ฝ่ายค้านขยับอภิปรายไม่ไว้วางใจ แก้เกม Deadlock ประยุทธ์อยู่ยาว

รอง

พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค อันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนไทย ใส่ “เกียร์ถอย” การเปิดศึก “ซักฟอก” อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปีสุดท้าย

จากที่จะยื่นญัตติซักฟอกทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 22 พฤษภาคม 2565 อาจขยับ ขยายเวลาออกไปจาก “หมุดเดิม”

ลือไปไกลว่า อาจจะลากยาวไปถึงเดือนสิงหาคม กลายเป็นเรื่องที่ฝุ่นตลบอบอวล แม้กระทั่งแกนนำนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลยังสืบเสาะหาคำตอบว่า ฝ่ายค้านจะเอาอย่างไรแน่

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ไขความกระจ่างว่า มติที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติว่า เราจะยื่นให้เร็วที่สุด คือ 1.เราเตรียมพร้อมเรื่องตัวญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีคณะทำงานเรื่องนี้อยู่แล้ว โดย 26 เมษายน พรรคร่วมฝ่ายค้านนัดประชุมเพื่อสรุปและเขียนญัตติ

คำว่า “ยื่นให้เร็วที่สุด” มีไทม์ไลน์ตั้งแต่เปิดสภา 22 พฤษภาคม ไปถึง 19 กันยายน ฝ่ายค้านจะดูว่าจังหวะไหนที่เหมาะสมที่สุด แต่ให้เร็วที่สุด

“หมอชลน่าน” อธิบาย ฉากทัศน์การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ 2 ฉาก

ฉากที่หนึ่ง เมื่อเปิดสภา หากฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าไปได้ การอภิปรายอาจจะอยู่ปลายเดือนมิถุนายน เพราะใช้เวลากว่า 1 เดือน กว่ารัฐบาลจะตอบมา อนุญาตให้อภิปรายได้วันไหน

ฝ่ายค้านอยากดูว่ากฎหมายอื่นที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อการยื่นญัตติของฝ่ายค้าน หรือมีปัจจัยอื่นมากระทบหรือไม่

“ความจริงอยากยื่นและอภิปรายก่อนพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ด้วยซ้ำไป แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายงบประมาณ 2566 จะเข้าสภาในชั้นรับหลักการวันที่ 1-2 มิถุนายน แนวคิดที่จะอภิปรายก่อนงบประมาณจึงเป็นไปไม่ได้”

“ดังนั้น จะใช้วาระการรับหลักการกฎหมายงบประมาณ ฟังเสียงฝ่ายรัฐบาลว่าเขาคิดอย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลไปด้วยกันได้หรือไม่ สมมติเกิดมีปัญหากันภายในพรรคร่วมรัฐบาลกันจริง ๆ ถ้างบประมาณไม่ผ่านก็จบ ฝ่ายค้านไม่ต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

ฉากที่สอง ถ้ากฎหมายงบประมาณผ่านสภา ฝ่ายค้านจะประเมินดูว่าจะยื่นญัตติได้เลยหรือไม่

“แต่สิ่งที่คิดมากขณะนี้คือการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ถ้ายื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วจะมีผลกระทบหรือไม่ อย่างไร เรื่องนี้เราก็มีการนำมาเป็นเหตุผลในการคิดถึงรายละเอียด เพราะมีผลบวก-ลบตรงนี้เหมือนกัน”

หมอชลน่านกล่าวว่า สมมติเรายื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังสภารับหลักการกฎหมายงบประมาณฯ 2566 ในเดือนมิถุนายน

ฝ่ายค้านได้อภิปรายเร็วที่สุดคือ ต้นเดือน-ปลายเดือนกรกฎาคม ถ้าก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาก่อน โดยที่ขณะนั้นกฎหมายลูก 2 ฉบับไม่เสร็จ จะมีคำถามว่าจะเอากฎหมายอะไรมาเลือกตั้ง คำถามนี้ซึ่งเป็นคำถามที่เราตอบไม่ได้

“เพราะรัฐธรรมนูญถูกแก้เป็นบัตรสองใบแล้ว จะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมารองรับ ถ้าไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมารองรับจะเอาอะไรมาเลือกตั้ง เพราะฝ่ายรัฐบาลตั้งโจทย์มา โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี วิษุณ เครืองาม พูดชัดว่าจะเป็นทางตัน ก็จะทำให้มีรัฐบาลรักษาการยาวไปเรื่อย ๆ ยาวจนไม่รู้จะหาทางออกกันอย่างไร”

“ถ้าเรารับหลักการร่างงบประมาณในวาระที่ 1 ไปแล้ว แล้วนายกฯเกิดบ้าขึ้นมา ยุบสภาก่อน ทุกอย่างก็จบ กฎหมายลูกก็ยังไม่เสร็จ งบประมาณก็ยังไม่ผ่านสภา จะมีคำถามว่าเอากฎหมายที่ไหนมาเลือกตั้ง มันจะเป็นเดดล็อก”

“ดังนั้น เราต้องระวังเรื่อง deadlock กลัวเข้าทางเขา แต่เราก็จะดูจังหวะให้เหมาะสม คาดการณ์ว่าถ้าเราใช้เงื่อนไขกฎหมายลูก 2 ฉบับเป็นหลัก คาดว่ามิถุนายนน่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพราะช่วงกลางเดือนมิถุนายน กฎหมายลูกจะเข้าสู่สภาในวาระ 2-3 เป็นจังหวะที่เรายื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้”

“ถ้าคิดในทางมุมบวก เมื่อฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯยุบสภาไม่ได้ แต่สภาทำงานต่อได้ สามารถพิจารณากฎหมายลูกมาประกาศใช้ได้พอดี ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน”

ผู้นำฝ่ายค้านยืนยันว่า ไม่ได้หมายความว่าจะเลื่อนยื่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเงื่อนไขนี้เราพูดมาแต่ต้นแล้วว่ามันกระทบกับกฎหมายอะไรบ้าง โดยเฉพาะกฎหมายลูกกับกฎหมายงบประมาณเป็นเรื่องหลัก

“จริง ๆ กฎหมายลูกทางออกมีสองทาง กรณีที่มีการยุบสภาก่อนกฎหมายลูกเสร็จ ก็ให้ กกต.ใช้กฎหมาย กกต.ออกประกาศในสิ่งที่จำเป็นได้ แต่ก็จะมีการตีความว่า ประกาศนี้จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เดี๋ยวก็จะมีคนไปร้องอีก ซีกนายวิษณุค่อนข้างชัดว่า ออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ไม่ได้ เพราะ พ.ร.ก.ใช้ในการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะใช้แทนพระราชบัญญัติเท่านั้น แต่กฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง เป็น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มันจึงแย้งกันตรงนี้”

“เราต้องกะจังหวะกฎหมายลูกกว่าจะผ่านสภา แม้จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นให้ กกต.พิจารณาก่อนตามรัฐธรรมนูญ ในเดือนกรกฎาคม แต่กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับก็คงจะผ่าน เข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ รอให้มีผลบังคับใช้”

ส่วนสถานการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ยาว-ไม่อยู่ยาว “นพ.ชลน่าน” ทำนายว่า มี 3 ช่วง 1.ช่วงงบประมาณ ถ้าไม่ผ่านงบประมาณก็จบ

2.ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งต้องอภิปรายก่อนวันที่ 23 สิงหาคม แน่นอน เนื่องจากเป็นวาระที่ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี ถ้าผ่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้ ก็จะเข้าสู่ช่วงที่ 3.คือยุบสภาหลังการประชุมเอเปก ตามที่ฝ่ายรัฐบาลบอกมา

“แต่เราไม่ได้จะเลื่อนยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน”

ส่วนเรื่องการชิงยุบสภาก่อนกฎหมายลูกจะเสร็จ เพื่อให้เกิด deadlock อยู่ในอำนาจยาว ๆ ไปหรือไม่ นพ.ชลน่านวิเคราะห์ว่า ก็เป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังไม่มีเหตุให้ยุบสภา ยังไม่ยื่นญัตติ อภิปรายไม่ไว้วางใจก็ยังไม่ได้ยื่น จะเอาอะไรมาอ้าง แม้ทุกคนชอบ แต่จะงงว่าถ้ายุบสภาแล้วเลือกตั้งไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายลูกยังไม่เสร็จ

“แต่ถ้ายุบเลือกตั้งได้ ทุกคนจะปรบมือเลย”

“ดังนั้น นับจากจังหวะนี้ไป วาระในสภาจะมี ‘วาระ’ ที่สำคัญมาก 1.เรื่องงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลจะต้องออกแรงดันพอสมควร 2.เป็นจังหวะที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เข้าสู่วาระ 3.เรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4.เรื่องกฎหมายลูก 2 ฉบับ คิดว่าคงไม่คว่ำ แต่ฝ่าย ส.ว.อาจจะถ่วงเวลา ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ”

นพ.ชลน่านกล่าว…