เป็นนักเลือกตั้ง…ได้มากกว่าที่คิด บินฟรี มีผู้ติดตาม แถมเบี้ยเลี้ยง-ค่าโรงแรม

รัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่สองยิ่งกว่ารัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ” เพราะพ่วงท้ายพรรคการเมือง 17 พรรค 251 เสียง หลังจากพรรครักษ์ผืนป่าฯ 2 เสียงพรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง ต่อรองตำแหน่งรายวัน

เมื่อ “เก้าอี้การเมือง” รัฐมนตรี-ข้าราชการการเมืองมี “จำนวนจำกัด” นักการเมืองอาชีพ-เฉพาะกิจจำนวนไม่น้อย จึงหวังเข้ามาจับจอง “ที่นั่งอันทรงเกียรติ” มีทรัพยากรของรัฐเป็นค่าตอบแทน ทั้งตัวเงิน-สิทธิประโยชน์

ปรากฏการณ์การปูนบำเหน็จทางการเมืองทั้งตัวจริง-ตัวแสดงแทนเป็นโซ่ทองคล้องใจด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองให้อยู่ร่วมหัวจมท้ายเรือเหล็กที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็น “กัปตันเรือ” รวมถึงการระดมไพร่พล “เสียงปริศนา” เตรียมไว้เป็นเสียงสำรองในการโหวตกฎหมายสำคัญ จนถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เปิดค่าตอบแทน-สิทธิประโยชน์-เงินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี-ข้าราชการการเมือง- ส.ส.และทีมงาน ดังนี้

นายกรัฐมนตรี อัตราเงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รองนายกฯ เงินเดือน 74,420 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท

รัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รัฐมนตรีช่วยว่าการ เงินเดือน 72,060 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท

ขณะที่ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 63,200 บาท เงินประจำตำแหน่ง 18,500 บาท รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เงินเดือน 56,120 บาท เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (5 อัตรา) เงินเดือน 57,660 บาท เงินประจำตำแหน่ง 15,000 บาท ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท รองโฆษก 3 อัตรา เงินเดือน 44,310 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท

เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ เงินเดือน 44,310 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ เงินเดือน 39,710 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,400 บาท

ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท ประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท

รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รองประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท ผู้นำฝ่ายค้าน เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท

ส.ส.-ส.ว.ได้เท่ากัน เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท

คณะทำงานของประธานสภาผู้แทนราษฎร 10 อัตรา คณะทำงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 7 อัตรา ได้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ที่ปรึกษา 16,000 บาท นักวิชาการ 12,800 บาท เลขานุการ 9,600 บาท

ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 อัตรา ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา 2 อัตรา เงินเดือน 57,660 บาท เงินประจำตำแหน่ง 15,000 บาท

โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร โฆษกประธานวุฒิสภา โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท

เลขานุการประธานรัฐสภา เลขานุการรองประธานรัฐสภา เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เลขานุการประธานวุฒิสภา เลขานุการรองประธานวุฒิสภา เลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เงินเดือน 44,310 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท

ผู้ช่วยเลขานุการประธานรัฐสภา ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานรัฐสภา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ช่วยเลขานุการประธานวุฒิสภา ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานวุฒิสภา ผู้ช่วยเลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เงินเดือน 39,710 บาท เงินประจำตำแหน่ง 3,780 บาทค่าตอบแทนต่อเดือน ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำกรรมาธิการ กรณีมิได้เป็นข้าราชการ ที่ปรึกษา 10,000 บาท ผู้ชำนาญการ 9,000 บาท นักวิชาการ 8,000 บาท เลขานุการ 6,000 บาท กรณีเป็นข้าราชการ ที่ปรึกษา 7,500 บาท ผู้ชำนาญการ 6,500 บาท นักวิชาการ 6,000 บาท เลขานุการ 4,500 บาท

เบี้ยประชุมกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาและร่วมกันของสภาทั้งสอง กรณีกรรมาธิการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง เฉพาะครั้งที่มาประชุมในอัตราครั้งละ 1,500 บาท กรณีอนุกรรมาธิการได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 800 บาท ให้ได้รับเบี้ยประชุมครั้งเดียวต่อวัน เว้นมีประชุมคณะอื่นแต่ไม่เกิน 2 ครั้ง ให้ผู้ช่วยเลขานุการคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,000 บาทเพียงครั้งเดียว

ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง-ผู้ติดตาม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ค่าพาหนะ ทั้งรถไฟ-รถประจำทาง-เครื่องบิน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์ “สวัสดิการรักษาพยาบาล” ของ ส.ส. การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน กรณีผู้ป่วยใน ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 4,000 บาท ค่าห้องไอซียู/ซีซียู/วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 10,000 บาท

ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 100,000 บาท ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 1,000 บาท ค่าผ่าตัด/ครั้ง ไม่เกิน 120,000 บาท

ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 1,000 บาท ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท การคลอดบุตร คลอดธรรมชาติ ไม่เกิน 20,000 บาท ผ่าตัดไม่เกิน 40,000 บาท การรักษาทันตกรรม/ปี ไม่เกิน 5,000 บาท ผู้ป่วยนอก/ปี ไม่เกิน 90,000 บาท อุบัติเหตุฉุกเฉิน/ครั้ง ไม่เกิน 20,000 บาท การตรวจสุขภาพประจำปี ไม่เกิน 7,000 บาท

กองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จากการหักเงินประจำตำแหน่งรายละ 500 บาทต่อเดือน

ตราบใดที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังเสียงปริ่มน้ำ หนีไม่พ้นการต่อรองหนักข้อ-ตีจากเมื่อไม่ได้ดั่งใจ-ไม่สมปรารถนา