พิธา-ธนาธร ชงรัฐบาลกันเงินกู้ 1 แสนล้าน สมทบค่าจ้างอุ้ม SMEs

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล ในหัวข้อ “พิธา x ธนาธร : ลมหายใจ SMEs ไทยในวิกฤตโควิด-19” ตอนหนึ่ง ถึงการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ในช่วงโควิด-19

โดยนายพิธา กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการลงพื้นที่พบว่า การเยียวยาไม่ทั่วฟ้า การคัดกรองการเยียวยาโดยใช้ AI ชาวบ้านบอกว่า AI กำมะลอ จากการลงพื้นที่ 100 วัน เห็นบทเรียนที่สังคมและคนไทยต้องจ่ายราคาแพงมาก พิษเศรษฐกิจที่มาน่ากลัว เหมือน perfect storm ทำให้เห็นความปะผุต่างๆ ในระบบที่เกิดมาไม่เคยเห็น

รัฐบาลชนะ แต่ประชาชนแพ้แน่นอน คนแพ้เยอะกว่าคนชนะ คนที่ตกหล่นจากการเยียวยาของรัฐบาลอย่างจงใจ ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ต้องลาออกจากการปิดกิจการโดยภาครัฐ หรือ โดนไล่ออกจากบ้าน จากการลงพื้นที่ชาวบ้านชูโทรศัพท์ขึ้นมายังเป็นโทรศัพท์ที่ไม่สามารถเข้าอินเตอร์เน็ตได้ ไทยแลนด์ 4.0 ยัง 0.4 อยู่ จะต้องพูดกันในอนาคตแน่นอน

ในแง่ผู้ประกอบการ คนชั้นกลาง รายเล็ก รายย่อย จนถึงเจ้าของโรงแรมใหญ่ ธีมที่ออกมาชักหน้าไม่ถึงหลังกันทั้งนั้น และเดือน มิ.ย.จะพิสูจน์ลมหายใจของ SMEs ซึ่งยังเข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐบาล เพราะ พ.ร.ก.ช่วยเหลือ SEMs เรื่อง Soft loan 5 แสนล้าน แทนที่จะมีการคัดกรองการช่วยเหลือ เช่น ช่วยเหลือธุรกิจกลางคืน หรือ ธุรกิจท่องเที่ยว กลับไม่คัดกรองให้ทุกเจ้า เข้าภาพอุปมาอุปมัยว่า เวลาที่ฝนไม่ตก ธนาคารจะเอาร่มมาให้ แต่พอฝนตกมาที่รายธุรกิจของเขา ธนาคารดึงร่มออกทันที

พรรคก้าวไกล คิดกันว่าในจำนวนเงิน 4 แสนล้านที่จะเอามาฟื้นเศรษฐกิจ จะกัน 1 แสนล้านบาท ไปช่วยธุรกิจที่ตั้งใจจะอุ้มพนักงาน ด้วยการสมทบค่าจ้าง 50% ไม่เกิน 5,000 บาท/ราย โดยตั้งใจให้พาธุรกิจไปต่อสามารถพาธุรกิจไปต่อได้

นายพิธา กล่าวว่า เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลที่จะไปพูดในสภา โดยเฉพาะเงินกู้รอบใหม่ที่ช่วย Soft loan วงเงิน 5 แสนล้าน แต่สามารถช่วย SMEs ได้แค่ 5 พันเจ้า จากจำนวน SMEs ทั้งหมด 3.4 หมื่นล้านราย ที่เหลือปล่อยให้ล้มละลาย อาจจะเป็นโดมิโนระบบการเงิน

ขณะที่ความมั่นคงทางอาหาร เราเป็นครัวโลก แต่ทุกวันนี้คนยังไม่มีข้าวกิน ถ้าได้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์จะรับซื้อสินค้าเกษตรที่ส่งออกไม่ได้ทั้งหมด กระจายอาหาร แปรรูปเป็นธนาคารอาหารให้กับทุกพื้นที่เดือดร้อน ตกงาน เพื่อมีความมั่นคงทางอาหารต่อไป เงินสองเด้ง เป็นเบสิกที่สุดแล้วที่กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ควรทำ

ด้านนายธนาธร กล่าวว่า ได้ไปคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว กฎหมายปัจจุบันไม่สามารถเอื้อประกอบการให้กับธุรกิจท่องเที่ยวในระดับชุมชน เช่น จะเป็นไกด์ได้ ต้องมีใบอนุญาตเพื่อรับประกันคุณภาพ แต่ในระดับชุมชนไม่สามารถมีไกด์ที่มีความรู้ คนในชุมชนพาทัวร์ไม่ได้ ถ้ารับเงินถือว่าผิดกฎหมายทันที ซึ่งระดับท่องเที่ยวชุมชนจะต้องเปิดมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม เวลานี้คาดว่ากว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาอยู่ประมาณไตรมาสที่ 3 ดังนั้น ยังมีเวลาตรงนี้มีเวลาตระเตรียมกฎหมายให้กับภาคเอกชน แล้วปลดล็อก เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีตัวเลือกมากขึ้นไม่จำเป็นต้องไปแออัดสถานที่เดิม ให้รายได้ลงชุมชนได้จริง

นายธนาธร กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลเรียกเจ้าของห้างสรรพสินค้าไปเจรจา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กในห้างสรรพสินค้า ไม่ต้องเพิ่มภาระสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ไม่ต้องเรียกเงินสดก้อนใหม่มาจ่ายค่าเช่าในเดือนถัดไปนับจากห้างเปิดได้ ก็จะช่วยบรรเทาผู้เดือดร้อนได้ เพราะสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ประกอบการคือ ถ้าเปิดห้างแล้วประชาชนยังไม่เข้าห้าง ต่อให้ห้างเปิดผู้ประกอบการก็ยังลำบาก เพราะห้างจะเก็บค่าเช่าเต็ม แต่คนยังไม่เดิน

อีกทั้ง การเปิดห้างไม่ใช่จู่ๆ จะเปิดได้เลย ถ้ารัฐบาลไม่บอกล่วงหน้าเป็นเวลานาน ลูกจ้างกลับบ้านที่ต่างจังหวัดกันหมด และยังต้องหาเงินหมุนธุรกิจ จน 2 เดือนที่ผ่านมาไม่อยากคุยกับผู้ประกอบการ คุยกับชุมชน เพราะมันหดหู่

“ถ้าเดือนมิถุนายนการอัดฉีดสภาพคล่องไม่ถึงมือธุรกิจ SMEs ขนาดกลาง ขนาดย่อม ถ้าไม่ดูแลให้ดีจะเกิดปัญหากับอนาคตเยอะมาก แม้บางธุรกิจมีพนักงาน 10 คน 20 คน แต่รวมกันมีถึง 2 ล้านคน ถ้าเงินกู้รอบใหม่ soft loan 5 แสนล้านไม่ถึงมือในเดือนมิ.ย.อาจมี SMEs 20-30% จะต้องล้มละลายจากนโยบายปิดเมือง นึกไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย คนอาจตกงานเป็นล้านคน” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวว่า ถ้าข้อมูลผู้ติดเชื้อระดับหลักหน่วย ทำไมไม่คลายล็อกให้เยอะกว่านี้ หลายประเทศที่ผู้ป่วยต่อวันเยอะมากกว่านี้ยังเปิดเมืองเยอะมากกว่านี้แล้ว ที่บอกว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จ เป็นที่ 1 ของโลก จะเป็นที่ 1 ของโลกทำไมถ้ามีคนฆ่าตัวตาย ร้องให้ เจ็บปวดขนาดนี้ ถ้าแก้ปัญหาโควิด -19 ที่ประสบความสำเร็จเท่ากัน แต่คนเดือดร้อนน้อยกว่านี้ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ที่มาพร้อมกับโควิด -19 ใหญ่หลวง หนักหนา เรากำลังพูดถึงเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท มาพัฒนาประเทศ เงินกู้ที่กู้เข้ามาคนที่จะต้องจ่ายคืนคือผู้จ่ายภาษีโดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน คนที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานต้องมาแบกรับหนี้ก้อนนี้ เงินกู้ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ถ้าไปลงทุนในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงามก็สามารถยกระดับประเทศได้ ถ้าเอาหนี้มาอุ้มการบินไทย อุ้มดิวตี้ฟรี อุ้มคนรวย โอกาสการยกระดับของประเทศก็จะสูญไป ใครชนะเราไม่รู้ แต่ประชาชนแพ้แน่ๆ