ประยุทธ์โต้ปมเหมืองทองอัครา ย้อน ส.ส.เพื่อไทยเก็บใบลาออกไว้เอง

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีคิงส์เกต-เหมืองทองอัครา ยัน ไม่ได้ยกสมบัติชาติ แค่อนุมัติสัมปทานตามที่เคยขอไว้ 4 แปลง อัดกลับ ผู้อภิปรายอยากให้ประเทศชาติเสียหาย เพื่อประโยชน์ของใคร

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงกรณีเหมืองทองอัครา ว่า ฟังมาทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เป็นความเห็นที่มีประโยชน์ สิ่งสำคัญเราต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจกันมาก่อน ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากอะไร ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลทุกสมัยต้องมีหน้าที่ในการพิจารณาการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาล ปี 2535-2544 รัฐบาลในช่วงนั้นได้เห็นชอบตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการเหมืองแร่ 2510 เชิญชวนให้มีการลงทุน ด้วยการลดค่าภาคหลวง ออกใบอนุญาตสำรวจ ออกใบอนุญาตประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม สนับสนุนให้มีการทำเหมืองทองในเขต จ.พิจิตร

ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปต้อนรับการผลิตเหมืองทองคำ เพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศ และผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นบริษัทเดิมอยู่ จนกระทั่งปี 2554 รัฐบาลต่อมาก็ได้มีการระงับการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 1 แปลง ยาวนานมาถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุของความไม่ชัดเจนหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งเป็นปัญหาที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับขั้นตอนการออกใบอนุญาต และเรื่องฟ้องร้องยังอยู่ในขั้นตอนของศาลถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง

ต่อมาในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาก่อนแล้ว และการบริหารประเทศขณะนั้นอยู่ภาวะไม่ปกติ รัฐบาลได้พิจารณาการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสมเช่นกัน ซึ่งมีข้อโต้แย้งมาก ขั้นตอนอนุญาต ขาดความรัดกุม เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องใช้เวลาทบทวน กฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการเหมืองแร่

และกรอบนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมือง เพื่อลดปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใด ๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็น เป็นที่ทราบกันดีว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ 2560 มีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ในปีเดียวกัน มีบริษัทเอกชนที่มีความสนใจในการทำเหมืองต่าง ๆ ได้เข้ามาขอใบอนุญาตใหม่ และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย

ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ ถ้าบริษัทเอกชนรายใดมีความสามารถทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ต้องการขอใบอนุญาตในการประกอบอาชีพ ก็มายื่นเรื่องให้ครบตามขั้นตอน ก็มีสิทธิที่จะได้รับใบอนุญาต และการจัดประชุมเพื่ออนุมัติใบอนุญาตก็เป็นไปในลักษณะคณะกรรมการพิจารณา

“บริษัทอัคราก็เป็นบริษัทหนึ่ง ถึงแม้มีผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีคดีฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย แต่ก็มิได้เป็นข้อจำกัดที่จะเดินเรื่องขอต่อใบอนุญาตได้ ตามที่ประทานบัตร 1 แปลงหมดอายุในปี 2555 ซึ่งขอต่ออายุในปี 2554 แต่ยังถูกระงับการต่ออายุ และในปี 2563 มีอีก 3 แปลงที่ใบอนุญาตจะหมดอายุเพิ่มขึ้น ภายหลังที่บริษัทอัคราหยุดกิจการปลายปี 2559 และได้ขอต่ออายุ ไว้แล้วตั้งแต่ก่อนหมดอายุ

“ดังนั้น การที่เรามี พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ 2560 บริษัทอัคราได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอต่ออายุที่ค้างอยู่ 4 แปลงในคราวเดียวกันตามสัมปทานที่เหลืออยู่ ซึ่งทำตามขั้นตอนแบบเดียวกับบริษัทเอกชนรายอื่น ๆ จึงได้รับอนุญาตต่อใบประทานบัตร 4 แปลง ในปลายปี 2564 และไม่ได้เป็นไปตามเพื่อการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาล ทั้งสิ้น รัฐบาลไม่ได้ตั้งเงื่อนไขใด ๆ เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือการต่อใบอนุญาต 4 แปลงดังกล่าว เป็นแปลงเดิมที่ได้อนุญาตตั้งแต่ปี 2536 และ 2543 ถ้าจะถูกตีความว่าการต่อใบอนุญาตเป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ยกสมบัติชาติให้เอกชนตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหานี้เป็นการกล่าวหาในรัฐบาลในยุคนั้น หรือเป็นข้อกล่าวหาที่ขัดต่อนโยบายการทำเหมืองตั้งแต่ในอดีตที่ผูกพันมาถึงในปัจจุบัน

“ผมพยายามแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปให้ได้เท่านั้นเอง” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การขอต่อใบอนุญาต การอนุญาตการสำรวจ เป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมตามปกติที่ขอหลักการของคณะรัฐมนตรีเอาไว้แล้ว ซึ่งในการปฏิบัติไม่มีขั้นตอนเกี่ยวข้องกับนายกฯ เพียงแต่รับทราบการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

ดังนั้น ที่ผู้อภิปรายอ้างถึงการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ การสำรวจจำนวน 44 แปลงนั้น ผู้อนุญาตการสำรวจต้องรับเงื่อนไขว่ามีขีดความสามารถในการสำรวจ เพราะการอนุญาตแล้วไม่สามารถสำรวจได้ ก็จะต้องจ่ายเงินตามที่ร้องขอทำแผนไว้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม และค่าธรรมเนียมการอนุญาตจะเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าไม่ส่งคืนพื้นที่ เป็นไปตามหลักสากลทั่วไป เมื่อสำรวจเจอแล้วก็จะต้องรายงานให้กระทรวงทราบเพื่อพิจารณาประโยชน์เข้ารัฐ เป็นข้อมูลที่สอบทานกับกระทรวงที่รับผิดชอบได้โดยตรง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องการทำเหมือง หรือยึดเหมืองมาเป็นของรัฐ อาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายให้สมบูรณ์ รัฐบาลในปัจจุบันยินดีต้อนรับนักธุรกิจ นักลงทุนที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ ประชาชน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่สภาพแวดล้อม รวมทั้งการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างสมดุล

เรื่องนี้ย้ำอีกครั้ง เมื่ออยู่ในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ขอให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความเสียหาย ความน่าเชื่อถือของประเทศเรา

“คำถามหลายข้อเกิดจากอนุมานของผู้อภิปรายเอง ที่พยายามบิดเบือนให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าเกิดความเสียหายขึ้นแล้วอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง ทุกครั้งได้ตอบคำถามในการอภิปรายมาเสมอมา แต่ผู้อภิปรายอาจไม่ได้ตั้งใจฟัง เรียนให้ทราบเสมอว่าการเจรจาเกิดขึ้นโดยคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นทางออกที่ดีสำหรับข้อพิพาทนี้ เนื่องจากมีความไม่เข้าใจกันอยู่หลายประการ ดังนั้น การเจรจาบนความไม่เข้าใจกันต้องใช้เวลา และในสถานการณ์โควิด คู่เจรจาอยู่คนละประเทศ ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ

ต่อมาการฟ้องร้องของคิงส์เกต เป็นเพราะความไม่เข้าใจ และคิดว่าบริษัทลูกในประเทศไทย ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะมีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติ ข้อฟ้องร้องจึงระบุว่ารัฐบาลมีเจตนายึดเหมืองอย่างคืบคลาน โดยไม่ต่อใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เข้าใจผิดว่าประเทศไทยเข้าไปทำเหมืองเสียเอง ซึ่งไม่เป็นอย่างนั้น

ประเทศไทยต้องการยึดกิจการและสิ่งของในกระบวนการประกอบธุรกิจให้ตกเป็นของรัฐ จึงแสดงออกมาในรูปแบบรายการที่คิงส์เกตระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การไม่ได้รับการต่ออนุญาตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลักการสำคัญของรัฐบาล คือมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ

ข้อสรุปไปสู่การเจรจา การเลื่อนการอ่านคำพิพากษา กระบวนการปฏิบัติของฝ่ายไทยเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายทั้งสิ้น รวมทั้งกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าไม่สามารถจะได้รับอนุญาตใด ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ 2560

“การใช้มาตรา 44 ผมไม่เข้าใจผู้อภิปราย มีความพยายามและความปรารถนาอย่างยิ่งยวดเพื่อจะชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ โดยไม่คำนึงถึงพี่น้องประชาชนที่เสียประโยชน์ เพราะการเจรจานั้น เพื่อทำความเข้าใจ ให้เกิดผลดีและส่งผลดีที่สุด เหมือนผู้อภิปรายอยากให้ประเทศชาติเสียหาย อยากให้ผมเสียหาย อยากให้ผมมีความผิดในการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายปกติ ตามคำแนะนำของกระทรวง ให้ยุติการทำเหมืองเป็นการชั่วคราว การฟ้องร้องผ่านกลไกทาฟตา ก็คงทำได้อยู่ดี ถ้าผู้อภิปรายเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็ควรอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรนำมาผูกเรื่องกับเหมืองทองเพื่อประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ สิ่งที่เราทำคือการแก้ปัญหา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มาตรา 44 ที่ออกไป ท่านไปดูสาระรายละเอียด เขาเขียนไว้ว่าเป็นเรื่องการไปตรวจสอบ ดำเนินการ ให้ทุกเหมือง ทุกประเภท เหมืองทองกี่เหมือง ก็ให้อยู่ในกรอบกฎหมาย แก้ในส่วนที่เป็นปัญหา มีทั้งผิด ทั้งถูก ให้แก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาอยู่ หลายเหมืองก็ปิดในเวลาเดียวกัน เมื่อแก้ไขแล้วเขาก็ขออนุญาต เปิดกิจการใหม่ได้ทุกเหมือง

เรื่องเหมืองแร่อัคราที่เขามองในประเด็นแรกว่าเราจะไปยึดเหมืองเขา ซึ่งมันไม่ใช่ พูดคุยกันดีอยู่ในอนุญาโตตุลาการอยู่แล้ว แนวโน้มการลงทุนก็คงเดินหน้าต่อไป และให้ความเป็นธรรมเขา ที่เขาขอต่อใบอนุญาตแล้วไม่ต่อให้เขา ลากเป็นมหากาพย์อย่างยาวอย่างนี้

“ผมเข้ามา ต้องแก้ไขปัญหาทุกประการเพื่อให้เดินหน้าไปได้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในพื้นที่ และระมัดระวังเรื่องสุขภาพให้เขา ประเทศมีรายได้ ประชาชนมีรายได้ แร่ถลุงในประเทศไทย ไม่ได้ส่งไปต่างประเทศ หลายอย่างแก้ไขไปแล้วตามกฎหมายใหม่ สิ่งใดก็ตามที่เป็นปัญหาขอให้เข้าใจว่า การแก้ปัญหามันยากกว่ายิ่งกว่าทำอะไรใหม่ ๆ แก้เรื่องเดียวที่ทับซ้อนมาหลายปี ยากยิ่งกว่าทำเรื่องใหม่ ๆ เป็นสิบเรื่องด้วยซ้ำไป ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ ก็ด้วยความร่วมมือของพวกเราที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันในสภา มิใช่จับจ้องกันทุกประเด็นแห่งปัญหาเพื่อผลประโยชน์อะไรก็แล้วแต่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า วันนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าใครผิดหรือถูกในเวลานี้ เพราะอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การพูดอะไรต้องระมัดระวังด้วย หากเกิดอะไรขึ้นในอนาคต คงไม่ใช่ตนคนเดียว ต้องย้อนกลับไปรัฐบาลปีไหนก็ไม่รู้ ทำไมไม่แก้ปัญหาตั้งแต่ตอนนั้น ย้อนไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ให้เข้าใจเสียบ้างว่าปัญหาที่มาอภิปรายในสภาวันนี้ บางอันเคยแก้ไขบ้างไหม ไม่เคย บางอันมาแก้ไขในรัฐบาลนี้ แก้ไขเสร็จหรือยังก็ไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่ฟัง

“บางอย่างอยู่ในกระบวนการก็ตีให้แตกตั้งแต่ต้น ถามว่าประเทศไทยจะไปตรงไหนครับ ท่านมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้อีกไหม ตามที่บอกว่ามาตรา 152 ของท่าน เสนอมาสิครับ ทุกเรื่องเลย ปัญหาโน่น ปัญหานี่ ปัญหาโควิด ถ้าพูดง่าย ๆ ตีกันไปแบบนี้ ไม่เกิดประโยชน์ประเทศชาติสักอย่าง ผมขอแค่นี้ ขอแค่สภาเป็นสถานที่รับฟัง เสนอแนะ ผมพร้อมรับฟังของท่าน แต่ถ้ามุ่งหวังว่าจะล้มรัฐบาล จะตีรัฐบาล ให้นายกฯออกให้ได้ ผมว่า ไม่ถูกครับ ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน หน้าที่ของท่านคือไปเข้ากระบวนการ เมื่อวานมีให้ผมยื่นใบลาออก เก็บไว้ให้ตัวเองแล้วกัน ผมไม่ลาออกทั้งนั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว