ลุ้น แพทองธาร หัวหน้าเพื่อไทย ในภารกิจรื้อพรรค-จัดทัพใหม่สู้ก้าวไกล

แพทองธาร
คอลัมน์ : Politics policy people forum

27 ตุลาคม 2566 พรรคเพื่อไทยประชุมวิสามัญใหญ่พรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

การเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ มีเพียงชื่อเดียวที่ “นอนมา” คือ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่จะเพิ่มตำแหน่งเป็น “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ชนิดไม่มีใครแข่ง

อ่านจากปฏิกิริยานักการเมืองทุกสาย ทุกมุ้ง ทั้งบ้านใหญ่จันทร์ส่องหล้า สายตรงอดีตนายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต่างออกมาชูชื่อเดียว “แพทองธาร” แบบไม่แตกแถว

ไม่เว้นแม้กระทั่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 “เศรษฐา ทวีสิน” กล่าวว่า ได้เห็นศักยภาพและความตั้งใจจริงของ น.ส.แพทองธาร ว่ามีประสบการณ์ด้านการเมือง มีความสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงสามารถโน้มน้าวจิตใจคนได้ มีความเป็นผู้นำสูง เชื่อว่า น.ส.แพทองธารมีความเหมาะสมเต็มที่

พรรคป่วน หลังเป็นรัฐบาล

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเข้าสู่อำนาจ จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และกำเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไว้ในมือ แต่ด้วยความที่เป็น “รัฐบาลผสม” 11 พรรค 314 เสียง ทำให้ตำแหน่งทางการเมือง ทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีมากกว่าจำนวนคนที่ต้องการจะเป็น

ดังนั้น หลังการจัดตั้งรัฐบาล รอยร้าวในพรรคเพื่อไทยจึงเกิดขึ้นเงียบ ๆ แต่รับรู้กันทั้งพรรคเพื่อไทย เพราะนักการเมืองสายตรงต่างได้รับการปูนบำเหน็จเป็นรัฐมนตรีและข้าราชการการเมือง ทั้งสายตรง รพ.ตำรวจ สายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า สายตรงนายกฯ ปู แม้แต่สายตรงนายกฯ

เศรษฐา จึงมีที่ปรึกษานายกฯ และที่ปรึกษาของนายกฯ รวมกันเกิน 1 โหลไปแล้ว

สส.ทั้งสอบได้และสอบตกในพรรคบางส่วนต้องเก็บความเจ็บปวด สส.สอบได้ที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ บางรายหวังอยากได้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการสามัญ แต่ต้องชวดเก้าอี้ หรือถูกจับไปนั่งในกรรมาธิการที่ไม่ต้องการ ขณะที่บางส่วนก็รอการปรับคณะรัฐมนตรี รอให้แต้มบุญหล่นทับ หลังจากรอบแรกส่วนใหญ่เป็นโควตาสายตรง

นอกเหนือจากนั้น ในพรรคเพื่อไทยยังมีเรื่องบางเรื่องให้ “แพทองธาร” ต้อง “สะสาง” เพราะหลังจากได้เป็นรัฐบาล ยังมีเสียงบ่นจาก สส.ในพื้นที่ว่า ยังไม่ได้รับการดูแลจากพรรคเท่าที่ควร แม้ว่าจะได้เป็นรัฐบาล

หากเปรียบเทียบกับพรรคใหญ่คู่แข่ง อย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่มีงบพิเศษให้ สส.เพิ่มให้นอกเหนือจากเงินเดือน แต่พรรคเพื่อไทยได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และยังต้องออกค่าใช้จ่ายในการต้อนรับขบวนผู้บริหารประเทศเวลาลงพื้นที่

เสียงสะท้อน-เรื่องวุ่น ๆ ภายในพรรคเพื่อไทย เป็นภาระอันหนักอึ้งของ “แพทองธาร” ถ้าได้เป็นหัวหน้าพรรค เพราะต้องมาคุม เสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่กำลังกลืนความเจ็บปวด

ปรับขบวนสู้ก้าวไกล

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยยังต้องสู้รบปรบมือกับ “คู่แข่ง” ที่สำคัญคือ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเปลี่ยนหัวหน้าพรรคมาเป็น “ชัยธวัช ตุลาธน” เป็นจังหวะที่ “คลื่นลูกใหม่” ทางการเมือง 2 คลื่นต้องมาปะทะกัน

การเปลี่ยนแปลงภายในเพื่อไทยครั้งนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนแบบ “สายตรง” มาคุม แต่เป็นระดับ “ดีเอ็นเอ” เจ้าของพรรคมาคุมพรรค ปรับลุกให้ทันสมัย ดึงใจโหวตเตอร์รุ่นใหม่

เข้าแผน “เศรษฐา” บริหารประเทศ ประจำการทำเนียบ ส่วน “แพทองธาร” มารีโนเวตพรรค ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมือผู้บริหารพรรคเรียบร้อย

4 ปีนี้อาจเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นหน้า-เห็นหลังในพรรคเพื่อไทยชัดขึ้น ว่าจะพลิกโฉมอย่างไร

ย้อนอดีตหัวหน้าเพื่อไทย

ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยมีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 7 คน คือ

1.นายบัณจงศักดิ์ วงศ์รัตนวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนแรก ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “หัวหน้าเฉพาะกิจ” เพราะใช้ชื่อไปจดทะเบียนตั้งพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

มีความใกล้ชิดกับ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนที่ 5 ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เคยเป็นผู้มีความประสงค์ลงสมัครเลือกตั้งเชียงใหม่ เขต 6 ของพรรคเพื่อไทย แต่พอถึงคราวลงแข่งจริง เป็นเพียงผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยลำดับ 58

2.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในช่วงเซตติ้งพรรคเพื่อไทยให้เป็นรูป-ร่าง หลังพรรคพลังประชาชน ส่อแววว่าจะถูกยุบพรรค จากพิษใบแดงของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จึงต้องเตรียมพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคสำรอง

3.ยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ลงสนามการเมือง ก็สวมหัวโขนเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพียงไม่กี่วันหลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ เขานำทัพลงเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 มีบทบาทเป็น รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประหนึ่ง “มือขวา” อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มี “วิบากกรรม” จากกรณีที่ดิอัลไพน์ ตั้งแต่ครั้งยังรับราชการในกระทรวงมหาดไทย เขาจึงตัดสินใจ “ลาออก”

4.จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แทน “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” และสืบต่อเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ด้วยอีกตำแหน่ง ทว่า ในชั่วโมงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ขณะที่เขาตรวจราชการอยู่แถบอีสาน เมื่อรู้ข่าวเขาลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกากับลูก ๆ จนถึงปัจจุบัน

5.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหนึ่งในหัวหน้าพรรคประเภท “ขัดตาทัพ” ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อจาก “จารุพงศ์” พาพรรคเพื่อไทย ช่วงที่พรรคการเมืองถูกสั่งให้หยุดกิจกรรม พล.ต.ท.วิโรจน์ ถือเป็นคนที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจ

6.สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคแทน พล.ต.ท.วิโรจน์ หลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับว่า หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด แต่ไม่มีสมาชิกเป็นประธาน รองประธานสภา รัฐมนตรี จะต้องทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

“สมพงษ์” จึงต้องรับบทหัวหน้าพรรค เพื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก “พล.ต.ท.วิโรจน์” ลงสมัคร สส.บัญชีรายชื่อเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว “พล.ต.ท.วิโรจน์” ที่ไม่ได้เป็น สส.จึงไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้

7.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน “สมพงษ์” เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการรีแบรนด์พรรค ด้วยความที่เป็น “ดาวสภา” ลีลาการพูด ฝีมือในสภาไม่ธรรมดา จึงถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

และ 27 ตุลาคม 2566 หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนที่ 8 จะปรากฏตัว