ครม.เบรกข้อเสนอนายกฯ ห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เสี่ยงผิดกฎ WTO

นายเศรษฐา ทวีสิน

รัฐมนตรีรุมแย้ง ไอเดีย “เศรษฐา” แบนข้าวโพดเพื่อนบ้านผิดกฎองค์การการค้าโลก

วันที่ 19 มีนาคม 2567 รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า ในการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จ.พะเยา ในช่วงวาระสั่งการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แสดงความคิดเห็นว่า ไม่อยากให้มีการนำเข้าข้าวโพดที่มีการเผาจากต่างประเทศ แต่ปรากฏว่า มีรัฐมนตรี 2-3 คน ต่างแย้งว่า ไม่สามารถทำได้ โดยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ระบุว่า

ไม่สามารถสั่งห้ามนำเข้าด้วยเหตุผลนี้ได้ เพราะจะผิดกฎองค์การการค้าโลก และการที่เราจะไปห้ามไม่ให้เขาเผา ตัวเราต้องไม่เผาด้วย หรือไม่อย่างนั้นต้องรอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดมีผลบังคับใช้ก่อนจึงจะทำได้

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้มีข้อสั่งการ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จังหวัดพะเยา ให้กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

เพื่อกำหนดให้ข้าวโพดจากต่างประเทศที่พิสูจน์ได้ว่ามีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเผาเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในประเทศโดยเด็ดขาด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 แต่ได้มีการตั้งข้อสังเกตจากที่ประชุมว่า การออกประกาศเช่นนี้จะขัดกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) เพราะถ้าประเทศไทยปฎิบัติกับประเทศคู่ค้าอย่างไร ก็ต้องปฎิบัติกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศเช่นเดียวกัน

จึงไม่สามารถดำเนินการได้ในทันทีจนกว่าพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งแล้วจะประกาศออกมาใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ภายในปีนี้เพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ด้วยกันทั้งหมด ไม่มีใครคัดค้าน

”การห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากประเทศเพื่อนบ้านจะมี กระบวนการการพิสูจน์โดยใช้ดาวเทียม ดูพิกัดการปลูกจะช่วยวินิจฉัยว่า ข้าวโพดนี้มาจากพื้นที่ปลูกที่มีการเผาหรือไม่“

สำหรับความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของไทยประมาณ 8.9 ล้านตัน แต่สามารถผลิตได้ 4.9 ล้านตัน ยังจำเป็นต้องนำเข้าอีกกว่า 3 ล้านตัน โดยนำเข้าจากประเทศบ้านประมาณ 1.6 ล้านตัน ประกอบด้วย อันดับหนึ่งจาก เมียนมา 600,000-700,000 ตัน ลาว 300,000-400,000 ตัน กัมพูชากว่า 100,000 แสนตัน ที่เหลืออีกกว่า 2 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากบราซิล