“ครม.สัญจร” พิจิตร-นครสวรรค์ จ่อไฟเขียวงบประมาณ 4 จว.ภาคเหนือตอนล่างหมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครสวรรค์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝายเศรษฐกิจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เดินทางตรวจราชการจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ พร้อมทั้งเตรียมประชุมครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (สัญจร) ครั้งที่ 4/2561 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นการประชุมครม.สัญจร ภาคเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชรและอุทัยธานี ทั้งนี้ มีอดีตส.ส. 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 รอต้อนรับยกเว้นอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์และครม.ได้พบปะกับประชาชนชาวนครสวรรค์ ประมาณ 1,000 คน ที่บึงสีไฟ โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวปราศัยตอนหนึ่ง ว่า วันนี้มาเพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน ว่าเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความสุขแก่ทุกๆคน แม้จะมีรายได้น้อย แต่ถ้าเรามีความสุข ทุกอย่างก็จะดี การมาพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนครั้งนี้ ไม่ได้มาหาเสียง แต่เพื่อติดตามความก้าวหน้าในแผนและโครงการต่างๆ พร้อมปรับให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ เพราะมีหลายอย่างที่ยังไม่เข้าใจตรงกัน มีทั้งโครงการที่ทำได้และยังทำไม่ได้ และอยากให้ทุกคนช่วยกันดูว่ารัฐบาลนี้ทำงานแตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า ถึงพิจิตรแม้จะเป็นเมืองเล็ก แต่น่ารัก สามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นเมืองแห่งความสุขได้ ผมมาวันนี้ในนามของนายกฯ ที่จะดูแลคนทั้งประเทศ ทุกจังหวัดวันนี้ผมใส่เสื้อประเทศไทยมา พิจิตรเป็นเมืองที่อยู่ใกล้หัวใจผมที่สุด ผมพยายามถ่ายทอดความรู้สึกทุกอย่างออกมา นายกฯคนเดียวมีสองแขนสองมือ มีหัวใจดวงเดียวทำได้หนึ่งอย่าง เก็บขยะก็ได้ชิ้นเดียว แต่ถ้าทุกคนร่วมมือกันเป็นพันๆมือ งานทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าเรามีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ เป็นกำลังใจให้กันและกัน ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะทำอะไรคนเดียว เพราะมันจะว้าเหว่ ถ้าเราเอาหัวใจมารวมกัน เอามือมาช่วยกันทุกอย่างก็จะไปได้ส่วนคนไม่ดี กฎหมายก็ดำเนินการอยู่ จึงต้องจัดระเบียบ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เราไม่ได้จะแกล้งใคร หรือแกล้งผู้มีรายได้น้อย แต่ต้องไม่ปล่อยให้บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป

“เราต้องเดินหน้าบ้านเมืองอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน การแก้ปัญหาแบบเร็วและหวือหวาจะไม่สำเร็จ แต่จะล้มกลับมาที่เดิม ในการทำงานรัฐบาลได้รับฟังเสียงจากทุกฝ่าย ไปถึงสื่อโซเชียลด้วย มาครั้งนี้ไม่ได้มาอย่างที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะสื่อบางสำนักได้พาดหัวว่า จะให้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลจะต้องดูว่ามีงบประมาณเพียงใด โครงการใดเร่งด่วนโดยต้องดูว่าโครงการเหล่านั้นตอบสนองความต้องการของประชาชนมากน้อยเพียงใด แต่ชาวพิจิตรไม่ต้องน้อยใจ เพราะอะไรเร่งด่วนก็จะได้ก่อน ไม่มีทางที่จะได้ในครั้งเดียวอยู่แล้ว”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกคนต้องรักษาสิทธิ์ตัวเอง ในช่องทางที่ถูกต้อง ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี จะตัดสินใจเชื่อหรือไม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากสงสัยต้องถามเพราะมีศูนย์ดำรงธรรม ช่องทางลุงตู่สายด่วน1111 มีอยู่แล้ว สองปีที่ผ่านมา เรื่องร้องเรียนจากศูนย์ดำรงธรรมมีมากว่า 2 ล้านเรื่อง ซึ่งช่วงนี้ลดลงไปมากหากนับจาก 4 ปีที่เข้ามา รัฐบาลได้แก้ไขในพื้นที่ไปบ้างแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ไม่มีใครสนใจ แม้วันนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องใช้เวลา เพราะปัญหาพอกมานาน แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไร

“สิ่งที่เป็นปัญหาในขณะนี้หลายคนอยากให้ใช้กฎหมายที่รุนแรง อย่าง ม.44 ซึ่งตนคิดว่าไม่สร้างสรรค์ เพราะถ้าทุกคนพร้อมใจเดินไปพร้อมกับตน ก็จะแก้ไขปัญหาได้ ยืนยันว่าไม่ได้มุ่งหวังสิ่งอื่น อย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ และตนไม่สามารถรังเกียจใครได้ เพราะทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็ต้องคุยกับทุกคนได้ ขอให้ทุกคนระมัดระวังในข้อกฎหมาย”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การอนุมัติงบให้แต่ละพื้นที่ไม่ใช่เงินนายก แต่เป็นเงินส่วนกลาง ซึ่งต้องมีมาตรการต่างๆรองรับ และงบประมาณที่จะอนุมัติให้จังหวัดพิจิตรนั้น ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ เพราะไม่ต้องการเอาเรื่องนี้มาเป็นการหาเสียง จึงไม่ต้องกังวล เพราะการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหาเสียง แม้หลายคนจะมองแต่เรื่องแบบนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ ผมไม่ต้องการซื้อเสียง แม้ไม่มีเสียงให้แม้แต่คนเดียว ก็พร้อมที่จะทำงานให้ประเทศไทย เพราะที่นี่คือประเทศไทย เป็นของคนไทยทุกคน ที่จะต้องคิดถึงจิตใจคนอื่นด้วย อย่ากินขนมโดยไม่แบ่งเพื่อน เราต้องมีความรักความสามัคคี เหมือนเอาแขนงไผ่ทุกแขนงมารวมกัน ใครๆก็หักไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องมีคุณธรรมจริยธรรม อุดมการณ์ จิตอาสา และความรับผิดชอบเคารพกฎหมายด้วย แต่ถ้าทุกคนบอกว่าอะไรก็ต้องเป็นประชาธิปไตย มันไม่ได้การเป็นประชาธิปไตยต้องมีกฎหมาย ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าไม่ไปแตะต้องหรือดื้อด้านต่อสู้ ก็จะไม่มีเรื่อง วันนี้มีหลายคนพยายามจะให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ผมไม่บอกว่าเป็นใคร ผมมาให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

ในช่วงบ่ายพล.อ.ประยุทธ์ ออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษจากสถานีรถไฟชุมแสง ตำบลชุมแสง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ไปยังสถานีรถไฟนครสวรรค์ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ) โดยมี นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ) ว่าเป็นโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายเหนือ มีระยะทาง 145 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี วงเงินลงทุน 21,688 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ที่รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการเพื่อเพิมประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่ง ช่วยเสริมสร้างโครงข่ายคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การเดินทางสู่ภาคเหนือรวดเร็วขึ้น สามารถขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมได้อย่างสะดวก กำหนดเวลาได้ จูงใจให้ประชาชนเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น การค้าขายคึกคัก และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่แนวเส้นทางพาดผ่าน ได้แก่ ช่วงที่ 1 บ้านกลับ – โคกกะเทียม ระยะทางรวมประมาณ 29 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 ท่าแค – ปากน้ำโพ ระยะทางรวม 116 กิโลเมตร มีการก่อสร้าง ปรับปรุงสะพานและทางลอดปลอดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ 78 จุด ปรับปรุงสถานีรถไฟเดิม 10 สถานี ก่อสร้างสถานีใหม่ 10 สถานี โดยก่อสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับ 23 กิโลเมตร และก่อสร้างระดับดิน 122 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่จังหวัดลพบุรีและนครสวรรค์

โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ) สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค – ปากน้ำโพ กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยเริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 – 31 มกราคม 2564 งบประมาณ 8,649,000,000 บาท (แปดพันหกร้อยสี่สิบเก้าล้านบาทถ้วน) ประกอบด้วย (1) งานก่อสร้างรางวิ่งรถไฟ ประมาณ 116 กิโลเมตร (2) งานก่อสร้างสถานีใหม่ 8 สถานี (3) งานปรับปรุงสถานีเดิม 10 สถานี (4) งานก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า 1 แห่ง (CY) (5) งานก่อสร้างโยธาและอื่น ๆ (6) งานก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ , ทางกลับรถยกระดับรูปตัวยู , ถนนลอดใต้สะพานข้ามทางรถไฟ และถนนลอดใต้สะพานทางรถไฟโดยใช้ท่อเหลี่ยม และ(7) งานก่อสร้างอาคารศูนย์ควบคุมการเดินรถ 1 แห่ง (CTC)

ซึ่งมีความมั่นใจว่าโครงการนี้จะสามารถพลิกโฉมการขนส่งทางรถไฟได้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้มีความจุของทางรถไฟเพิ่ม สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว การขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ถึง 30% เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งของประเทศ และลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้า บริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางและขนส่ง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งธุรกิจ การค้า การลงทุน เป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจการค้าและโลจิสติกส์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในภูมิภาค ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้อย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การพัฒนารถไฟไทยสู่โครงข่ายหลักของประเทศมีความสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งด้านการเดินทางและขนส่งที่มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด กำหนดเวลาได้ และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร้รอยต่อด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง เป็นส่วนสำคัญของการหนุนนำเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข นำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ทั้งนี้ รถไฟทางคู่เส้นทางช่วงลพบุรี-ปากนํ้าโพ เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ รูปแบบการพัฒนาทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทางขนานไปกับทางรถไฟเดิม เพื่อเร่งยกระดับให้บริการโลจิสติกส์สู่พื้นที่ภาคเหนือ ในส่วนของการออกแบบก่อสร้างสถานียังคงเอกลักษณ์ท้องถิ่นเป็นหลัก มีการนำสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อให้เกิดความสวยงามและกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศ ผสมผสานกับความทันสมัยและความคิดสร้างสรรค์ทั้งสถานีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เน้นความปลอดภัย ง่ายต่อการขนส่ง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันเพื่อสนับสนุนการเดินทางของประชาชน และการคมนาคมขนส่งของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ และมีการอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟเดิมทุกสถานี โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2565

ต่อมาในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังการบรรยายสรุปการปรับปรุงและพัฒนาบึงบอระเพ็ด โดยมีนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน บรรยายสรุปผลการดำเนินงานและการพัฒนาบึงบอระเพ็ดว่า เนื่องจากพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งเพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค และการประมง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ และตะกอนสะสมอีกด้วย กรมชลประทานจึงมีแผนพัฒนาบึงบอระเพ็ด โดยมีแผนงานสำรวจและจัดทำแผนที่ การขุดลอกตะกอนในบึง ขุดคลองดักตะกอนแนวขอบบึง ขุดบึงบอระเพ็ดลักษณะเป็น Deep Pool ปรับปรุงคลองบอระเพ็ด เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักโดยปรับปรุงฝายเดิมเป็นฝายพับได้ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ ทั้งนี้ คณะกรรมการฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มียุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาการบุกรุก และการใช้ประโยชน์ในบึงบอระเพ็ด 2) ยุทธศาสตร์ด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการน้ำ และ 4) ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารขับเคลื่อนแบบบูรณาการ

ภายหลังจากรับฟังการบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มีการพัฒนาบึงบอระเพ็ดอย่างบูรณาการ แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ และคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ คำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ประสานกับคณะกรรมการฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมกับเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุก การใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน และการเพิ่มพื้นที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำด้วย

บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ 132,737 ไร่ อยู่ในพื้นที่สามอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง โดยกรมชลประทานวางแผนโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการออกแบบคลองดักตะกอนและจุดทิ้งดินเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ นอกจากนี้ บึงบอระเพ็ดยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ อุดมด้วยพืชและสัตว์นานาชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นถิ่นอาศัยหากินสร้างรังวางไข่ของนกนานาชนิด ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์มีการพิจารณารูปแบบการพัฒนาอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยการกำหนดขอบเขตควบคุมและพัฒนาบึง ฟื้นฟูและปรับปรุงให้เป็นแก้มลิงของประเทศ พัฒนาเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำจืดโดยการส่งเสริม วิจัย พัฒนาและนำนวัตกรรมมาใช้ รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ครบวงจร และมีระบบบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน

สำหรับโครงการและงบประมาณจากการเสนอของภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าจังหวัดและสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 6 ด้าน ได้แก่ 1. ส่งเสริมการวิจัย และการเกษตรโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) หรือ ไบโอฮับ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะนครสวรรค์และกำแพงเพชร 2. พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4. พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 5. พัฒนาคุณภาพชีวิต และ 6. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย

อาทิ โครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี 121 โครงการ ประกอบไปด้วย 1. โครงการภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าข้าวและสินค้าเกษตร 90 โครงการ งบ 1,714,488,000 บาท และ 2. โครงการภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และวัฒนธรรม 31 โครงการ งบ 160,580,000 บาท

งบลงทุน ประกอบไปด้วย การพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน พัฒนาแหล่งน้ำ 15 โครงการ วงเงิน 430,000,000 บาท การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน การแปรรูปพัฒนาตลาด การผลิต/การตลาด 41 โครงการ วงเงิน 342,233,000 บาท การพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ด้านการท่องเที่ยว/ทรัพยากรธรรมชาติ – ถนน 2 โครงการ วงเงิน 19,000,000 บาท

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยว – แหล่งท่องเที่ยว 14 โครงการ วงเงิน 91,580,000 บาท พัฒนาตลาดศักยภาพบุคลากรการท่องเที่ยว – เพิ่มศักยภาพ 15 โครงการ วงเงิน 48,000,000 บาท

สำหรับโครงการที่เสนอโดยเอกชน ใช้งบประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โครงการวางระบบท่อน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการแม่น้ำสะแกกรัง อุทัยธานี ก่อสร้างท่อระบายน้ำบ้านวังทับยาบึงสีไฟ จ.พิจิตร ขุดลอกตะกอนดินอ่างเก็บน้ำทับเวลา อุทัยธานี ขุดขยายอ่างเก็บน้ำหุบอีเก้ง อุทัยธานี

ก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ด้านตะวันออก โครงการขยายถนนจาก 2 เลน เป็น 4 เลน ระยะทาง 83 กม. จากเกรียงไกรกลางนครสวรรค์ ถึงชัยภูมิ เพื่อเชื่อมโยงภาคเหนือ-อีสาน รวม 153 กม. เชื่อมนครสวรรค์ เข้ากับภาคกลาง ขยายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 115 เชื่อมต่อ กำแพงเพชร-พิจิตร และ พิจิตร-พิษณุโลก รวม 48 กม. ปรับปรุงสนามบินตาก และ สนามบินเกษตร นครสวรรค์ สร้างเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน่าน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ พิจิตร

โครงการนวัตกรรมทางด้านการเกษตรอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) หรือ ไบโอฮับ มูลค่า 1.33 แสนล้านบาท ในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ กว่า 5 หมื่นไร่

โครงการรจัดการน้ำวางระบบท่อน้ำ 2 เส้นทาง ระยะทาง 30 กม. งบประมาณ 1,100 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โครงการการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยแล้ง น้ำท่วม โครงการพัฒนาการท่องเที่ยว

โครงการที่สำคัญ คือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาระบบโครงข่ายถนน โครงข่ายระบบรางรถไฟ และโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ 3 โครงการ ต้องเร่งรัด คือ โครงการที่จอดรถบรรทุกในการขนถ่ายสินค้า (ทรักเทอร์มินอล คอนเทนเนอร์ยาร์ด ทรักเรสต์แอเรีย) รองรับการขนส่ง และกระจายสินค้า รองรับโครงการรถไฟรางคู่จากลพบุรี – ปากน้ำโพ

โครงการเชื่อมโยงรถไฟไปแม่สอด ผ่านกำแพงเพชร และสุโขทัย เข้าสู่ตาก โครงการสร้างเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรมเจ้าท่า ในพื้นที่พิจิตร และนครสวรรค์, โครงการพัฒนาบึงขุมทรัพย์ของ อุทัยธานี แหล่งน้ำทางการเกษตร โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อม 2 มรดกโลก ห้วยขาแข้ง อุทัยธานี กับ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร กำแพงเพชร เชื่อมไปทางอุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติอื่น