สร้างเฟกนิวส์คนตายบนถนน จำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำชับทุกหน่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริง กรณีการส่งต่อภาพผู้เสียชีวิตบนถนน หากพบเป็นเท็จ-สร้างสถานการณ์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับสูงสุด 1 แสนบาท

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โลกออนไลน์ มีการส่งต่อภาพและคลิปวิดีโอคนเสียชีวิตอยู่บนท้องถนน ในหลายพื้นที่ จนกระทั่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์เตือนว่า ผู้เสียชีวิตในภาพหรือคลิปดังกล่าว แต่งกายเหมือนกัน และมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน จนทำให้เป็นที่สนใจของสังคมในวงกว้าง

ล่าสุด มติชนรายงานว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย หากพบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์หรือเป็นความผิดจริงจะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายต่อไป

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำชับให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องการสร้างการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์ และเร่งทำการพิสูจน์ทราบ สืบสวนสอบสวนรวมถึงดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายกับผู้กระทำความผิด และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายอย่างเด็ดขาดไม่มีข้อยกเว้น

หากตรวจสอบพบว่า เป็นความผิดจริง การกระทำดังกล่าวในลักษณะการผลิตและเผยแพร่ข่าวปลอม หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความสับสนวุ่นวาย โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2), (5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่งจัดการปัญหา เฟกนิวส์

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้เกิดปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคมเป็นอย่างมาก ตนจึงได้สั่งการให้แต่ละกระทรวง ดำเนินการแก้ปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจังและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนี้

1. ขอให้แต่ละกระทรวง จัดตั้งฝ่ายที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและแก้ไขข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกระทรวงทันที และให้เป็นตัวแทนหน่วยงานแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดด้วย

2. ศูนย์ข่าวปลอมของกระทรวงและจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและประกาศลงสื่อของกระทรวงและหน่วยงานภายใน 24 ชั่วโมง ให้เข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด หลังจากได้รับการแจ้งจากประชาชน หรือหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่งข้อมูลหรือประกาศชี้แจงแก้ไขข่าวปลอมให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และ กสทช. ทันทีที่ลงสื่อของกระทรวงด้วย

3. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปอท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ศปก.ศบค. ร่วมปรึกษาหารือกันอย่างเร่งด่วน ในการนำเอาข้อกำหนดข้อที่ 11 จากประกาศฉบับที่ 27 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าด้วยเรื่องการห้ามบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มาเป็นแนวปฏิบัติของมาตรการที่ชัดเจน

4. ให้กรมประชาสัมพันธ์ โฆษกทุกกระทรวง และ กสทช. สื่อสารให้ทุกหน่วยงานและประชาชนได้รับทราบถึงมาตรการนี้อย่างทั่วถึง

5. ให้กระทรวง DES, ปอท.สตช. ดำเนินการในแนวปฏิบัติจากมาตรการนี้อย่างจริงจังและรวดเร็วยิ่งขึ้น ชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม ดำเนินคดีกับคนผิดได้จริง ๆ โดยเฉพาะผู้ปล่อยรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน คนดัง หรือเพจต่าง ๆ ไม่ใช่จับแค่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น