เชือด “ปารีณา” สะเทือน 2 รัฐมนตรีครอบครองที่ดินร้อน เสี่ยงผิดจริยธรรม

“ปารีณา ไกรคุปต์” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองคนแรก เสี่ยงที่จะถูกสังเวยกฎเหล็กใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปราบโกง ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” และคณะ

ภายหลังที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของปารีณา จากกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม เมื่อ 25 มีนาคม 2564

โดยศาลฎีการับคำร้องพร้อมกับสั่งให้ “ปารีณา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ นัดไต่สวนอีกครั้ง 30 เมษายนนี้

เรื่องนี้ ระทึกขวัญตรงที่ “ปารีณา” คือรายแรกที่ติดกับดักรัฐธรรมนูญปราบโกง ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติให้ส่งศาลฎีกา กลายเป็นกรณีตัวอย่างของเคสอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนเรื่องฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมกับ ป.ป.ช.

เป็นกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ 2 รัฐมนตรี คือ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พบว่ามีเครือญาติของศักดิ์สยามเข้าครอบครองที่ดินจำนวนกว่า 5,000 ไร่ ทั้งที่เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ แต่รัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย

กลับไม่เพิกถอนโฉนดตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ถือเป็นการจงใจไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

และ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย เป็นกรณีเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ขณะที่ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่น ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิดกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 208 คน ที่ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระ 3 น่าจะขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร

อาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมถึงสมาชิกรัฐสภาที่เป็นพรรคการเมืองอีกไม่น้อยกว่า 8 พรรค ที่ให้ความเห็นชอบวาระ 3 อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (2)

ขณะที่เรื่องการอาศัยบ้านพักทหารของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมนั้น มีการยื่นคำร้องให้พิจารณาเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ว่าไม่ขัดมาตรฐานจริยธรรม

ดังนั้น เคสตัวอย่างกรณี “ปารีณา” แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า แม้อยู่ข้างผู้ชนะ แต่ไม่ใช่ว่าจะชนะทุกกรณี

และโทษของคดีนี้ บัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 235 ว่า เมื่อมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แล้วแต่กรณี ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกําหนด เวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้

จึงทำให้คนการเมืองต้องอดระทึกใจกับปลายทางคดี “ปารีณา” ไม่ได้

ไม่แปลกที่ในการโหวตร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่…) พ.ศ. … มี ส.ส.จำนวนมาก อยู่ในที่ประชุมแต่ไม่ลงคะแนนใด ๆ เช่นเดียวกับ ส.ว.กว่าสองร้อยชีวิตแสดงตน แต่ไม่ประสงค์ลงคะแนน เพราะเกรงจะติดกับดักรัฐธรรมนูญมีชัย

หากเปิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 76 ค้นหาจุดกำเนิด “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่มีชัยและคณะเขียนขึ้นมา มีเจตนาให้ยกระดับการบริหารราชการแผ่นดินในหลายด้าน ทั้งนักการเมือง ข้าราชการพลเรือน รวมถึงองค์กรอิสระ ระบุว่า

“กำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินต้องยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยกำหนดหลักการเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชน ไม่ใช่เป็นผู้ปกครองประชาชนอย่างเช่นในอดีต และในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกัน เพื่อให้การใช้ทรัพยากรมี ประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน”

“และกำหนดให้การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล อย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการ แต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”

“รวมทั้งกำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นกฎหมายกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว อันจะทำให้การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีเอกภาพและมีแนวปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน”

“หลักการให้หน่วยงานของรัฐทำงานอย่างบูรณาการ ร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการกำหนดให้มีประมวลจริยธรรมเป็นหลักการสำคัญที่ใช้กับองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐทั้งปวง”

สุดท้ายรัฐธรรมนูญมีชัย ที่ถูกเขียนขึ้นตามวัตถุประสงค์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ล้อตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ระบุให้มีสารพัดกลไกในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หนึ่งในนั้น คือ มาตรา 35 (3) ที่กำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกํากับและควบคุมให้การใช้อํานาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน

ท้ายที่สุดคนในรัฐบาลก็ตกเป็นผู้ถูกร้อง และส่อติดกับดักมากที่สุด