ชัยธวัช ฟาด รัฐบาลเศรษฐา 1 กลายเป็นส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์

ชัยธวัช ถามรัฐบาลส่งพลเรือนมานั่งเป็น รมว.กลาโหม เป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ว่า รัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่ง จะไม่แตะกองทัพ นโยบายการทหาร นโยบายความมั่นคง

วันที่ 12 กันยายน 2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่ 2 โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า หลายคนอาจจะมีความหวังว่ามีรัฐบาลใหม่แล้วอะไร ๆ ก็จะดีขึ้น และที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นผลพวงของปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตลอด 2 ทศวรรษ เมื่อผมอ่านและฟังคำแถลงนโยบายทางด้านการเมืองของรัฐบาลคิดเห็นอย่างไรครับ

ชัยธวัช ถาม ส่งพลเรือนมานั่งจะไม่แตะกองทัพ ?

ชัยธวัชกล่าวว่า นโยบายเกี่ยวกับกองทัพเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัญหาเรื่องรัฐประหารเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย พร้อมย้ำว่ากองทัพกลายเป็นกระดูกสันหลังของระบอบอำนาจนิยมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่แก้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร การปฏิรูปการเมืองที่ปราศจากการปฏิรูปกองทัพ จะทำให้ไม่มีหลักประกันในการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย

สังคมไทยเคยพลาดโอกาสสำคัญในการปฏิรูปกองทัพมาแล้ว หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 เพราะตอนนั้นเราต่างคิดว่าเมื่อทหารที่ลุกมารัฐประหารถูกประชาชนขับไล่กลับเข้ากองทัพไปแล้ว กองทัพจะเลิกยุ่งกับการเมืองไปเองโดยอัตโนมัติ แม้จะไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด แต่มาถึงวันนี้เราก็ทราบกันดีว่าความคิดนั้นผิด แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ในรัฐบาลใหม่ชุดนี้เรามีรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกที่เป็นพลเรือนและไม่ใช่นายกฯ หมายความว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่พลเรือนอยู่เหนือกองทัพใช่หรือไม่

หรือเอาเข้าจริงแล้ว การส่งพลเรือนมานั่งเป็น รมว.กลาโหมครั้งนี้ จะกลับกลายเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ว่า รัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่ง จะไม่แตะกองทัพ นโยบายการทหาร นโยบายความมั่นคง จะคงอยู่ในมือของกองทัพ รวมถึงเครือข่ายรัฐประหารต่อไป

ชัยธวัช ตุลาธน

ลดกับเลิกเกณฑ์ทหารนั้นต่างกัน

ชัยธวัชกล่าวว่า รมว.กลาโหมเคยบอกว่าจะค่อย ๆ ลดสัดส่วนการบังคับเกณฑ์ทหาร และเพิ่มสัดส่วนคนที่สมัครใจมาเป็นทหารเกณฑ์ พร้อมเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เป็นแบบสร้างสรรค์ แต่สรุปแล้วจะแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือไม่ ซึ่งเขามองว่าประเด็นนี้ต้องตอบคำถามให้ชัดเจน เพราะการลดกับเลิกนั้นต่างกัน

นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า การยกเลิกการเกณฑ์ทหารก็คลุมเครือ เพราะการเลิกกับการลดการเกณฑ์ทหารมันต่างกัน ถ้านโยบายของรัฐบาลคือลดการเกณฑ์ทหารเท่านั้นมันจะมีอะไรใหม่ เพราะหลายปีมานี้กองทัพก็ดำเนินการอยู่แล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม สภากลาโหมก็ประกาศแผนการปฏิรูป เนื้อหาสาระเดียวกัน แถม พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำในที่ประชุมครั้งนั้นด้วยว่า นี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไป นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ยินไหม

พล.อ.ประยุทธ์มีแผนปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว คนอื่นไม่เกี่ยว แบบนี้รัฐบาลใหม่จะให้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปนั่งเป็นแค่โฆษกกองทัพหรือ นี่ยังไม่รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ จะปล่อยให้มีไอโอกองทัพอีกหรือไม่

ชัยธวัชกล่าวอีกว่า สุทินอาจบอกว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในที่สุด แต่ที่ไม่สามารถยกเลิกได้ทันที เพราะกลัวว่าจะไม่มีคนมาสมัครเป็นพลทหารพอกับจำนวนกำลังพลที่ต้องการ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลมีเป้าหมายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดภายในกี่ปี

จริง ๆ การกำหนดนโยบายในเรื่องนี้ ควรจะเริ่มจากว่า จำนวนกำลังพลที่เราต้องการจริง ๆ คือเท่าไหร่กันแน่ ปัจจุบันกองทัพเกณฑ์ทหารปีละ 90,000 นาย รุ่นหนึ่งประจำการ 2 ปี เท่ากับเรามีพลทหารประจำการในแต่ละปีรวมทั้งสิ้น 180,000 นาย รวมแล้วมีทหารประจำการที่สมัครใจในแต่ละปี 70,000 นายโดยประมาณ แล้ว รมว.กลาโหมตอบได้ไหมว่าเราต้องการจำนวนมากขนาดนี้ไปสู้รบกับใคร

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะโจทย์ทางการทหารเปลี่ยนไปแล้ว กองทัพขนาดใหญ่ กองทัพหลายประเทศปฏิรูปกองทัพให้เล็กลงหลายเท่า แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวโน้มเปลี่ยนเป็นทหารมืออาชีพที่สมัครเข้ามาและมีกำลังขนาดเล็กลง แต่กองทัพไทยกลับมีขนาดเพิ่มขึ้น

ชัยธวัช ตุลาธน

ชัยธวัชกล่าวอีกว่า ความชัดเจนเรื่องนโยบายการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อกำลังพลลดลง จำนวนผู้หมวด ผู้การ และนายพลจะลดลงไปด้วย การยกเลิกกำลังพลจึงเป็นการปฏิรูปกำลังพลทั้งระบบ ทั้งในแง่การลดขนาด การสร้างทหารอาชีพ และการยกเครื่องให้กองทัพทันสมัย สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21

นายชัยธวัชกล่าวว่า การยกเลิกเกณฑ์ไม่ใช่ลด จะถือเป็นจุดปฏิรูปที่สำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อกำลังพลลด จำนวนผู้หมวด ผู้การ ก็จะถูกลดขนาดไปด้วย พร้อมตั้งคำถามว่าจะมีการทบทวนการมีอยู่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.หรือไม่ เพราะถูกฟื้นขึ้นมาหลังรัฐประหารปี’49 ทำให้รัฐทหารเข้ามาซ้อนทับรัฐราชการอีกชั้น เกิดเป็นงบฯลับจำนวนมหาศาลที่ตรวจสอบไม่ได้

ขณะเดียวกัน เรื่องเงินนอกงบประมาณก็แทบไม่มีรายงานว่าไปทำอะไร นี่มันไม่ใช่นโยบายการพัฒนากองทัพร่วมกัน หรือไม่แม้แต่นโยบายปฏิรูปกองทัพ แต่มันคือนโยบายเขตทหารห้ามเข้าครับ

นายชัยธวัชกล่าวว่า การแถลงนโยบายในครั้งนี้ ชวนให้คิดว่า รัฐบาลเศรษฐา 1 เป็นส่วนต่อขยายของรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อเหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่แบบเก่า นี่คือนโยบายรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความสยบยอม หรือไม่ก็สมยอม ระหว่างชนชั้นนำการเมือง เศรษฐกิจ จารีต เพื่อรักษาระบบเดิมเอาไว้ ที่ไม่ใช่ประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด แต่คือทหารมีอำนาจเหนือสังคม รัฐราชการรวมศูนย์ กฎหมายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ความมั่นคงอยู่เหนือพลเรือน ทุนใหญ่มีอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจ