนไขเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการกระตุ้นและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เกิดเงินหมุนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเท่าเทียม และขยายตัวสูงกว่าเม็ดเงินที่ใช้
ประเทศเข้าสู่ระบบเงินรูปแบบใหม่ผ่านเทคโนโลยี blockchain เพื่อรองรับการเปลี่ยนของระบบการเงินโลก ภาคธุรกิจได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียม ทั่วถึงในทุกพื้นที่
“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยได้ทำการบ้านมาแล้วว่า โดยศึกษาทุกปัญหาอย่างครบถ้วน ไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ และไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางการคลัง
ควัก 1.3 หมื่นล้าน พักหนี้
2.นโยบายลดภาระหนี้ประชาชนในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก “เศรษฐา” ที่วันนี้ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หวังว่า ครม.จะมีมติในเรื่องลดภาระหนี้สินของประชาชน
นโยบายนี้ใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท คือ พักหนี้และดอกเบี้ยเกษตรกร 3 ปี พักหนี้ธุรกิจเฉพาะที่เดือดร้อนจากโควิด-19 เป็นเวลา 3 ปี สนับสนุนและอุดหนุน pico finance เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
เฉพาะพักหนี้เกษตรกรใช้งบประมาณแผ่นดิน 8,000 ล้านบาท ลดภาระเกษตรกรในการชำระหนี้จากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ คาดว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้ และควรเป็นนโยบายระยะสั้นในการบรรเทาภาระหนี้ แต่ไม่ควรใช้ตลอดไป
ควบคู่กับนโยบาย “เกษตรนำ นวัตกรรมเสริม” สินค้าเกษตรขึ้นยกแผง รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี ด้วยการเพิ่มผลิตภาพการเกษตร แปรรูป ลดต้นทุน ปรับวิธีการผลิต ใช้ตลาดนำการผลิต ปรับอุปสงค์และอุปทานภาคการเกษตร ส่งเสริมการปลูกและการแปรรูปสมุนไพร เกษตรสารสกัดและเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว
และนโยบายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตร ด้วยการยกระดับการเกษตรของประเทศทั้งระบบ
ส่วนมาตรการช่วยเหลือ SMEs จะคู่ขนานกับนโยบายสนับสนุนและส่งเสริม SMEs อื่น ๆ ที่จะเป็นนโยบายภาคต่อในหมวดนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนและอุดหนุนภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ผลักดันแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ สนับสนุนและอุดหนุนการค้ำประกันสินเชื่อ สนับสนุน อุดหนุน ส่งเสริม SMEs สามารถเข้าถึงตลาดโลก ลดการผูกขาดทางธุรกิจอันเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของ SMEs สนับสนุนและอุดหนุน SMEs ให้เป็นกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในทุกมิติ
งบฯแก้รัฐธรรมนูญ 3 พันล้าน
3.นโยบายรัฐธรรมนูญ ในจังหวะที่พรรคเพื่อไทยถูกโจมตีดึง 2 ลุงร่วมขบวนรัฐบาล พรรคเพื่อไทยประกาศวาระการเมืองสำคัญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยวันแรกของการประชุมคณะรัฐมนตรี จะมีวาระทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ใช้งบฯ 3,000 ล้านบาท โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.และทำประชามติขอฉันทามติของประชาชน สำหรับงบประมาณ รัฐบาลต้องมีการจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
ลดราคาพลังงานทันที
4.นโยบายปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ เพื่อลดภาระประชาชนในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในชีวิตประจำวัน ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ และปรับลดอุปทานส่วนเกิน ทั้งนี้ ต้องใช้ความสามารถและความตั้งใจจริงในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
นอกจากนี้ ต้องใช้ความสามารถในการเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูก และสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง โดยเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน เป็นการบริหารทิศทางและนโยบายทั้งบุคลากรและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบาย โดยการบริหารงบประมาณปกติ และการบริหารระบบภาษี
สนับสนุนพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก โดยสนับสนุนให้ประชาชนใช้แหล่งพลังงานสะอาด renewable energy ลดการพึ่งพิงพลังงานแบบดั้งเดิม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งราคาพลังงาน-ค่าไฟฟ้า ในช่วงปลายปี 2566 หากจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว
งบฯซอฟต์พาวเวอร์หมื่นล้าน
5.นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ หรือ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ใช้งบประมาณปกติ 10,000 ล้านบาท
หวังสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง โดยมี “THACCA” (Thailand Creative Content Agency) ที่จะทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศทั้งหมดเพื่อสร้างอุตสาหกรรม soft power ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
เมื่อรวมทุกนโยบายเรือธง ที่ประกาศว่าจะทำทันที ต้องใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 586,000 ล้านบาท นี่เป็นเพียงการเดิมพันในลอตแรก