ประชุมใหญ่ประชาธิปัตย์ แก้วิกฤตคดีปริญญ์-กับดักจุรินทร์พ้นหัวหน้า?

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินมาถึงช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” อีกครั้ง ภายหลังจากเกิดกรณี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตกเป็น “ผู้ต้องหา” คดีล่วงละเมิดทางเพศ

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อกรณี “คดีฉาว” ได้ยาก นอกจากในฐานะหัวหน้าพรรคแล้ว เพราะ “จุรินทร์” คือ คนที่ขอยกเว้นข้อบังคับพรรค เพื่อดึง “ปริญญ์” เข้าพรรค ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภารกิจ-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย

“ผมมีส่วนสำคัญในการพาคุณปริญญ์เข้ามาในพรรค แม้ว่าต้องผ่านขั้นตอนในพรรค ต้องมีการลงมติให้ความเห็นชอบ แต่สุดท้ายผมก็ต้องรับผิดชอบ” จุรินทร์แถลงยอมรับ

การแสดงความรับผิดชอบด้วยการ “ลาออก” จาก 2 ตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้านสตรีในรัฐบาล ได้แก่ 1.คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ 2.คณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติ

แทนที่จะเป็นการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพรรคเก่าแก่ 76 ปีได้ ในมุมของคนในพรรคทั้งที่เปิดเผย-ไม่ (กล้า) เปิดเผย

“เราก็ได้ไตร่ตรองเหมือนกัน แต่ก็มีสองแง่มุม หนึ่ง ถ้าอยู่ ๆ แล้วลาออกไปก็จะเป็นการทิ้งปัญหา เป็นการไม่รับผิดชอบประการหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราก็คิดกันว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นและเกิดในยุคเราก็ต้องเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเข้าไปแก้ไขให้เสร็จสิ้นลุล่วง ไม่ปล่อยปัญหาทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อไป หรือคนอื่นต้องรับผิดชอบ” นายจุรินทร์ยืนยันในจุดยืนไม่ลาออก

ก่อนการประชุมใหญ่สามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2565 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สำนักงานใหญ่ ในวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565 เป็นอีกวันหนึ่งที่จะ “ชี้ชะตาอนาคต” พรรคประชาธิปัตย์ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และการเลือกตั้งใหญ่ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกวินาที

“แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์” เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) บางส่วนมีความคิดที่จะยื่นใบลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เพื่อเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรค-เซตซีโร่กรรมการบริหารพรรค

แม้ “จุรินทร์” จะ “แก้เกม-ดักทาง” โดยจัดรูปแบบการประชุมใหญ่กึ่งออนไลน์-ออฟไลน์ โดยใช้ “ข้ออ้าง” เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สวนทางพรรคการเมืองอื่นที่จัดประชุมใหญ่กันเต็มรูปแบบ-ใหญ่โต กลายเป็น “ข้อกังขา”

“เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สมาชิกที่เป็นองค์ประชุมบางส่วนจะมีการเข้าร่วมประชุมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ระบบ Zoom ส่วนผลการประชุมจะได้แถลงให้ทราบต่อไป” นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคระบุ

หากแง้มดู “ข้อบังคับพรรค” ข้อที่ 36 ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ 1.ลาออก 2.ขาดจากสมาชิกภาพ 3.ขาดการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร 4.ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของผู้เข้าร่วมประชุม

5.กรรมการบริหารพรรคตามข้อบังคับข้อที่ 30 (8) พ้นจากการเป็นหัวหน้าสาขาพรรค หรือพร้อมจากการเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 6.กรรมการบริหารพรรคตามข้อบังคับพรรคข้อ 30 (9) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น และ 7.กรรมการบริหารพรรคตามข้อบังคับพรรคข้อ 30 (10) พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น

ข้อ 37 ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคพ้นตำแหน่งทั้งคณะเมื่อ 1.หัวหน้าพรรคลาออกจากตำแหน่ง 2.ครบวาระสี่ปี 3.ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด 4.ที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ขององค์ประชุมของที่ประชุมให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ทั้งนี้ เมื่อกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตาม 1, 3 และ 4 ให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง

เครื่องหมายคำถามตัวโต คือ หาก “จุรินทร์” ลาออกจากหัวหน้าพรรค ใคร ? คือ คนที่เหมาะสมจะเข้ามารับหน้าที่แก้วิกฤตศรัทธาของประชาธิปัตย์ในเวลานี้

“แกนนำประชาธิปัตย์รายหนึ่ง” คิดไว ๆ “หัวหน้าพรรคคนใหม่” คือ “หล่อเล็ก” อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรคและอดีตผู้ว่าฯ กทม.

แกนนำประชาธิปัตย์อีกราย โยนชื่อ คือ “สาธิต ปิตุเตชะ” รองหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันและยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยให้เหตุผลว่านายสาธิตมีบุคลิก “ประนีประนอม” และให้เสริม “จุดแข็ง” ด้วยมือบริหารเศรษฐกิจมืออาชีพ 4-5 คน มาเป็นทีมงาน

นอกจากนี้ยังเปิดกว้างให้ “คนนอก” ที่มีสายสัมพันธ์กับประชาธิปัตย์-มือบริหารธุรกิจระดับโลกให้เข้ามาแก้วิกฤตพรรคในช่วงที่บริวารเป็นพิษ-เลือดไหลออก

เป็นความเคลื่อนไหวของ “พรรคสีฟ้า” ท่ามกลางมรสุมลูกใหญ่อีก 1 ลูก ตั้งแต่ “จุรินทร์” เข้ามาเป็น “หัวหน้าพรรคคนที่ 8”