รัฐธรรมนูญ “ไอลอว์” สายล่อฟ้า เติมไฟม็อบ “ราษฎร” เขย่าอำนาจ “ประยุทธ์”

17-18 พฤศจิกายน กลายเป็นวาระหยุดลมหายใจการเมือง

เพราะสมาชิกรัฐสภา 700 กว่าชีวิต นัดหารือพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ

อันเป็น 1 ในชนวนระเบิดการเมืองลูกใหญ่ที่รอคอยการแก้สลักอยู่ในเวลานี้

เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของมวลชนราษฎร ที่ระบุว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

แต่เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาซีก ส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เคย “หักอก” มวลชนมาแล้ว 1 รอบ ครั้นซ่อนสัญญาณโหวตลับ และพลิกเกมตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติก่อนรับหลักการมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อ 24 กันยายนที่ผ่านมา

การนัดลงมติ 7 ญัตติแก้รัฐธรรมนูญรอบใหม่ จึงกลายเป็นเครื่อง “ชี้ชะตา” วิกฤตการเมืองแห่งทศวรรษใหม่ทันที

84 เสียง ส.ว.ชี้ขาดรัฐธรรมนูญ

กาง 7 ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของรัฐบาล 2.ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของฝ่ายค้าน 3.ญัตติแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ พ่วงมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯคนนอก 4.ญัตติแก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปประเทศ

5.ญัตติแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 6.ญัตติแก้ไขมาตรา 91-92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม เรื่อง ซึ่งระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้กลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2540

ญัตติที่เข้ามาล่าสุดคือ 7.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ซึ่งมี “ไอลอว์” เป็นหัวหอกล่ารายชื่อเกาะขอบสนามการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ตั้งแต่เยาวชนปลดแอก จนถึงม็อบราษฎร

มีประชาชนลงชื่อสนับสนุนเกิน 1 แสนรายชื่อ แต่มีรายชื่อที่ครบถ้วนถูกต้องไม่มีถอนชื่อภายหลัง รวม 98,041 ชื่อสนับสนุนอยู่

การโหวตวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ จะต้องได้เสียงเกินครึ่งของทั้ง 2 สภา ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก 732 คน แบ่งออกเป็น ส.ส. 487 คน และ ส.ว. 245 คน ดังนั้น “เสียงเห็นชอบ” ในวาระที่ 1 หรือ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” จึงเท่ากับ 366 เสียง และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วย 84 เสียง

ท่ามกลางข่าวลือช่วง 48 ชั่วโมงก่อนการลงมติว่า ส.ส.ซีกรัฐบาล-ฝ่ายค้าน จะ “โหวตคว่ำ” ร่างแก้ไขของ “ไอลอว์” ทิ้ง รับหลักการเพียงแค่ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ทั้งของรัฐบาล และฝ่ายค้าน อาจรวมถึงรับญัตติปิดสวิตช์ ส.ว. มาตรา 272

เลาะแคมเปญ รธน.ไอลอว์

แกะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ที่มี “ไอลอว์” เป็นโต้โผ ชูแคมเปญ “5 ยกเลิก 5 แก้ไข” เพื่อ “รื้อ” ระบอบอำนาจของ คสช. “สร้าง” หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้เกิดการ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน

5 ประเด็นยกเลิก 1.ยกเลิกช่องทางนายกฯคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ คสช.เขียนขึ้น คิดแทนอนาคต กดทับรัฐบาลทุกชุด 3.ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ ที่ คสช.เขียนขึ้น ความยาวรวมกว่า 3,000 หน้า ที่เขียนโดยคนของ คสช. 4.ยกเลิกท้องถิ่นพิเศษ ที่เปิดช่องผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และ 5.ยกเลิกนิรโทษกรรม คสช. ที่ช่วยคนทำรัฐประหาร ทำอะไรไว้ไม่มีทางผิด

5 ประเด็นแก้ไข 1.แก้ระบบบัญชีว่าที่นายกฯให้ชัด นายกฯต้องเป็น ส.ส.2.ให้ ส.ว.จากการเลือกตั้งของประชาชน แก้ไข 3.แก้กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนของ คสช.ทั้ง 7 ฉบับ 4.ปลดล็อกวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา ไม่ต้องมีอำนาจพิเศษของ ส.ว. และ 5.ตั้ง ส.ส.ร. 200 คน จากการเลือกตั้งทั้งหมด

ส.ว.โดดขวางเต็มสูบ

แต่แล้วร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ก็ส่อแววจะไม่ผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เพราะเพลย์เมกเกอร์ทางการเมืองฝ่าย ส.ว. หลายคน อาทิ “คำนูณ สิทธิสมาน” มองปัญหาของร่างไอลอว์ว่า จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง

1.ถ้ามีผลบังคับใช้จะยกเลิก ส.ว.ชุดปัจจุบันทันที และไปเลือกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 2-3 เดือน ระหว่างที่ไม่มี ส.ว.ชุดใหม่ รัฐสภาองค์ประกอบก็จะไม่ครบ

2.การยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ จะทำให้ประเทศเกิดสุญญากาศ

“ดังนั้น การที่รับหลักการเข้ามาแล้วจะไปแปรญัตติแก้ไขในวาระที่ 2 อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมา จึงไม่ปลงใจที่จะเห็นด้วยได้”

ขณะที่ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” ส.ว.อีกรายระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างไอลอว์แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มีทั้งดีและไม่ดี ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ดีอย่างไรควรแก้แบบรายมาตรา ไม่ควรไปยกเลิกทั้งหมดแล้วร่างขึ้นมาใหม่ โดยที่เราไม่รู้ว่าร่างใหม่แล้วทิศทางมันจะเป็นอย่างไร

“มันจะเกิดสภาพปัญหาต่อไปในอนาคตได้ มันคงยุ่งยากมากมาย ส่วนข้อเสนอที่ให้ยกเลิกองค์กรอิสระ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ มันอาจจะมีช่องว่างเกิดวิกฤตได้ จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นมาได้ ส่วนการยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับประกาศคำสั่ง คสช. อาจจะเกิดปัญหาทางกฎหมายในอนาคตได้เช่นกัน แทนที่จะแก้แล้วลดปัญหาความขัดแย้ง แต่อาจจะกลายเป็นเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นไปหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล”

บ่งชี้ว่าการจะขอเสียง 84 เสียง จาก ส.ว.ลากตั้ง อาจยากยิ่งกว่ายาก

ฝ่ายค้านหนุนฉบับภาคประชาชน

ทำให้พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค ต้องผนึกกำลังมีมติ “เด็ดขาด” สนับสนุนร่างของไอลอว์ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มือกฎหมายประจำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ร่างของไอลอว์ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นตรงกันว่าควรสนับสนุนร่างของประชาชนฉบับนี้ ด้วยเหตุผล 4 ประการ

1.การนำเสนอกฎหมายโดยประชาชน เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการใช้สิทธิตามอำนาจอธิปไตยที่เสนอกฎหมายผ่านรัฐสภา

2.ประชาชนมีความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยมองเห็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเห็นของประชาชนก็สอดคล้องกับความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มองเห็นปัญหาเช่นเดียวกัน

3.หลักการร่างของประชาชนที่เหมือนกับหลักการของรัฐบาล และฝ่ายค้าน คือ เห็นว่าควรมี ส.ส.ร. ขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ

และ 4.ร่างของประชาชนนี้ไม่ได้ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายใดเลย

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในแกนนำพรรคฝ่ายค้านมอง “ข้ออ่อน” ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ “ไอลอว์” ว่า ไอลอว์เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ “แยกเป็นญัตติ” แต่เสนอรวมเป็นร่างเดียวกัน 1 ร่างแก้ไข หาก ส.ส.+ส.ว.จะคว่ำ ก็จะทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตกไปทั้งฉบับ จึงเป็นที่มาของฝ่ายค้านยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแยกเป็นญัตติ

คว่ำร่าง “ไอลอว์” คนลงถนน

ฝ่ายเจ้าของร่าง “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผู้จัดการไอลอว์ ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า ข้อเสนอไอลอว์ยืนยันให้ยกเลิกที่มา ส.ว.แบบพิเศษ 250 คน ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญไอลอว์ผ่านรัฐสภาเมื่อไหร่ ก็แปลว่า ส.ว.ชุดนี้จะพ้นจากตำแหน่ง จึงเข้าใจได้ว่าเหตุใด ส.ว.จึงไม่อยากรับหลักการไว้พิจารณา แต่ ส.ว.ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยว่า หากโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ตั้งอยู่บนเหตุผลอะไร เช่น ไอลอว์สนับสนุนให้ยกเลิก ส.ว. หาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยก็แปลว่า ต้องการให้ ส.ว.อยู่ต่อ จะต้องอธิบายได้ว่ามีความชอบธรรมในทางเหตุผลอย่างไร

“ยิ่งชีพ” มองข้ามชอตว่า หากรัฐสภาไม่รับร่าง “ไอลอว์” เท่ากับบีบให้ม็อบ “ลงถนน” อย่างเดียว ไม่มีทางอื่น

“ถ้าไม่รับร่างไอลอว์ จะทำให้คนรู้สึกไม่มีความหวัง กระแสที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญไม่ได้เริ่มจากเรา แต่เริ่มจากคนบนท้องถนนที่เขารู้สึกว่าต้องการออกจากการเมืองที่ผิดปกติ หน้าที่ของไอลอว์คือรวบรวมความต้องการที่อยู่บนท้องถนนมาเข้าสู่สภา ถ้าสภาไม่รับไว้พิจารณาก็เป็นการส่งสัญญาณว่าระบบกลไกรัฐสภาไม่พร้อมรับฟังข้อเสนอที่เกิดขึ้นบนท้องถนน แปลว่าหากแก้ปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้ ก็ทำให้คนต้องลงถนนอย่างเดียว”

“เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้ากลไกที่มีอยู่ไม่สามารถพึ่งพาได้ สิ้นหวังแล้ว” ยิ่งชีพระบุ

ทั้งนี้ แผน 2 หากรัฐสภาคว่ำร่างไอลอว์จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในสมัยประชุมหน้าอีกหรือไม่ “ยิ่งชีพ” กล่าวว่า การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ง่าย เพราะต้องรวบรวมรายชื่อของประชาชนใหม่ และถ้ารวบรวมรายชื่อใหม่ก็จะรบกวนทุกคนที่เคยลงชื่อ หากครั้งต่อไปจะทำแบบเดิมและนำไปสู่ปลายทางแบบเดิม จึงไม่แน่ใจว่าจะทำหรือไม่

“เมื่อประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกเปิดขึ้นแล้ว และคนสนใจ สภาก็รับรู้แล้วว่าคนสนใจเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว คนอื่นเขาก็คงทำกิจกรรมในรูปแบบใหม่ได้ ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเสนอในรูปแบบอื่น ประเด็นอื่น หรือในประเด็นคล้ายกัน เช่น ไอลอว์เสนอรอบนี้ 10 ประเด็น คนอื่นอาจหยิบบางประเด็นมาเสนอก็สามารถทำได้ แต่จะคาดหวังให้ไอลอว์เป็นเจ้าภาพเสนอใหม่ตลอดอาจจะไม่ใช่ แม้ไม่ได้ปิดโอกาสนั้น แต่เราจะไม่ทำแน่ ๆ”

ญัตติฝ่ายค้านจ่อถูกตีตก

ขณะที่ 4 ญัตติของฝ่ายค้าน ที่ต้องการให้แก้รายมาตรา คู่ขนานกับร่างใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.นั้น เสี่ยงสูงที่อาจจะถูกตีตก เพราะมีการวิเคราะห์ในหมู่ส.ว.ว่า หากรัฐสภามีมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล พร้อมไปกับรับญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 ฉบับ ของฝ่ายค้านที่ต้องการแก้รายมาตรา จะมีผลทำให้เกิด 2 องค์กรที่มีอำนาจทับซ้อนกันในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือ รัฐสภา ทับซ้อนกับ ส.ส.ร.

“เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะขัดกับหลักการสำคัญที่ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จะมีผลย้อนแย้งในทางปฏิบัติ และจะเป็นการสร้างปัญหาทางกฎหมายและปัญหาอื่นต่อไปในอนาคต”

นอกจากนี้ยังเห็นว่า ญัตติแก้รัฐธรรมนูญที่ยกเลิกมาตรา 279 อันเป็นมาตราที่รับรองความชอบธรรมของประกาศ คำสั่ง คสช.นั้น หากรัฐสภารับหลักการไปแล้วมีผลบังคับใช้จะทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย อาทิ จะส่งผลโดยตรงต่อสภาพบังคับของประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. เพราะการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับบรรดาประกาศคำสั่ง และการกระทำดังกล่าวไม่อาจดำเนินการได้โดยเร็ว

มีผลเป็นการยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดบางกลุ่ม หรืออาจนำไปสู่ประเด็นความขัดแย้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย จึงควรคงมาตรา 279 ไว้ตามเดิม หากจะแก้หรือยกเลิกให้ดูเป็นรายกรณี

ร่างของไอลอว์-ร่างของฝ่ายค้านอาจถูกตีตกไปบางญัตติ เหลือแค่ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 256 ส่วนญัตติปิดสวิตช์ ส.ว. อาจมี ส.ว.ลากตั้งบางกลุ่มโหวตให้ แต่ยังต้องลุ้นเหนื่อย ที่เหลือ 4 ญัตติ มีความเสี่ยงว่าน่าจะแท้งก่อนคลอด