“ธนาธร” อนาคตใหม่ รับศึกพรรคร้าว-เดิมพันคดีการเมือง

รายงานพิเศษ

“พรรคอนาคตใหม่” ที่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นหัวหน้าพรรค กำลังฝ่าพายุการเมืองรอบด้าน

ศึกใน กลุ่ม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สายแข็งหัวก้าวหน้า ที่เป็นกลุ่มสตาร์ตอัพพรรคตั้งแต่ยกแรก กำลังเผชิญคลื่นใต้น้ำจากกลุ่ม ส.ส.เขต อันเป็นรากฐานที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.ถึง 80 เสียง มีความคิดไปคนละฝั่ง

ทั้งเรื่องการขับเคลื่อนการเมืองภาพใหญ่-ปัญหาปากท้องชาวบ้านในพื้นที่

รอยร้าวพรรคส้มหวาน

รอยร้าวเกิดขึ้นเมื่อนักเลือกตั้งในระบบเขต รู้สึกถึงความ “เหลื่อมล้ำ” ภายในพรรค ที่ ส.ส.กลุ่มปาร์ตี้ลิสต์ประเภทดาวเด่น ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า ส.ส.เขต ที่เป็นผู้ “กำคะแนนดิบ” ตอนเลือกตั้ง ให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้เข้าสภา

ผนวกกับการจัดคนลงสมัครเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นในนามพรรค ซึ่งเห็นรอยร้าวตั้งแต่การจัดดีเบต ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ จ.นนทบุรี ลามถึงจันทบุรี-ชลบุรี

ส่งผลต่อเอกภาพในการลงมติในสภาในวาระที่ “ล่อแหลม” เช่น พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทั้งที่มติพรรคให้ยกมือ “ไม่เห็นด้วย” แต่มี 3 ส.ส.ตะวันออก ยกมือ “เห็นด้วย”

คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี ส่วน 1 คือที่ “งดออกเสียง” คือ “น.ส.ศรีนวล บุญลือ” ส.ส.เชียงใหม่

วีรกรรมหลังโหวต “จารึก ศรีอ่อน” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แย้มปัญหาภายในพรรค นำมาสู่การโหวตสวน !

“ผมขอทําตามความคิดของผมนะ หัวหน้ามาขอร้องให้ทําตามมติพรรค ซึ่งไม่ตรงกับความคิดผม ผมคงไม่ฟังหัวหน้า เพราะผมขอร้องหัวหน้าเรื่อง อบจ.จันทบุรี พูดให้เหตุผล จนปากเปียกปากแฉะ หัวหน้าก็ไม่ฟังผมอีก”

ขณะที่ “น.ส.ศรีนวล บุญลือ” ส.ส.เชียงใหม่ ให้เหตุผลผ่านสื่อมวลชนถึงการ “งดออกเสียง” พ.ร.ก.ร้อนดังกล่าวว่า “ที่งดออกเสียง เนื่องจากในการประชุมพรรคที่ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 6-8 ตุลาคม 2562 มีการพูดคุยกันว่าจะงดออกเสียง แต่การประชุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ไม่ได้เข้าประชุมพรรค

“คุยกับนายธนาธรแล้ว และไม่ได้ห้ามที่จะให้งดออกเสียง ซึ่งมองว่าการงดออกเสียงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด”

2 วันถัดมา พรรคอนาคตใหม่ “เสียงแตก” ในการโหวตร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 อีกครั้ง เมื่อ “น.ส.กวินนาถ ตาคีย์” ส.ส.ชลบุรี เจ้าเดิม โหวตสวนกับมติฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่ให้ “งดออกเสียง” แต่เธอกลับโหวต “เห็นด้วย”

ปฏิเสธ “งูเห่าสีส้ม”

“น.ส.กวินนาถ” เปิดใจครั้งแรกว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 มีส่วนดีอยู่ ส่วนที่ไม่ดีก็ไปแปรญัตติแก้ไข ถ้าตัดสินว่าอุดมการณ์เราไม่ดีต้องไปตัดสินในวาระที่ 3 ดังนั้น ยืนยันไม่ลาออกจาก ส.ส. เพราะไม่ได้เป็นทางออก ทางออกคือเดินหน้าทำประโยชน์ให้กับประชาชน ถามว่าโหวตเพื่อประชาชนแล้วเราผิดใช่ไหม โหวตรับแค่วาระแรกผิดมากหรือ ไปฆ่าใครตายหรือ ยืนยันไม่ใช่งูเห่า ไม่ใช่กาฝาก

“เรื่อง พ.ร.ก.นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนส่วนตัวไม่อยากก้าวล่วงสถาบัน ไม่ได้หมายความว่าพรรคเป็นอย่างนั้น แต่เพื่อความสบายใจและเป็นเรื่องความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่”

อีกด้าน “นิรามาน สุไลมาน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ทำหนังสือจำนวน 2 หน้า แจ้งไปยังหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เรื่องขอลาออกจากกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ อันเป็นผลต่อเนื่องจากการโหวต พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ เพราะมองว่า “ประเด็นอ่อนไหว” ที่อาจส่งผลกระทบ (ที่รุนแรง) ต่อพรรคในอนาคต แต่พรรคเลือกมีมติ “ไม่เห็นด้วย” จึงแสดงความรับผิดชอบ

ยัน อนค.เปิดช่องให้ ส.ส.ระบาย

ในกรณีนี้ “ไกลก้อง ไวทยากร” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในฐานะนายทะเบียนพรรค และเป็นกลุ่มที่ “ก่อตั้ง” อนาคตใหม่ กล่าวว่า “ถ้า ส.ส.มีความเห็นอย่างไร พรรคก็มีพื้นที่ให้ หรือหากไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุลเลขาธิการพรรค ก็เปิดโอกาสให้มาพูดคุยโดยตรงได้ ที่ผ่านมามี ส.ส.มาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ดังนั้น เมื่อพรรคมีมติออกมาก็ต้องยึดมติพรรค แต่ถ้าไม่พูดคุย แล้วมาแสดงออกตอนโหวต เท่ากับฝ่าฝืนมติพรรค”

ขณะที่ “ปิยบุตร” กล่าวว่า กรณีคุณ กวินนาถ ลงมติสวนทางพรรค 2 ครั้งภายใน 3 วัน ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดวินัย ดังนั้น คณะกรรมการวินัยและจรรยาบรรณของพรรค จะสอบสวนข้อเท็จจริง และส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการบริหารพรรค มีคำวินิจฉัยหรือลงโทษ

“พรรคอนาคตใหม่จึงไม่ได้เป็นบ้านที่คนอยากเป็น ส.ส.มาสังกัดเพื่อลงสมัคร พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่พรรคที่คนเห็นว่ากระแสพรรคกำลังดีเลยขออาศัยชื่อของพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่พรรคนี้คือที่รวมตัวกันของคนที่คิดแบบเดียวกัน มีอุดมการณ์ มีแนวทางแบบเดียวกัน และจะต่อสู้ร่วมกัน ยืนยันว่า ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งพรรคหัวหน้าพรรคได้เปิดโอกาสให้สมาชิกและ ส.ส.แลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอจากข่าวที่ออกไปว่า หัวหน้าพรรคเป็นเผด็จการรวบอำนาจ ไม่เป็นความจริง”

สารพัดคดีจ่อคอหอย

ในขณะที่ศึกนอกพรรค ปมถือหุ้นบริษัท วีลัค-มีเดีย ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลวินิจฉัยคุณสมบัติ “ธนาธร” ว่า ถือหุ้นสื่อหรือไม่ กำลังเข้าสู่ไคลแมกซ์ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา 20 พ.ย. 2562

นอกจากนี้ ยังมีคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับตัว “ธนาธร-ปิยบุตร” และพรรค เกือบ 20 คดี ทำให้ “ธนาธร” พูดแบบติดตลกเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า “เป็นเรื่องน่าตกใจ ที่พรรคการเมือง 1 พรรค กรรมการบริหารพรรคไม่เคยมีคดีความมาก่อนทั้งแพ่ง อาญา พอตั้งมาปุ๊บ ผมเพิ่งรู้ว่าผมเป็นคนเลวแค่ไหนก็ตอนมาตั้งพรรค”

สารพัดคดีที่ “อนาคตใหม่” ต้องเผชิญในอัตราความเสี่ยงที่จะรับผิด อาทิ

– คดีที่ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค ถูกแจ้งข้อหาในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากเผยแพร่-ส่งต่อภาพ-ข้อความ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท รวมกว่า 80,000 บาท

– กรณีที่นายปิยบุตร แถลงข่าวคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการดูหมิ่นศาล และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ

– คดีที่พนักงานสอบสวน ออกหมายเรียก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ข้อกล่าวหาในคดีอาญา ที่ 691/2558 เกิดเหตุที่ สน.ปทุมวัน ว่ามีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ความผิดฐานให้ความช่วยเหลือพาผู้ต้องหาหลบหนี และความผิดฐานมั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน

– นายณฐพร โตประยูร ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร นายปิยบุตร ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

– กรณีที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้าให้ดำเนินคดีกับบุคคลรวม 12 คน รวมถึงนายธนาธร ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

– คดีที่ กกต.ตั้งสำนวนตรวจสอบกรณีนายธนาธร ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจการพรรคอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง

พรรคอนาคตใหม่ดำเนินกิจการการเมืองเต็มพิกัดได้เพียง 1 ปี กลับต้องเผชิญสารพัดคดีที่จ่อคอหอย และความขัดแย้ง-ความแตกร้าวภายใน