เศรษฐา ชี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ไม่เอื้อนายทุน

เศรษฐายันทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากนโยบายอสังหาฯ ระบุ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยทำกดอัตราการซื้อ ลั่นไม่อยากต่อล้อต่อเถียงปมดอกเบี้ย

วันที่ 11 กันยายน 2567 ที่ศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุ กรมทางหลวง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อนายทุนมากกว่าประชาชน เนื่องจากหลายบริษัทมีการจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้าอยู่แล้ว ว่าการเอื้อนายทุนเราต้องดูให้ครบ หลายรัฐบาลในอดีตก็มีการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง และมีการตรวจสอบได้ เพราะผ่านหลายกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อคิดเห็นจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ขอเรียนว่าเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ถ้าดูในแง่ของเศรษฐกิจโดยรวม สมุมติว่าถ้าคนซื้อบ้าน 1 หลังเขาจะซื้ออะไรบ้าง ซื้อพรม กระจก ประตู สุขภัณฑ์ แอร์ เฟอร์นิเจอร์ และอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลในทางที่ดี และเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ ก็ถือเป็นการออมอย่างหนึ่ง และไม่เรื่องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่คนที่จะสร้างบ้านเองก็จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย

เมื่อถามว่า ประชาชนที่จะตัดสินใจซื้อจะทำได้ยากหรือไม่ เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่เช่นเดิม นายกฯ กล่าวว่า “ถือว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่กดกำลังซื้ออยู่และไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง เพราะคิดว่าจุดยืนของผมเรื่องการลดดอกเบี้ยชัดเจนแล้ว เดี๋ยวเขาจะหาว่าผมไปกดดันผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก เพราะท่านมีความเป็นอิสระ แต่ก็ฝากไว้แล้วกันว่าความเป็นอิสระไม่ใช่ความอิสระจากความลำบากของประชาชน ท่านต้องคำนึงถึงความลำบากของประชาชนด้วย”

วันนี้ผมไม่ได้กดดันอะไรแล้ว และเมื่อผลที่ออกมา ขอให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเอง ว่าควรจะต้องลดหรือไม่ต้องลด นักวิชาการเกือบทั้งหมดตอนนี้ก็เห็นด้วยว่าต้องลดอัตราดอกเบี้ย ตนเชื่อว่าหากลดดอกเบี้ยผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจจะเป็นบวกมากกว่าลบ ไม่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น เราพึ่งการส่งออก 60% ของจีดีพี และการท่องเที่ยวอีก 20% 1 ดอลลาร์ สามารถแลกได้ 36, 37, 38 บาท ทำให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้อยู่แต่โรงแรมใหญ่ ๆ หรือเอื้อแต่เจ้าสัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการช็อปปิ้ง มารับประทานอาหาร ทุกคนได้ประโยชน์หมด ตนชื่อว่าเป็นเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว ตนไม่รู้จะพูดอย่างไรต่อไป เพราะตนพูดมาเยอะแล้ว และพูดมาพอแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคนอื่นที่จะพูดบ้าง