5 เหตุการณ์ผีเสื้อขยับปีก 66 สะเทือนการเมืองไทย ปี’67

การเมืองไทย ในปี 2566 เป็นปีแห่งการเดิมพันอำนาจ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือน “ผีเสือขยับปีก” ที่ส่งผลต่อการเมืองไทยในปี 2567

เพราะตอนเริ่มต้นปี เป็นปีที่ “นับถอยหลัง” การมีอยู่ของระบอบประยุทธ์ ที่อยู่โยงยาวนานมา 9 ปี

ท่าทีของผู้นำในระบอบ คือขุนพล 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในวันนั้น ตัดสินใจร่วมขบวนพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

แยกทางกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่สวมหัวโขนหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เลือกวางแผนนับถอยหลังเกษียณจากอำนาจ

การเมืองชิงชัยระหว่างขั้วอำนาจเก่า ที่นำโดย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ กับ ขั้วที่เรียกตัวเองว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

ที่สุดแล้ว ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม พรรคฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เป็นใจให้ฝ่ายขั้วอำนาจเก่า

แต่กลายเป็นว่า พรรคก้าวไกล สร้างเซอร์ไพรส์ ได้เป็นสมัยที่ 2 ได้ที่นั่ง สส.ในสภา ถึง 151  ที่นั่ง มากกว่าการเลือกตั้งปี 2562 เกือบสองเท่า นำมาสู่จุดพลิกผันการเมืองมากมาย

1.เลือกตั้งพลิกล็อก

เพราะผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส. รวม 151 คน พรรคเพื่อไทย 141 คน พรรค

ภูมิใจไทย 71 คน พรรคพลังประชารัฐ 40 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน พรรคประชาชาติ 9 คน พรรคไทยสร้างไทย 6 คน พรรคชาติพัฒนากล้า 2 คน พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 คน

ผลการเลือกตั้งทำให้บทบาททางการเมืองของ 3 ป.ถึงจุดสิ้นสุด

พล.อ.ประยุทธ์ รับบทบาทใหม่ ไม่อาจยุ่งเกี่ยวการเมืองได้

พล.อ.ประวิตร หลบหลังฉาก บารมีไม่มากเท่าเดิม

พล.อ.อนุพงษ์ เกษียณการเมืองถาวร

2.ก้าวไกล ชนะ พิธา เป็นได้แค่นายกฯ โพล

สลับฉากกลับไปก่อนการเลือกตั้ง ประมาณ 2 สัปดาห์ ผลโพลต่างๆ ออกมาทำนายว่า ก้าวไกล ไล่บี้ สูสีกับพรรคเพื่อไทย  และเสียงโหวตจากโพล ยกให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ ก้าวไกล เป็นนายกฯ คนที่ 30

แล้วผลการเลือกตั้งพลิกฟ้า 14 พฤษภาคม ก็ออกมา ชนิดพลิกฟ้า พลิกฝน พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งได้จริงๆ

หลังเลือกตั้ง ก้าวไกล ดีลหลังบ้านกับ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่บ้าน “สุริยะ” โดยก้าวไกล ส่งขุนพลไปเจรจา คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยะบุตร แสงกนกกุล ชัยธวัช ตุลาธน

เป็นที่มาการประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค 313 เสียง ในขั้วฝ่ายค้านเดิมในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย)  นำโดย พรรคก้าวไกล 152 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง มีการเซ็นเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันทำงาน

ทว่า เสือ 2 ตัว อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ฉันใด เพื่อไทย กับ ก้าวไกลก็อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ฉนันนั้น เมื่อพรรคก้าวไกล รวบรวมเสียงยข้างมากได้ 313 เสียง ทว่า ยังไม่พ้นด่านการลงมติในรัฐสภา เพราะต้องได้เสียงในรัฐสภา เกิน 376 เสียง จึงจะได้เป็นนายกฯ

ปรากฏว่า ก้าวไกล มีชนักติดหลังเรื่อง แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้ง “พิธา” ยังถูกร้องเรื่องถือหุ้นไอทีวี การโหวตนายกฯ ในสภาครั้งแรก เสียงโหวตพิธาไม่ถึง ท่ามกลาง ข่าวสะพัดว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมไปจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิม ทิ้งพรรคก้าวไกล

พิธา จึงเป็นได้เพียง นายกฯ โพล ไม่ใช่นายกฯ จริง แม้ “ธนาธร” จะบินไปเจรจากับ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้นำสูงสุดของพรรคเพื่อไทย ที่เกาะฮ่องกง แนบเงื่อนไขว่า จะยอมยกเสียงก้าวไกล 151 เสียง โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย โดยเงื่อนไขเพียงว่า ขอให้ไม่จับมือกับพรรค 2 ลุงก็พอ..แต่ไร้ผล

ขณะเดียวกัน เกมชิงเกาอี้ประธานรัฐสภาก็มีส่วนสำคัญ ที่ตอนแรกก้าวไกล กับ เพื่อไทย จองเก้าอี้ตัวนี้ไว้ ซึ่งตำแหน่งประธานรัฐสภามีส่วนสำคัญในการโหวตนายกฯ ทว่า พรรคเพื่อไทย เดินเกมบีบจนพรรคก้าวไกลยอมจำนน โดยพรรคเพื่อไทย วาง วันมูหะหมัดนอร์ มะทา คนของพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคพี่-น้อง ของพรรคเพื่อไทย ให้มาเป็นประธานสภา

3.เกมเพื่อไทย หักเหลี่ยมโหด

เหมือนฝ่ายที่ไม่อยากให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล วางแผนในการโหวตนายกฯ รอบ 2 เป็นอย่างดี

“พิธา” ไม่สามรถไปถึงดวงดาวในการโหวตนายกฯ รอบ 2 ได้ก็เพราะ สว.ที่เป็น “คู่อริ” ของพรรคก้าวไกลเปิดเกมเขี่ยลูก-หยิบเกมข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 มาปิดประตูพิธาว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน”

“เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”

เกมนี้พรรคเพื่อไทยก็อ่านทะลุ และรู้อยู่ลึก ๆ จะถูกนำมาใช้เพื่อ “ปิดช่อง” เสนอชื่อ “พิธา” รอบสอง

และแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะสื่อสารผ่านสาธารณะต่อสู้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เรื่องการโหวตนายกฯ ไม่มีกำหนดว่า “ห้ามโหวตชื่อซ้ำ” จะโหวต “พิธา” กี่รอบก็ได้ อีกทั้งยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญใหญ่กว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จึงต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ทว่า ดุลพินิจว่าจะโหวตญัตติเดิมซ้ำได้ – ไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เป็นของประธานรัฐสภา ที่พรรคเพื่อไทยส่งคนไปครอบครอง อีกทั้งที่ประชุมรัฐสภา ได้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

สุดท้ายวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ญัตติเสนอชื่อนายพิธาเป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐธรรมนูญ ข้อ 41 ด้วยเสียง 395 ต่อ 312 งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน 1 จากจำนวนผู้ลงมติ 715 คน

ปิดประตูพิธา เป็นนายกฯ

4.นายกฯ ตัวจริงคือ เศรษฐา

เมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ต้อง “จำใจ” ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาล โดยรู้ทั้งรู้ว่า พรรคเพื่อไทย ย้ายขั้วข้างไปจับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรค่วมรัฐบาลประยุทธ์เดิม โดยพรรคก้าวไกลจะมีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้าน

ประเทศไทยต้องโหวตนายกฯ กันถึง 3 ครั้ง และครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย คือ เศรษฐา ทวีสิน โดยพรรคเพื่อไทยได้รวบรวมเสียงข้างมาก 11 พรรค  314 เสียง ที่ปราศจากพรรคก้าวไกล

ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ,พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาชาติ, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคพลังสังคมใหม่, พรรคท้องที่ไทย และพรรคใหม่

โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 โดยบุคคลที่เสนอชื่อเศรษฐา คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยขณะนั้น โดยมี สส.ให้การรับรอง 287 คน ถือว่า ถูกต้องตามเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 50 คน โดยไม่มีผู้เสนอชื่อคนอื่นเพิ่มเติม จึงมี นายเศรษฐา ถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียว

และ “เศรษฐา” ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 482 ต่อ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง เป็นนายกฯ คนที่ 30 โดยแกนนำเจรจาจัดตั้งรัฐบาลรายหนึ่ง ยอมรับว่า การรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลกว่าจะเสด็จน้ำต้องรอจนเช้าวันโหวตนายกฯ

เพราะเสียงโหวตนายกฯ ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะท่าทีบางปีกของ สว. ที่เชื่อมต่อกับผู้มีบารมีในพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ชัดเจน จนต้องมีการดีลลับกับพรรคประชาธิปัตย์ เอาไว้เป็นแผนสำรอง เป็นเหตุผลที่มี สส.พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน โหวตเห็นชอบ เศรษฐา เป็นนายกฯ

เมื่อของฟรีไม่มีในโลก การโหวตทางการเมืองก็เช่นกัน จึงต้องจับตาบทบาทพรรคประชาธิปัตย์ในการเมือง ปี 2567

5.อดีตนายกฯ ทักษิณ กลับบ้าน

ในวันเดียวกับวันโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ที่สนามบินดอนเมือง อีกฟากหนึ่งของกรุงเทพมหานคร “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี แลนดิ้งเมืองไทย คืนสู่แผ่นดินเกิดอีกครั้ง หลังจากต้องเดินทางไกลตั้งแต่ปี 2551 และยอมรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เพียงแต่คืนแรกของการเป็น “นักโทษ” ปรากฏว่า “ทักษิณ” ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพราะมีอาการแน่นหน้าอก ความดันสูง ออกซิเจนต่ำ ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ อย่างไรก็ตาม “ทักษิณ” ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ จงรักภักดี และมีอาการป่วย ยอมรับการกระทำผิดและสำนึกในความผิด

ทว่า เวลาผ่านมากว่า 120 วัน อดีตนายกฯ คนที่ 23 ก็ยังพักรักษาตัวอยู่ที่เดิม จนถูกฝ่ายต้านพรรคเพื่อไทย เปรียบ “ทักษิณ” ว่าเป็นนักโทษเทวดา – นักโทษอภิสิทธิ์ชน

ทั้ง 5 เหตุการณ์การเมืองในปี 2566 เป็นเหมือน ปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก ที่ส่งผลสะเทือนมาถึงการเมือง 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้