อภิปรายไม่ไว้วางใจดีเดย์กันยา จี้จุดตาย รัฐมนตรีสีเทา-ประโยชน์ทับซ้อน

รายงานพิเศษ

7 พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย เตรียมเปิดศักราชซักฟอกรัฐบาลเต็มอัตราศึกในฐานะฝ่ายค้านเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 246 เสียง (รวมนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่)

หลังจาก “ลับมีด” รอสับรัฐบาลในสภาตั้งแต่ 22 พ.ค. ที่มีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้านคุณภาพ”

ในจังหวะที่พี่คนกลาง สายแข็งบูรพาพยัคฆ์ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ยินดีให้ฝ่ายค้านตรวจสอบ “เป็นเรื่องดีอย่างมากในระบอบประชาธิปไตย ผู้ใช้อำนาจต้องถูกตรวจสอบและถ่วงดุล ทั้งในเรื่องความโปร่งใส แผนงานโครงการต้องมีการติติงกัน ถ้าเป็นในลักษณะนี้ คนที่ได้ประโยชน์คือประเทศชาติและประชาชน สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าดี ไม่ดีอย่างไร”

“เท่ากับว่าเติมเต็มให้กันและกัน มีคนคอยร่วมพิจารณาให้ข้อเสนอแนะก็คงจะดี และไม่คิดว่าจะทำให้การทำงานของรัฐบาลยากขึ้น เพราะฝ่ายบริหารใช้อำนาจไปทุกหย่อมหญ้าทั้งประเทศ ถ้ามีฝ่ายการเมืองช่วยตรวจสอบและถ่วงดุลก็ทำให้เกิดประโยชน์”

เพื่อไทยขันนอตอย่ายั้งมือ

การทำงานของฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่เตรียมตัวเผด็จศึกรัฐบาล จึงต้องทำงานอย่าง “เร่งรัด” ปั่นกระแส “ยี้” รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ให้จุดติดในสังคมจริงและสังคมโซเชียล หวังให้ทัน “เส้นตาย” ปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ในวันที่ 18 ก.ย.นี้

ดังนั้น “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง สั่ง ส.ส.ในพรรคเตรียมพร้อมการเป็น “รัฐบาล” ตลอดเวลา เพราะในยามที่เสียงฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้านไม่ถึง 10 เสียง โอกาสการเมืองพลิกขั้วอยู่แค่พริบตา และขอให้ทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” อย่างเต็มที่ อย่ายั้งมือว่าเพื่อไทยที่แตกตัวไปอยู่พลังประชารัฐ “เคยเป็นพรรคพวกเดียวกัน”

เตรียมอัดรัฐบาล 16 ชั่วโมง

วาระซักฟอก-แผนเผด็จศึกรัฐบาลของ “ฝ่ายค้าน” ถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ใน 3 เหตุการณ์ ช่วงแรก ช่วงแถลงนโยบายของรัฐบาล 2 วัน ตั้งแต่ 25-26 ก.ค. แต่อาจมีแนวโน้มขยายไป 3 วัน ถึง 27 ก.ค.  “เพื่อไทย” จัดหนัก วางทีมอภิปรายไว้ 15 ทีม ใน 15 ด้าน ไม่นับรวมมืออภิปรายจากอีก 6 พรรค อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ เศรษฐกิจใหม่ พลังปวงชนไทย มีการแบ่งเวลาให้ “ฝ่ายค้าน” ซักฟอกรัฐบาล 16 ชั่วโมง เพื่อไทยได้เวลา 8 ชั่วโมงครึ่ง ขณะที่พรรคร่วม 6 พรรค จัดสรรเวลาที่เหลือให้ครบ 16 ชั่วโมง

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้านระบุว่า การอภิปรายนโยบายรัฐบาล เพื่อไทยอภิปรายบุคคลที่กำกับนโยบาย 1.นายกรัฐมนตรี 2.รัฐมนตรี ว่าจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ 3.ผู้ที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เช่น ข้าราชการ ที่เป็นแข้งขาของรัฐบาล ว่าเขามีความพร้อม มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ 4.การมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพราะประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ และเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ 5.สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช.เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 6.เป็นไปตามแผนปฏิรูปหรือไม่

“จะตรวจสอบแนวทางการทำนโยบายของรัฐบาลว่ามาจากพรรคไหนอย่างไร ไปสัญญากับประชาชนไว้ เอามาทำได้จริงหรือไม่ และจะทำได้หรือไม่ มีผลกระทบอะไรหรือไม่ ต้องใช้เงินมากน้อยอย่างไร เป็นมุมที่จะดูแล้วแต่ใครจะรับมอบหมายอย่างไร ใช้รัฐธรรมนูญเป็นตัวหลัก”

นอกจากนี้ จะมีการ “เจาะ” นโยบายเป็นเรื่อง เช่น นโยบายเรื่องกัญชา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุจริตคอร์รัปชั่น จะมีการวางผู้อภิปรายเฉพาะเรื่อง “เหมือนกับทีมฟุตบอล ผู้เล่นเรามีความสามารถถนัดด้านไหน และมอบหมายให้ทำตรงนั้นให้ชัด” นพ.ชลน่านระบุ

และไม่ได้มีแค่ “นโยบายขายฝัน” ที่ฝ่ายค้านจองกฐินซักฟอก แต่จะหยิบ “คุณสมบัตินายกฯ” และ “รัฐมนตรี” ที่ก้ำกึ่งไม่ผ่านรอบคัดเลือกเพราะมีประวัติสีเทา อย่างน้อย 7 คน มาอภิปรายคุณสมบัติเรียงตัว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องพวกนี้ต้องถูกหยิบมาพูดให้ประชาชนรับทราบว่า คนที่เขากำกับดูแลแต่ละกระทรวงมีคุณสมบัติอย่างไร ถ้ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม มีผลประโยชน์ทับซ้อน หากเขาหลุดจากรัฐมนตรีไป นโยบายที่แถลงจะนำไปสู่ความสำเร็จในทางปฏิบัติก็ไม่มี จะต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหรือเปล่า

ยื่นศาล รธน.ปลดจากตำแหน่ง

ช่วงที่ 2 หลังอภิปรายนโยบายรัฐบาลและช่วงพิจารณากฎหมายงบประมาณปี 2563 “ทีมฝ่ายค้านกาปฏิทิน” ใช้สิทธิ ส.ส. 50 คน เข้าชื่อยื่นถอดถอนรัฐมนตรีสีเทาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ใครมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม-มีลักษณะต้องห้าม ฝ่ายค้านเตรียม 2 มาตรการ 1.ยื่นกระทู้ถาม 2.เข้าชื่อร่วมกันยื่นผ่านประธานสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เหมือนกรณี 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ถือหุ้นสื่อ

ปักหมุด ก.ย.อภิปรายไม่ไว้วางใจ

ช่วงที่ 3 เป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุด คือ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” เพราะเปิดช่องให้ “ฝ่ายค้าน” สามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ทุกสมัยประชุม “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน จึงประกาศว่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก่อนสิ้นสมัยประชุมสามัญในเดือนกันยายนนี้ ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไป

เดือนกันยายนจะกลายเป็นช่วงเวลาที่ระทึกขวัญฝ่ายรัฐบาลอีกครั้ง

“นพ.ชลน่าน” แย้มเรื่องการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า พรรคฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติได้ในเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. เวลานั้นจะเป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะรัฐบาลทำงานได้ 1-2 เดือนจะเห็นผลงาน บางอย่างไม่ใช่เรื่องการทำงานในขณะนี้ แต่เป็นความไม่เหมาะสมตั้งแต่ต้น เป็นลักษณะต้องห้ามตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตำแหน่ง แม้ว่า คสช.ยุติบทบาทไปแล้ว แต่เราพูดถึงคุณสมบัติบุคคลที่มาเป็นรัฐมนตรี แม้มาจาก คสช. แต่ไม่ได้สนใจว่ามาจากไหน อย่างไร แต่เป็นคุณสมบัติที่เหมาะสม มีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญกำหนด

ในสภาเข้มแข็ง ไม่พึ่งขามวลชน

ย้อนกลับไปในปี 2552-2554 พรรคเพื่อไทยเคยเป็น “ฝ่ายค้าน” รุกไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เวลานั้น “เพื่อไทย” มี “ฝ่ายค้าน” เป็นขาในสภา และมีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ (นปช.) เป็นขานอกสภา

เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็น “ฝ่ายค้าน” อีกรอบ ยังจำเป็นต้องมี “ขามวลชน” นอกสภาหรือไม่ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.กล่าวว่า ตนเคยอยู่ในฐานะ 2 อย่างมาพร้อม ๆ กัน เป็นทั้ง ส.ส.ในสภา และเป็นแกนนำ นปช. มีช่วงเวลาที่เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถ้าในสภามีความเข้มแข็ง ข้างนอกจะเบาแรงลงไป และขณะนี้สถานการณ์ของบ้านเมืองไม่เคยพบมาก่อนที่เสียงของฝ่ายค้านกับรัฐบาลมีความปริ่มน้ำได้เพียงนี้ ดังนั้น เวทีรัฐสภาจึงมีบทบาทที่สำคัญ

“ถ้าเวทีรัฐสภามีความแข็งแรงก็ไม่ต้องเดือดร้อนประชาชน ประชาชนแค่แสดงความคิดเห็นตามที่กรอบกฎหมายกำหนด และบ้านเมืองจะได้เดินในรูปแบบปกติ เพราะเวทีประชาธิปไตยทั้งโลก คือ เวทีที่ฝ่ายค้านต้องล้มรัฐบาล ไม่ใช่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล”

ปรับยุทธศาสตร์ก่อนล้มเหลว

อย่างไรก็ตาม “จตุพร” ใช้สิทธิ์ผู้นำขามวลชน “ท้วงติง” ฝ่ายค้านว่า “สำคัญที่สุดคือจะต้องปรึกษาหารือและวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมาถูกกลบด้วยประเด็นที่เป็นเปลือก เช่น เสื้อผ้า หน้าผม ภาษา แทนที่จะพูดเรื่องความชอบธรรม เรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น ปัญหาปากท้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมควรเป็นแก่น แต่ถูกกลบด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง จะทำให้ฝ่ายค้านเสียโอกาส ถ้ายังไม่ปรับยุทธศาสตร์เสียใหม่จะยิ่งถลำลึกไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดจะเป็นฝ่ายค้านที่ล้มเหลว”

“ดังนั้น อะไรที่ข้ามได้ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นเปลือก ต้องรีบวาง และต้องมุ่งสิ่งที่เป็นแก่น ผมวาดหวังว่าฝ่ายค้านต้องรีบปรับตัวเสียใหม่ เพราะถ้าอยู่แบบเดิม อยู่ด้วยความเกรงใจกัน เปิดแต่ละประเด็นแล้วกองเชียร์หลับหูหลับตาเชียร์กันไป ก็ไปไม่รอดอยู่ดี เมื่อฝ่ายตรงข้ามรู้ทัน เขาก็ประกบแต่เรื่องเหล่านี้ ทำให้การเมืองเรื่องใหญ่ถูกกลบด้วยเรื่องปลีกย่อย เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง”

“ดังนั้น ไม่ควรให้ประชาชนแบกภาระ ฝ่ายค้านควรจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ รัฐบาลปริ่มน้ำหายากในประวัติศาสตร์ ถ้าฝ่ายค้านมีความชอบธรรม รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะในอดีตเสียงข้างมากก็แพ้กับความชอบธรรม และสมัยประชุมนี้เหลือไม่กี่เดือนแล้ว เพราะรัฐบาลตั้งช้ากว่าสมัยประชุม เวลาตรวจสอบก็น้อยลง เพราะต้องปิดสมัยประชุม ดังนั้น ฝ่ายค้านต้องรีบทำเพราะเวลามีไม่มาก ถ้าติดที่เปลือกก็จบได้เท่านี้” จตุพรทิ้งท้าย