46 ปี 14 ตุลา ผลักวาระ กฎหมายเป็นใหญ่ กันทุนใหญ่ผูกขาดเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการจัดงานรำลึกครบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และพรรคการเมือง ร่วมเดินทางมาวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชนคนเดือนตุลา พร้อมญาติวีรชนผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์กับผู้สนใจเดินทางมาร่วมงาน

ทั้งนี้ รศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ขึ้นกล่าวปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “นิติรัฐและนิติธรรม กับระบอบประชาธิปไตยไทย” ตอนหหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญไทยในบททั่วไป ตั้งแต่ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ทำให้ระลึกถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของพลเมือง ไม่ใช่แค่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่รวมถึงบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความยินยอมของประชาชน ตามหลักราชประชาสมาสัย และเมื่อมีเหตุการณ์ที่รัฐธรรมนูญไม่ระบุไว้ ให้ดำเนินการตามประเพณีการปกครอง เห็นได้ชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่พระมหากษัตริย์มีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดตั้งรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า การกำเนิดของหลักนิติรัฐนิติธรรม ที่มาจากนักปรัชญาการเมืองต่างประเทศในอดีต ความขัดแย้งของชนชั้นนำในประเทศอังกฤษ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ ตามหลัก The King can do no wrong. พระมหากษัตริย์ทำผิดไม่ได้ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า พระมหากษัตริย์ถือหลักธรรมเป็นใหญ่ ตามหลักกฎหมายเป็นใหญ่ กษัตริย์มีฐานะเป็นผู้แทนปวงชนตามประเพณีการปกครอง สืบสานอเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ต้องใช้อำนาจอธิปไตยตามกฎหมาย หากเกิดการรัฐประหาร ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างไรหากไม่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การรัฐประหารฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ทำก็อ้างทำด้วยความจำเป็น ซึ่งมีหลักว่าความจำเป็นเป็นมารดาแห่งกฎหมาย หากเผชิญหน้าอันตรายและสมควรแก่เหตุ ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารทุกชุดยอมรับว่าผิด ถึงมีการนิรโทษกรรม ขอพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นการแสดงให้เห็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีขึ้นได้ในยามวิกฤติตามจารีตประเพณี อำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ว่านี้ก็ต้องอาศัยครรลองตามจารีตประเพณีและหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งต้องปฏิบัติตามราชธรรม 4 ประการ เพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดชั่วร้ายเกิดขึ้นในบ้านเมือง เราอาจยืนยันได้ว่าหลักนิติรัฐนิติธรรมต้องเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับการยอมรับของประชาชน และการที่บุคคลใดจะมีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด อำนาจนั้นไม่ได้มีได้ด้วยทางกายภาพ แต่อำนาจจะมีได้ต่อเมื่อบุคคลจะใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง เพราะอำนาจที่แท้จริงคือความเห็นร่วมที่คนทั้งหลายยอมเคารพและเชื่อฟัง โดยภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจมากขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจออกกฎหมายจำกัดเพราะต้องเคารพหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

การใช้อำนาจในทางอำเภอใจยังมีอยู่แต่ก็น้อยลงตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องมีการแบ่งแยกอำนาจออกมา โดยไม่ให้ทุนใหญ่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ต้องให้ประชาชนเข้ามาถ่วงดุล พัฒนาองค์กรการรวมกลุ่มของประชาชนให้สามารถต่อรองและควบคุมการใช้อำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องให้ถูกต้องตามทํานองคลองธรรม ให้ขอให้รำลึกถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลา เพื่อให้กฎหมาย เหตุผลเป็นใหญ่ ด้วยความร่วมมือของประชาชนกับพระมหากษัตริย์.

ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนแสดงความไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับและปฏิเสธการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของผู้ปกครอง ซึ่งไม่มีอำนาจใดที่จะมาหยุดยั้งการใช้อำนาจดังกล่าวนั้นได้ นอกจากพลังของการรวมตัวกันจำนวนมากของประชาชนสองมือเปล่า ซึ่งเป็นการแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ผู้ปกครองที่ไม่ชอบธรรม ย่อมไม่พึงพอใจต่อการแสดงออกเหล่านั้น จึงพบเห็นการสูญเสียจำนวนมาก ซึ่งสังคมไทยยกย่องบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นวีรชน และขอให้ทุกคนเอาแบบอย่างวีรชน 14 ตุลา

ด้านนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทน 7 พรรคฝ่ายค้าน กล่าวรำลึกว่า วีรกรรมของวีรชน 14 ตุลา และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้นแบบที่ดีงามของคนไทยที่พึงจะกระทำต่อบ้านเมือง ซึ่งคนไทยทุกคนสำนึกว่าจะต้องสืบทอดและสืบสานระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศเป็นที่ยอมรับจากประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย มีความเป็นสากลและความเป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงมุ่งรณรงค์เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกติกาสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้เป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ต่อคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน