รัฐมนตรีเพื่อไทย สลายโควตา ปักธง 17 ตำแหน่ง-ถอยครึ่งซอย

เศรษฐา เพื่อไทย
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เขย่าขวดจนถึงนาทีสุดท้าย สำหรับโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1 ที่มี เศรษฐา ทวีสิน กุมบังเหียนนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.คลัง

พรรคเพื่อไทย ขอจองกระทรวงสำคัญเศรษฐกิจไว้ในกำมือ สำหรับเดิมพันอนาคตทางการเมือง หากปั่นจีดีพี-เศรษฐกิจให้โตต่อเนื่อง อาจทำให้ประชาชนลืมภาพจำการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วในอีก 4 ปีข้างหน้า

ทว่า..ครม. เศรษฐา 1 พรรคเพื่อไทย พยายามให้คำนิยามว่า รัฐบาลสลายขั้วการเมือง

แต่ในทางการเมือง โผ ครม.เศรษฐา 1 ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทย ถูกรุมกินโต๊ะมากกว่าคุมอำนาจการต่อรอง

เศรษฐา 1 สลายโควตา

ในโผ ครม.เศรษฐา 1 พรรคเพื่อไทยยึด 17 รัฐมนตรีไว้กำกับดูแล นอกจาก “เศรษฐา” จะเป็นนายกฯ ควบคลัง คุมนโยบายเศรษฐกิจ คุมงบประมาณในภาพรวมเอาไว้ต่อรองกับนักการเมืองเขี้ยวลากดิน แก้เกมการ “ถูกรุมกินโต๊ะ”

โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือ นายกฯ น้อย-หัวหน้าคณะทำงานของเศรษฐาในทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง นพ.พรหมินทร์หวนกลับมาเป็น “คนจ่ายตลาดการเมือง” ในทำเนียบอีกครั้ง หลังจากเคยทำหน้าที่นี้มาสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ยุคไทยรักไทย

นอกจากเศรษฐาเป็น รมว.คลัง พรรคเพื่อไทยยังมี “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน มานั่งเป็น รมช.คลัง ทว่าอยู่ในโควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมี “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” สส.เชียงใหม่ เป็น รมช.คลัง อีกแรง

ซึ่งจุลพันธ์อยู่ในทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมานาน ร่วมเป็นมันสมองนโยบายต่าง ๆ เบียด “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เด็กปั้น “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลคนหนึ่งหลุดจากโผ

ขณะที่ “ภูมิธรรม” ต้องจำใจทิ้งเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ทั้งที่มีข่าวอย่างต่อเนื่อง และยังมีเสียงลือมาจากข้าราชการกระทรวงมหาดไทยสาย “สิงห์ดำ” (จบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) ว่า มีความพยายามวางตัวทีมคณะทำงานไว้ด้วยแล้ว

สุดท้ายพรรคภูมิใจไทยยื่นเงื่อนไข-คำขาดร่วมรัฐบาลว่า หากไม่ให้พรรคภูมิใจไทย ได้คุมกระทรวงคมนาคม ต้องแลกกับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น “ภูมิธรรม” จึงต้องขยับเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ แทน

อีกหนึ่งเป้าหมายของ นายกฯ เศรษฐา คือ ต้องการนำสินค้าไทยไปขายต่างชาติ-เปิดตลาดการค้าใหม่ ๆ พร้อมทำให้ไทยกลับมามีหน้ามีตาบนเวทีโลกอีกครั้ง งานนี้จึงมีชื่อของ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกฯ ควบ รมว.การต่างประเทศ ซึ่งเขาเคยเป็น “ผู้แทนการค้าไทย” สมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ เศรษฐา ส่ง “มือขวา-มือทำงาน” อย่าง “จักรพงษ์ แสงมณี” เดินตามมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ในฐานะนายทะเบียนพรรคเพื่อไทย ไปเป็น รมช.ต่างประเทศ

ส่วนตำแหน่งที่ “นิ่งไม่ขยับ” ตั้งแต่โผเศรษฐา 1 ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ทั้งที่มีข่าวว่าต้องการนั่งเก้าอี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคม ซึ่งกระทรวงนี้นิ่งตั้งแต่โผแรก โดยมีชื่อ สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม หรือหมอหนุ่ย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาญจนบุรี ซึ่งนำทีมได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เพื่อไทย จ.กาญจนบุรี ได้ 5 คน เป็นชื่อที่ไม่ขยับ สวนทางกับชื่อ “มนพร เจริญศรี” สส.นครพนม ที่เข้า ๆ ออก ๆ เป็น รมช.คมนาคม ในโผเศรษฐา 1

เพราะชื่อที่เข้ามาเปลี่ยนโผในค่ำของวันที่ 27 สิงหาคม “เกรียง กัลป์ตินันท์” แม่ทัพอีสานใต้ขอเข้ามาคุม รมช.มหาดไทย แทนที่จะไปนั่ง รมช.เกษตรฯ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้า จึงต้องขยับ “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” ที่เคยเป็นเต็งว่าจะหวนคืน รมช.มหาดไทย ขยับไปนั่ง เก้าอี้ รมว.วัฒนธรรม

การเดินทางของสุทิน คลังแสง

กระทบชิ่งไปถึง “สุทิน คลังแสง” ที่เคยมีข่าวว่าได้คุมกระทรวงกลาโหม ต่อมาไปคุมกระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงวัฒนธรรม ต้องโคจรกลับมาคุมกระทรวงกลาโหม หากไม่เกิดอุบัติเหตุ “โผพลิก” ในจังหวะที่มีข่าวว่ากลุ่มเสื้อแดงไม่พอใจ ที่มีชื่อ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ซี้ พล.อ.ประยุทธ์ มานั่ง รมว.กลาโหม

ไม่แน่ว่าการถูกจับวางไปอยู่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ของ “สุทิน” เป็น “ทุกขลาภ” เพราะไม่สามารถโยกย้ายนายทหารใด ๆ ได้ เพราะติดกฎหมายจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และยังต้องอยู่ท่ามกลางนายพล หนำซ้ำยังเบียดชื่อ “พล.อ.ณัฐพล” เพื่อน “พล.อ.ประยุทธ์” ตกโผเศรษฐา 1 !

ส่วนชื่อที่มาเสียบ รมช.เกษตรฯ “ไชยา พรหมา” สส.หนองบัวลำภู ที่พลาดเก้าอี้รัฐมนตรีมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้น่าจะสมหวัง แต่คนที่ผิดหวังอาจเป็น “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อเพื่อไทย ประธาน สส.พรรค และเป็นหัวหอกคณะทำงานด้านการเกษตรของพรรค ทั้งที่ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาเกษตรอย่างจริงจัง ร่วมกับ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกฯ

แต่คนที่ถือว่าเป็นรัฐมนตรีป้ายแดง แซงทางโค้งคือ “น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา โควตา “เสี่ยโรงแป้ง” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.พาณิชย์ โดย “สุดาวรรณ” หรือ “ปุ๋ง” เคยฝึกงานการเมืองมาตั้งแต่ “วีรศักดิ์” ผู้เป็นพ่อนั่งเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ ก่อนย้ายมาเป็น รมช.คมนาคม แล้วหอบข้าวของย้ายขั้วมาอยู่พรรคเพื่อไทย จนช่วยให้พรรคเพื่อไทย ในนครราชสีมา กวาด สส.ได้ถึง 12 เก้าอี้ จาก 16 เขตเลือกตั้ง

ส่วน นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี “มาดามนครบาล” แม้เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม พรรคเพื่อไทยเกือบสูญพันธุ์ใน กทม. แต่ “เจ๊แจ๋น” ก็ยังได้รับการโปรโมตเป็นรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับนายพิชิต ชื่นบาน ทนายประจำตระกูลชินวัตร ที่ผงาดในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อนุทิน ตามรอยปู่จิ้น

ด้านพรรคภูมิใจไทย พรรค 71 เสียง ที่ได้ 4 เก้าอี้ รมต.ว่าการ และ 4 รมต.ช่วยว่าการ ถือว่าต่อรองเก้าอี้ได้ตามเป้า แม้จะไม่ได้คุมกระทรวงเดิม คือสาธารณสุขและคมนาคม แต่ก็ได้กระทรวงเกรดเอ ที่ “สมน้ำ-สมเนื้อ” เข้ามาแทนที่

พรรคภูมิใจไทย ยืนบนเงื่อนไข ถ้าไม่ให้กระทรวงคมนาคม ไม่ให้กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องเอามหาดไทย-ศึกษาธิการ มาแลก ด้วยงบประมาณที่เป็นระดับ “แสนล้าน” ดังนั้น อนุทินจึงเตรียมสวมบท มท.1 สานตำนานต่อจาก “ปู่จิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้เป็นพ่อก็เคยเป็น มท.1 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยมี “ชาดา ไทยเศรษฐ์” นั่ง รมช.มหาดไทย เช่นเดียวกับ “ทรงศักดิ์ ทองศรี”

ส่วนบุคคลที่มานั่งเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ คือ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” น้องชายครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ โดยมี “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” แม่ทัพภาคกลาง-อยุธยา มาเป็น รมช.ศึกษาธิการ

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” นายทุนพรรค ย้ายจาก รมว.การท่องเที่ยวฯ ในรัฐบาลประยุทธ์ ไปเป็น รมว.แรงงาน ในยุครัฐบาลเศรษฐา 1ขณะที่ นภินทร ศรีสรรพางค์ ได้นั่งเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นมือทำงานในฐานะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ “พิพัฒน์” คราวนี้ได้ขยับเป็นรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับ ผึ้ง “น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี” คราวนี้ไม่น่าพลาดเก้าอี้รัฐมนตรี นั่ง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

น้องบิ๊กป้อม หน้าฉาก พปชร.

ไม่พูดถึงไม่ได้สำหรับโควตา ครม. พรรคพลังประชารัฐ ที่คราวนี้บุคคลเบื้องหลังการเมืองคนสำคัญ อยู่ในหลายเหตุการณ์รัฐบาลประยุทธ์ อย่าง “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมานั่ง รองนายกฯ ควบ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาฯ พรรคพลังประชารัฐ คราวนี้ได้กลับมานั่งกระทรวงเดิม คือกระทรวงเกษตรฯ ก่อนเกิดเหตุการณ์กบฏประยุทธ์ ครั้งนี้ เขาได้ขยับเป็น รมว.เกษตรฯ ขณะที่ “สันติ พร้อมพัฒน์” มานั่ง รมช.สาธารณสุข ส่วน “ไผ่ ลิกค์” มือขวาของ “ร.อ.ธรรมนัส” ได้มาเป็น รมช.พาณิชย์

รทสช.เหนียวแน่น พลังงาน

สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 อยู่หน้าฉาก แต่หลังฉากปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อนี้ยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพรรค ย้อนกลับไปในการฟอร์มรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ตำแหน่งที่ผันผวน ปั่นป่วนที่สุดคือ รมว.พลังงาน กว่าจะลงตัวที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” จากกลุ่ม 4 กุมาร

แต่หลังจากกลุ่ม 4 กุมารถูกเขี่ยพ้นพรรคพลังประชารัฐ จากนั้นโควตา รมว.พลังงาน ก็ตกมาอยู่ในมือโควตากลางของ พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอด แม้ว่าการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจ พรรครวมไทยสร้างชาติ มาเป็นพรรคตัวประกอบในรัฐบาลเพื่อไทย แต่เก้าอี้พลังงานยังไม่กระเด็นไปจากมือ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน ส่วน “อนุชา นาคาศัย” ที่มีลูกพี่ใหญ่ต่างพรรค อย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ได้เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์

ขณะที่ 2 พรรคระดับ 10 เสียงอย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา ส่งชื่อ “วราวุธ ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรค เป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนพรรคประชาชาติ ก็เสนอ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” หัวหน้าพรรค เป็น รมว.ยุติธรรม แบบ “นอนมา” ไม่เปลี่ยนแปลง

ไทม์ไลน์ ครม.ใหม่

ตามการคาดการณ์ของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหอกกฎหมายรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดการณ์จากประสบการณ์ เปิดไทม์ไลน์ที่รัฐบาลใหม่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ไว้ว่า

หลังจากมีนายกฯ จะตั้งคณะรัฐมนตรี กว่าจะได้รายชื่อน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคงต้องใช้เวลาตรวจสอบประวัติอีก 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวายสัตย์ฯ อีก 1 สัปดาห์ รวมเป็น 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นน่าจะได้คณะรัฐมนตรี

การตั้ง ครม.พรรคเพื่อไทย เหมือนถูกรุมล้อมด้วยพรรคร่วมรัฐบาล แต่อีกด้าน เพื่อไทยก็รัฐมนตรีของตัวเองไปประกบ-สอดแนม ในกระทรวงสำคัญ เช่น มหาดไทย