ระเบิดศึกชิงรัฐมนตรี 21 พรรค เปิด 4 กระทรวงที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

รายงานพิเศษ

กลายเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้ง อันดับ 2 เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างเข้มข้น

การเจรจาต่อรองตำแหน่งเอิกเกริก อึกทึกครึกโครมไปทั่วท้องพระโรง

กลยุทธ์ดึงงูเห่าทุกเกรด เข้าร่วมชายคารัฐบาล คสช. ภาค 2 คือ ภารกิจแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

“สามมิตร” เต็งกระทรวงเกรดเอ

คีย์แมนพรรคพลังประชารัฐ ดีดลูกคิดตัวเลขพรรคร่วมรัฐบาล 21 พรรค บวกกับงูเห่าการเมืองไม่น้อยกว่า 30 ตัว ลงตัวที่ขนาดพรรคร่วมรัฐบาล 270 เสียง หรือมากกว่านั้น

ในส่วนของงูเห่า ที่ พปชร.หมายตา อาทิ 5 ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ยกเว้นหัวหน้า “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” โดยยื่นข้อเสนอตกรางวัล “งบฯ ส.ส.” ไว้ในใบจอง

ภายในพรรคพลังประชารัฐ เปิดหน้าเขียนใบจองกระทรวงเกรดเอ ประกาศเป็นการภายใน 4 กระทรวงที่ไม่ให้พรรคร่วม-ต่อรอง ถือเป็นกระทรวงที่มีราคา-ค่างวด เป็นตำแหน่งที่ยอมไม่ได้ คือ กระทรวงมหาดไทย-กลาโหม-พลังงาน และคมนาคม

นักการเมือง อดีตรัฐมนตรีใน 3 ก๊กพลังประชารัฐ จึงเปิดหน้าเขียนใบจองกระทรวงเกรดเอ ตามระดับความเก๋า และคอนเน็กชั่นพิเศษ ดังนี้

กลุ่ม 4 กุมารอดีตรัฐมนตรี ต้องมีตำแหน่งตามใบสั่งจากทำเนียบแน่นอน อาทิ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค-อดีต รมว.อุตสาหกรรม “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค-อดีต รมว.พาณิชย์ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รองหัวหน้าพรรค-อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ที่ปลุกปั้น “กระทรวงใหม่”-การอุดมศึกษาฯ และ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” โฆษกพรรค-อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยัง “อยู่ในโผ” ครม.ใหม่

กลุ่มสามมิตร “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-อนุชา นาคาศัย” ยัง “กอดเก้าอี้” รมว.คมนาคม ไว้ให้ “สุริยะ”

ขณะที่เก้าอี้ รมว.เกษตรฯ “สมศักดิ์” จับจองไว้แล้วตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ประกอบกับนโยบายที่ใช้หาเสียง โดยเฉพาะนโยบาย “โคบาลประชารัฐ”

กลุ่ม กปปส. “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” แม้จะออกตัว “ไม่หวังตำแหน่ง” แต่ผลงาน 11 ที่นั่งในสนาม กทม.-โค่นแชมป์เก่า-ปชป. ทำให้ไม่สามารถกลับบ้านมือเปล่าได้

ขุนคลังตำแหน่งยั่วน้ำลาย ปชป.

ขณะที่โควตาพรรคร่วม พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แม้ในทาง “นิตินัย” ต้องรอมติพรรค ภายหลังเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ในวันที่ 15 พ.ค. 62

ทว่าในทาง “พฤตินัย” ได้บทสรุปท่าทีร่วมรัฐบาลแน่นอนแล้ว ไม่ว่าใครจะได้เป็น “หัวหน้าคนใหม่” เพราะสัญญาหาเสียงประชาธิปัตย์ ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ถูกฉีก ณ วินาทีที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค

หาก “กรณ์” เข้าวินขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค อำนาจการต่อรองสูง-มีโอกาสที่ “กรณ์” จะเป็น “ขุนคลังคืนถิ่น” รวมถึงเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ที่ “ถาวร เสนเนียม” ขอจองไว้ในโควตาจ่าฝูง “งูเห่าสีฟ้า”

พรรคสุเทพ-สุวัจน์ขอ ศธ.-อุตฯ

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของ “สุเทพ เทือกสุวรรณ” แท็กทีมพรรคชาติพัฒนา (ชพ.) ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ผลการเลือกตั้งออกมา “ต่ำเป้า” ทำให้ “เสียงไม่ดัง” ต้อง “ผนึกกำลัง” ขอเก้าอี้กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม

“สุเทพ” ประกาศจองกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ฤดูกาลเลือกตั้งยังไม่จบ หวังดันนโยบาย “เรียนฟรีอาชีวะ” เพราะมี “วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ” เนื้อที่บนเกาะสมุย 80 ไร่ เป็นอาณาจักรแห่งใหม่ รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ ที่นายสุเทพต้องการใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั้งระบบ

ภูมิใจไทยจ้อง 3 กระทรวง

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะพรรค 51 เสียง พปชร.ในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาล ต้องการปักหมุดที่ “กระทรวงเกรดเอ” แน่นอนว่า “เสี่ยหนู”-อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ต้องเป็นระดับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ผลักดันโปรเจ็กต์ในความฝัน อัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานทางถนน รวมถึงปลดล็อกแกร็บคาร์-แกร็บแท็กซี่ ให้ถูกกฎหมายตามที่ประกาศไว้ก่อนเลือกตั้ง

กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่พรรคเครือข่าย “เนวิน” นั้นหมายตาไว้ ใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมสปอร์ตซิตี้ บุรีรัมย์โมเดลขยายผลไปยังเมืองอื่น ๆ

บุคคลที่มีลุ้นแต่งตัวเป็นรัฐมนตรีในโควตาภูมิใจไทย อาทิ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค นางนาที รัชกิจประการ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ว่าที่ ส.ส.อยุธยา และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ แกนนำพรรค

โควตา “มท.2” อาจจะตกเป็นของ “คนที่คุ้นเคย” กับมหาดไทยมากที่สุด คือ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรค เพราะเคยเป็นหัวหน้าคณะทำงาน มท.1 ยุคที่ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” เป็น รมว.มหาดไทย

ส่วนรัฐมนตรีว่าการ คงถูกล็อกไว้ให้สาย คสช. ชื่อ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” มีแนวโน้มยังอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป คุมการเลือกตั้งท้องถิ่น และโครงการใหญ่ที่ต้องใช้ความต่อเนื่อง

ทั้งกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คงต้องขับเคี่ยวอย่างหนัก เพราะชื่อ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ยังติดโผในตึกไทยคู่ฟ้า

ภูมิใจไทยยังคงวางท่า เพราะมีอีกหลายด่าน และต้องหลีกทางให้พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่ “พี่น้องตระกูลศิลปอาชา” กัญจนา-วราวุธ ศิลปอาชา หวังใช้ 10 เสียงแลกกับ 1 กระทรวง

12 พรรคเล็กเทหนุนลุงตู่

ขณะที่ “พรรคเล็ก” พรรค 1 เสียง 12 พรรค ที่มี “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1 พรรคไทยศรีวิไลย์ เป็นตัวเชื่อมกับ 11 พรรค พร้อมร่วมรัฐบาล เพื่อเหมารวมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี

ขณะที่พรรคประชาชนปฏิรูป ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่ร่วมหัวจมท้ายกับ “บิ๊กตู่” ตั้งแต่ไก่โห่ ไม่มีกั๊ก แม้ไม่หวังได้โควตารัฐมนตรี แต่ขอเก้าอี้-ทำงานเป็นฟันเฟืองในสภา รื้อฟื้นการทำงานสไตล์อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. เป็นตัวเชื่อมกับการทำงานของ ส.ว. มากกว่าจะรับตำแหน่งเสนาบดี

งูเห่าสีแดงแว้งกัดเพื่อไทย

หลังจากส่อชวดอำนาจ หล่นไปเป็นฝ่ายค้านอย่างไม่เป็นทางการ ยังต้องลุ้นว่า “เพื่อไทย” จะรักษาพันธมิตร 7 พรรคไว้ได้หรือ อาจเห็นภาพ “ฉีก” สัตยาบันพันธมิตร เพื่อชาติ-เศรษฐกิจใหม่ ที่รวมกันแล้ว 11 เสียง อาจกลายเป็น “งูเห่า” แม้ว่า “หัวหน้าพรรค” ทั้ง “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” หัวหน้าเพื่อชาติ กับ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” แห่งเศรษฐกิจใหม่ จะประกาศยืนยันชัดเจนไม่หักหลังมิตร-เพื่อไทย

ส่วน “พลังปวงชนไทย” ก่อนหน้านี้แตะมือทั้ง 2 ขั้ว คือ เพื่อไทย กับกลุ่มพรรคเล็ก ๆ ที่มีแนวโน้มสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” อาจกระโจนไปอยู่กับฝั่ง พปชร.ได้ง่ายตามแรงลม แถมยังมีประวัติลูกพรรคยื่นสำนวนร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคตัวเอง เนื่องจากถูกแกนนำพรรคฉ้อโกง รวมถึงไปยื่นที่กองปราบปรามอีกต่อหนึ่ง