ประยุทธ์ อนุมัติ หลักเกณฑ์-เงื่อนไขใช้งบฯปี’66 ไปพลางก่อน ปลดล็อกงบฯปี’67 ล่าช้า 6 เดือน สั่งทำแผนส่งสำนักงบฯ อย่างช้าไม่เกิน 15 กันยายน 66 คิกออฟใช้เงิน 1 ตุลาคม 66 ไฟเขียว โครงการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี วงเงินไม่เกินสองในสาม งบฯลงทุนปีเดียวเฉพาะค่าครุภัณฑ์วงเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท รายการค่าที่ดิน-สิ่งก่อสร้างต่ำกว่า 10 ล้านบาท โครงการต่อเนื่องก่อนงบฯ 67 ทำเท่าที่ทำจำเป็น เปิดช่อง รัฐบาลใหม่ ปรับแผน-ทำนโยบายใหม่
วันที่ 27 สิงหาคม 2566 แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้ลงนามอนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ตามนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอ
เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะประกาศใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปี’60 มาตรา 141 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 1
สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน 7 ข้อ ดังนี้
1.การจัดทำแผนฯ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน ระหว่าง 1 ตุลาคม 2566-31 พฤษถาคม 2567 ภายใต้กรอบวงเงินของแผนงานและรายการ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ภายในวงเงินไม่เกินสองในสามของแต่ละแผนงานและรายการ โดยจำแนกเป็นรายเดือนส่งให้สำนักงบประมาณ อย่างช้าภายในวันที่ 15 ก.ย. 2566
เงื่อนไข
- ไม่จัดทำแผนสำหรับผลผลิต/โครงการที่สิ้นสุดลงในปีงบประมาณ 2566/การผูกพันข้ามปีรายการใหม่ ยกเว้นต้องดำเนินการภายหลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุด ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการ
- ค่าใช้จ่ายในแผนงานบุคลากรภาครัฐให้พิจารณาตามความจำเป็นได้ในทุกงบฯรายจ่าย
- แผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์ให้พิจารณาตามความจำเป็นได้ในทุกงบรายจ่าย สำหรับงบฯลงทุนปีเดียวให้พิจารณาเฉพาะรายการค่าครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท และรายการค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่มีวงเงินต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งมีความจำเป็นและต้องดำเนินการ หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ/ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
- แผนงานบูรณาการ ให้จัดทำแผนเท่าที่จำเป็น เพื่อใช้ปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องจากโครงการ/งานที่ดำเนินการไว้แล้ว หรือที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วก่อนปีงบประมาณ 2567 รวมทั้งภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ/ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
- ค่าใช้จ่ายในแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียนให้พิจารณาเท่าที่จำเป็น
2.การอนุมัติเงินจัดสรร สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณภายใต้กรอบวงเงินของแต่ละแผนงานและรายการ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 สำหรับหน่วยรับงบประมาณที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ 2566 และมีงบประมาณที่รับโอนมาจากหน่วยอื่น ให้สำนักงบประมาณจัดสรรได้เต็มตามจำนวนงบประมาณแต่ละแผนงานตามที่ได้รับโอนในปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ หากไม่เพียงพอสำนักงบประมาณอาจจัดสรรให้จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายฯ ได้
3.การบริหารงบประมาณรายจ่าย
- ให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพัน ภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรรตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เมื่อได้รับความเห็นชอบแผนฯ และได้รับอนุมัติเงินจัดสรรจากสำนักงบประมาณแล้ว
- การโอนงบประมาณรายจ่ายให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นหรือเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงาน/เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ/พัฒนาบุคลากร/เทคโนโลยี ซึ่งจะต้องแสดงเหตุผล ความจำเป็นหรือความเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชน ความประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ/แผนแม่บท/แผน 13/แผนฯ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
- การปรับแผนฯ ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อการปรับปรุงเป้าหมาย/ตัวชี้วัดของแผนงาน ผลผลิต หรือโครงการ หรือกรณีที่ ครม. หรือ รมว.เจ้าสังกัด หรือ รมว.ที่กำกับดูแลมีนโยบายใหม่
4.กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณได้เฉพาะกรณี ดังนี้
- มีความจำเป็นต้องจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
- ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
- มีความจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
5.การติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณ ให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนฯ ก่อนการจัดสรรงบประมาณ ระหว่างการใช้จ่ายงบประมาณ และภายหลังการใช้จ่ายงบประมาณ
6.การหักงบประมาณรายจ่าย งบประมาณรายจ่ายที่จัดสรรให้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขฯ นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่าย 2567 ซึ่งต้องหักออกจากแผนงาน/รายการ เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับแล้ว
7.วิธีปฏิบัติและการวินิจฉัย สำนักงบประมาณจะกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนฯ การอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย การติดตามและประเมินผล และการหักงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้