เบี้ยหวัด บำนาญ ครม.ปรับ 11,000 บาท/เดือน ใครมีสิทธิได้รับบ้าง

ธนบัตรไทย

เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ครม.ปรับเบี้ยหวัดบำนาญ 5 ประเภท 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.ใครมีสิทธิได้รับบ้างเช็กที่นี่

วันที่ 2 เมษายน 2567 ภายหลังที่นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ

เมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นจนครบ เดือนละ 11,000 บาท ใน 5 ประเภท ได้แก่ ผู้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม, ผู้รับบำนาญปกติ, ผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษ, และบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ

ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยคาดว่าการปรับขึ้น เบี้ยหวัดบำนาญจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่ใช้จากงบฯกลางเพิ่มขึ้น 2.33 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 27.96 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน

เบี้ยหวัดคืออะไร

“เบี้ยหวัด” หมายถึงเงินตอบแทนความชอบที่ให้แก่ ทหารที่ออกจากประจำการซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม เบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม คือ เงินตอบแทนความชอบที่จ่ายเป็นรายเดือน ให้แก่นายทหารสัญญาบัตรที่เป็นนายทหารกองหนุน กับนายทหารประทวนและพลทหารประจำการ ที่ออกจากราชการยังไม่พ้นกองหนุนขั้นที่ 2

ส่วนข้าราชการฝ้ายพลเรื่อนรวมทั้งข้าราชการกลาโหมพลเรือนและทหารหญิงไม่มีสิทธิรับ เบี้ยหวัดเพราะไม่ได้เป็นทหารกองหนุน ผู้ที่รับเบี้ยหวัดได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ เช่นมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในเรื่อง ค่าเล่าเรียนหรือค่าบำรุงการศึกษาบุตร ค่ารักษาพยาบาลและเมื่อถึงแก่กรรมทายาทยังมีสิทธิได้รับ เงินช่วยพิเศษเท่ากับเบี้ยหวัด 3 เดือน และได้รับบำเหน็จตกทอดด้วย

ทหารที่มีสิทธิรับเบี้ยหวัด

เบี้ยหวัดจ่ายให้เฉพาะข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่เป็นทหาร และรับเงินเดือนในอัตราประจำของกระทรวงกลาโหม เป็นสิทธิของกระทรวงกลาโหมที่จะให้หรือไม่ให้หรือเมื่อให้แล้วจะงดเสียก็ได้ ถ้าผู้นั้นมีความประพฤติเสียหาย หรือขัดต่อข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด ตามข้อบังคับ กระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัดกำหนดว่าทหารที่มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดนั้นได้แก่

นายทหารสัญญาบัตร

1.นายทหารสัญญาบัตร ซึ่งมีเวลาราชการเป็นข้าราชการไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์ (รวมทั้งเวลาราชการทวีคูณด้วย) แล้วออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน ตามกฎหมายว่าด้วย การรับราชการทหาร (ไม่นับเวลาขณะที่เป็นนักเรียนทหาร)

2.นายทหารสัญญาบัตรนอกประจำการ ที่ไม่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ภายหลังจากทางราชการสั่งให้กลับเข้ารับราชการประจำการใหม่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี แล้วออกจาก ราชการเป็นนายทหารกองหนุน

นายทหารประทวนและพลทหารประจำการ

นายทหารประทวน และพลทหารซึ่งรับราชการในกองประจำการครบกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารแล้ว เมื่อรับราชการประจำการต่อไปไม่น้อยกว่า 1 ปี แล้ว ออกจากประจำการและเมื่อออกจากประจำการนั้นยังไม่พ้นกองหนุนชั้นที่ 2 ตามกฎหมายว่าด้วย

การรับราชการทหารตามหลักเกณฑ์นี้ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 3 ประการ

1.รับราชการในกองประจำการครบกำหนดตามกฎหมายว่าด้วย การรับราชการทหาร ซึ่งตามปกติเป็นเวลา – ปีบริบูรณ์ เว้นแต่รายที่ได้รับการผ่อนผันให้ลดเวลารับ ราชการก็ให้เป็นไปตามนั้น ส่วนผู้ยืดการปลดจะนับเวลาราชการให้จนถึงวันสุดท้ายก่อนปลดปล่อย

2.รับราชการประจำการอีกไม่น้อยกว่า ๑ ปี ทั้งนี้ให้นับเฉพาะเวลา

ราชการปกติเท่านั้น (ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ)

3.เมื่อออกจากราชการนั้นยังอยู่ในกองหนุนชั้นที่ 1. หรือชั้นที่ 2

4.นายทหารประทวนและพลทหารกองหนุนซึ่งไม่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ภายหลังทางราชการสั่งให้กลับเข้ารับราชการประจำการใหม่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แล้วออกจาก ราชการ เมื่อออกจากราชการนั้นยังไม่พ้นกองหนุนชั้นที่ ๒ ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

5.ข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่ได้รับการแต่งตั้งยศเป็นนายทหารประทวน ประจำการแล้วออกจากราชการ ก่อนออกจากประจำการต้องรับราชการให้ครบกำหนดตามกฎหมาย ว่าด้วยการรับราชการทหาร และต้องรับราชการประจำการต่อไปไม่น้อยกว่า ๑ ปี และเมื่อออกจาก ประจำการมีอายุไม่เกิน 39 ปีบริบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 3 ประการ คือ

1.รับราชการในกองประจำการครบกำหนดตามกฎหมายว่าด้วย การรับราชการทหารคือ 2 ปีบริบูรณ์

2.รับราชการประจำการต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยนับเฉพาะ เวลาราชการปกติเท่านั้น (ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ)

3.เมื่อออกจากราชการนั้นอายุไม่เกิน 39ปีบริบูรณ์

บำนาญ คืออะไร

“บำเหน็จบำนาญ” ตามพจนานุกรมอธิบายว่าเป็นคำนาม “บำเหน็จ” หมายถึงรางวัล ค่าเหนื่อย ค่าความชอบพิเศษ เช่น ปูนบำเหน็จ เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมาซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อ ออกจากงาน

ส่วน “บำนาญ” นั้นหมายถึงเงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการหรือทำงานในองค์กร บริษัท ห้างร้าน เป็นต้นมาเป็นเวลานาน ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนจนตลอดชีวิตเมื่อออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้ความหมายดังนี้

“บำเหน็จ” เป็นเงินที่ทางราชการตอบแทนความชอบให้แก่ข้าราชการที่ออกจากราชการ โดยจ่ายให้เป็นก้อนเพียงครั้งเดียว เมื่อได้รับบำเหน็จไปแล้วเป็นอันสิ้นสุดเด็ดขาด ไม่มีสิทธิได้รับการ ช่วยเหลือประการใดจากทางราชการต่อไปอีก แม้เมื่อกลับเข้ารับราชการใหม่สามารถให้นำเวลาราชการ ตอนแรกมารวมกับเวลาราชการในครั้งหลัง เพื่อคำนวณบำเหน็จ บำนาญได้ตามมาตรา 38 วรรค 2 (พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539) ในกรณีสมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข.

“บำนาญ” เป็นเงินที่ทางราชการตอบแทนความชอบให้แก่ข้าราชการที่ออกจากราชการ จนกระทั่งถึงวันที่ถึงแก่กรรม หรือถึงวันที่ผู้รับบำนาญหมดสิทธิในการรับบำนาญโดยจ่ายเป็นรายเดือน นอกจากนี้ผู้ที่รับบำนาญยังได้รับความช่วยเหลือประการต่าง ๆ จากทางราชการ อีกด้วยเช่นกัน มีสิทธิ ได้รับความช่วยเหลือในเรื่องค่าเล่าเรียน หรือค่บำรุงการศึกษาของบุตร ค่ารักษาพยาบาล และเมื่อ ถึงแก่กรรมแล้วทายาทก็ยังมีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษเท่ากับเงินบำนาญ 3 เดือน และได้รับบำเหน็จ ตกทอดด้วย เป็นต้น

คุณสมบัติของข้าราชการที่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญ

จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1.ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนมาก่อนออกจากราชการ

2.มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นผู้ซึ่งถูกไล่ออกหรือปลดออกจากราชการเพราะมีความผิด

3.ไม่เป็นข้าราชการวิสามัญหรือลูกจ้างในขณะออกจากราชการ

4.ไม่เป็นผู้ที่รัฐบาลได้กำหนดเงินอย่างอื่นไว้ให้แทนบำเหน็จหรือบำนาญแล้ว

5.ผู้ซึ่งไม่เคยรับราชการมาก่อนแต่ได้เป็นทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร เมื่อปลดเป็นกองหนุนและได้เข้ารับราชการอีก โดยเวลารับราชการจะติดต่อกับเวลาราชการกอง ประจำการหรือไม่ก็ตามครบหนึ่งปีบริบูรณ์

เกณฑ์ได้บำเหน็จ

1.มีเวลาราชการไม่ถึง 10 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากราชการด้วยเหตุทดแทน ทุพพลภาพ เกษียณอายุ และลาออกเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์แล้ว

2.ลาออกโดยไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งและมีเวลาราชการ ครบ 10 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ไม่ถึง 25 ปีบริบูรณ์

3.ผู้มีสิทธิในบำนาญ จะขอรับบำเหน็จแทนบำนาญได้โดยการยืนยันเป็นลายลักษณ์ อักษรแล้วลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน

หมายเหตุ : คำสั่งให้ออกจากราชการต้องระบุให้ได้รับบำเหน็จ

เกณฑ์ได้บำนาญ

1.มีเวลาราชการตั้งแต่ 10 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปซึ่งออกจากราชการด้วยเหตุทดแทน ทุพพลภาพ เกษียณอายุ และลาออกเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์แล้ว

2.ลาออกโดยมีเวลาราชการตั้งแต่ ๒๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป คำสั่งให้ออกจากราชการต้องระบุให้ได้รับบำเหน็จบำนาญเพราะผู้มีสิทธิในบำนาญ จะขอรับบำเหน็จแทนได้

หมายเทตุ : คำสั่งให้ออกราชการต้องระบุให้ได้รับบำเหน็จบำนาญเพราะผู้มีสิทธิในบำนาญจะขอรับบำเหน็จแทนได้

ข้อมูล : กรมสารบรรณทหารบก