ปฏิวัติ-กระจายอำนาจ “สีกากี” วัดบารมี “บิ๊กตู่” ทิ้งทวนโรดแมป

คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ถูกตั้งมาแล้วครบ 3 เดือน สิ่งที่คณะกรรมการคิด และตะโกนออกมาให้สังคมรับทราบคือการ “กระจายอำนาจตำรวจ” แน่นอนว่า ฝ่ายที่ถูกกระจายอำนาจย่อมขัดขวาง-ขัดขืน

จึงมีรายงานข่าวว่า เกิดการปะทะคารมระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับ “เสรี สุวรรณภานนท์” กรรมการปฏิรูปตำรวจ อดีตสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ทำให้เกิดเป็นวลีที่กระเด็นออกจากห้องประชุม “ทุกอาชีพมีทั้งดีไม่ดี ทนายก็เช่นกัน”

ทว่าเกือบ 20 ปีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แยกตัวเป็นอิสระจากกระทรวงมหาดไทย และรวมอำนาจไว้อยู่ภายใน สตช. กลับกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำหน้าที่มากมายความคิดกระจายจึงบังเกิดขึ้นอีกครั้ง

ภายใต้ถ้อยคำใหม่ว่า “รับโอนภารกิจ” โดยหน่วยงานที่มีแนวโน้มถูกกระจายอำนาจมากที่สุดใน สนช.คือ กองบัญชา
การตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ที่รับผิดชอบภารกิจ 11 ด้านของ สนช. ในเบื้องต้นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่รับโอนภารกิจว่ามีความพร้อมที่จะรับภารกิจหรือไม่

ปรากฏว่าหน่วยงานที่พร้อมรับโอนภารกิจ มี 1.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมรับการโอนภารกิจของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ที่เรียกว่า “ตำรวจป่าไม้” แต่จะต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและสถานที่ ควรทำให้เสร็จในเวลา 5 ปี และการรับโอนภารกิจระยะแรกจะเริ่มในบางพื้นที่ จากนั้นขยายไปพื้นที่อื่น ๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศ

2.ภารกิจของ บก.ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) พร้อมรับโอน แต่ยังมีปัญหาด้านบุคลากรระดับจังหวัด ควรจะสอบถามความพร้อมไปยังจังหวัด และจัดทำแผนรับโอนภารกิจ 5 ปี

3.ภารกิจ บก.ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ไปให้กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังนั้น มีความพร้อมรับโอนภารกิจ แต่จำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาที่จะรับโอนให้ชัดเจน ให้มีแนวทางการรับโอนภารกิจในระยะเวลา 5 ปี

ขณะที่ภารกิจที่ไม่พร้อมโอนคือ งานของ บก.ทางหลวง บก.ตำรวจรถไฟ และ บก.ตำรวจน้ำ ให้กับกระทรวงคมนาคม ปรากฏว่า กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่าไม่พร้อมรับโอน เนื่องจากขาดความพร้อมในด้านบุคลากร

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจตรวจคนเข้าเมืองของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อนาคตอาจถูกกระจายไปให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศดูแล แต่เบื้องต้นมีเพียงกระทรวงมหาดไทยที่พร้อมรับโอนภารกิจ

ส่วนการรับโอนภารกิจไปยังกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นั้น กต.ไม่พร้อมรับโอน เนื่องจากภารกิจด้านการตรวจคนเข้าเมืองอยู่ในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว

เป็นการกระจายภารกิจ 11 ด้าน แต่ยังไม่นับการกระจายอำนาจอันเป็นหัวใจของ สตช.ยุคปัจจุบัน ที่จะต้องถูกรื้อโครงสร้างและปรับใหม่ 3 ด้าน 1.การบริหารงานบุคคล จะให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในกองบัญชาการภาคของตัวเอง แต่ไม่สามารถย้ายข้ามภาคได้ ยกเว้นตำรวจบางระดับ 2.การบริหารงานภายใน โดยให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนไปบริหารกันเอง และ 3.งบประมาณ การรื้อโครงสร้าง-อำนาจ ของ สตช.มีเส้นตาย 31 ธันวาคม 2560

ท่ามกลางการจับตามองของปุถุชนทั่วไปว่าการกระจายอำนาจสีกากีครั้งนี้จะเป็นแค่เกมปาหี่อีกครั้งหรือไม่ เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้อำนาจปกติ และอำนาจพิเศษ ปฏิรูปตำรวจทุกครั้ง แต่ก็หยุดลงโดยไม่ทราบสาเหตุแทบทุกครั้ง

หากสำเร็จต้องใช้บารมีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มากกว่าแค่คำสั่งพิเศษ