งบประมาณ 2566 : สันติ แจง ไทม์ไลน์ ประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี

ภาพ : สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage

สันติ แจงยิบ ไทม์ไลน์ ประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี เผย ประยุทธ์ สั่งเบรก ตรวจสอบจนกว่าจะหายเคลือบแคลงสงสัย

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่รัฐสภา นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ลุกขึ้นชี้แจงนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายการประมูลโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออกไม่ใช้วิธีการประมูลทั่วไปและไม่เชิญบริษัทใหญ่ร่วมประมูล ว่า บริษัทดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ในเรื่องของอีบิดดิ้ง ถึงแม้จะเป็นอีบิดดิ้งก็ไม่มีในกรมธนารักษ์ เพราะกรมธนารักษ์ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างที่ราชพัสดุ

คำถามที่ว่า ทำไมไปทำวันที่อธิบดีกรมธนารักษ์จะเกษียณอายุ คงกำหนดไม่ได้ และไม่ได้คิดถึงว่าอธิบดีกรมธนารักษ์จะเกษียณอายุในปีนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ทราบมาตั้งแต่ต้น ส่วนที่อภิปรายว่า บริษัทอีสวอร์เตอรที่แพ้ประมูล ตึกใหญ่โตมโหฬาร บริษัทที่ชนะเป็นบริษัทขนาดตึกไม่ใหญ่เท่าตึกของบริษัทอีสวอร์เตอร์นั้น ขอเรียนว่า ศักยภาพ ความรู้ความสามารถไม่ขึ้นอยู่กับตึก ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถในการทำงาน

นายสันติกล่าวว่า ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมถึงไม่ใช้วิธีประมูลทั่วไป ต้องเรียนว่า โครงการท่อส่งน้ำอีอีซีในภาคตะวันออกเป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอีอีซี ว่าน้ำจะต้องมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพในการจ่ายน้ำ การที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดนั้น กรมธนารักษ์จึงได้ไปจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาเป็นที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์แนวทางและการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนในการให้เอกชนมาเช่าบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งตามเหตุผลการศึกษาทางกรมธนารักษ์ได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำเกี่ยวกับพืชผลและน้ำ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความรู้และความสามารถในเรื่องนี้ รวมถึงมาดูเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐ

มหาวิทยาลัยเกษตรฯ จึงมีข้อเสนอแนะในแนวทางให้ใช้วิธีคัดเลือกในการหาผู้มาร่วมทุนบริหารจัดการโครงการท่อส่งน้ำในครั้งนี้ โดยพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่ราชพัสดุให้ทำได้ 3 วิธีการ ได้แก่ 1.ประมูลโดยวิธีการทั่วไป 2.ใช้วิธีคัดเลือก 3.ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ดังนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรฯได้ลงไปตรวจสอบถึงความจำเป็นในการที่จะได้ผู้บริหารจัดการเช่าและบริหารจัดการน้ำนั้น จึงให้ใช้วิธีคัดเลือกผู้ประมูล”นายสันติกล่าว
นายสันติกล่าวว่า

ดังนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเลือกเอกชนมาดำเนินการ ตามที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ เห็นว่าควรจะใช้วิธีดังกล่าวถึง 2 ครั้ง 2 ครา ครั้งที่ 1 เป็นการทั่วไป เป็นการประกาศเป็นการทั่วไปเพื่อให้ผู้ที่สนใจจะมาบริหารจัดการน้ำและเช่า รวมถึงเก็บผลประโยชน์ต่างๆ ในวันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่จังหวัดระยอง ประกอบด้วยประชาชนทั่วไป ผู้แทน องค์กร และองค์การภาครัฐ สมาคม เอกชนและเชิญชวนบริษัททั่วไป

นายสันติกล่าวว่า ครั้งที่ 2 เป็นระบบมาร์เก็ตซาวดิ้ง ประกอบไปด้วน 5 ราย ที่ได้ยื่นมาร่วมประชุมในครั้งที่สอง 1.บริษัทอมตะ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด 2.บมจ.อีสวอร์เตอร์ 3.บริษัท กัลฟ เอนเนอร์ยี่ 4.บริษัท WHA 5.การประปาส่วนภูมิภาค และยังมีอีก 2 บริษัท ที่ยื่นข้อเสนออยากเข้าร่วมด้วย เพราะครั้งแรกไม่ได้มา ได้แก่ บ.วงษ์สยามก่อสร้าง และบ.วิค

ดังนั้น ท้ายที่สุด กรมธนารักษ์จึงได้เปิดให้บริษัทเสนอตัวเข้ามา ปรากฏว่ามีอยู่ 5 บริษัท ที่กรมธนารักษ์กำหนดเลือกเข้ามา ได้แก่ บ.อมตะ 2.บมจ.อีสวอเตอร์ 3.บมจ. WHA 4.บ.วงษ์สยาม และ 5.บ.วิค ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคนั้น แจ้งว่า ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมเนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฎหมายขององค์กร

เมื่อถึงเวลายื่นซองครั้งแรก ยื่นมา 3 บริษัท ได้แก่ บ.อีสวอเตอร์ บ.วงษ์สยาม และบ.วิค กรณีนายยุทธพงศ์ บอกว่า บ.อีสวอเตอร์ยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้ยื่นผลประโยชน์มา 6 พันล้าน จากปริมาณน้ำที่ 350 ล้านคิวต่อปี ขณะที่ บ.วงษ์สยามก็เสนอผลประโยชน์มาเช่นเดียวกัน ประมาณ 6 พันล้าน แต่จากปริมาณน้ำ ยื่นมา 150 ล้านคิวต่อปี เป็นเหตุให้ยกเลิกครั้งที่ 1 เนื่องจากคณะที่ปรึกษาที่จ้างให้มหาวิทยลัยเกษตรฯ ได้วิเคราะห์ และได้ตรวจเช็กการไหลของน้ำของท่ากรมธนารักษ์ทั้ง 3 ท่อนั้น

1 ปี capacity สูงสุด คือ 150 ล้านคิว แต่ตอนที่เขียน TOR นั้น ไม่ได้ใส่จำนวนน้ำว่า capacity สูงสุดควรจะเท่าไหร่ ก็จะใช้ของมหาวิทยาลัยเกษตรฯในฐานะที่ปรึกษาที่ส่งเข้ามา แต่ไม่ได้กำหนดลงไปใน TOR ปรากฏว่า บ.วงษ์สยามก่อสร้างนั้น เสนอมาที่ 150 ล้านคิว แต่บ.วงษ์สยามนั้น เสนอมาที่ 350 ล้านคิว ถ้าเราใช้ 150 ล้านคิวต่อ 50 ล้านคิวนั้น บ.อีสวอเตอร์เท่ากับว่าจะเสนอราคามาแค่ 3,000 ล้านเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้น คณะกรรมการเห็นว่า ถ้าให้ใครก็แล้วแต่ ก็จะมีปัญหา ไม่มีความเห็นธรรม เพราะว่า TOR ไม่สมบูรณ์ คณะกรรมการจึงได้ประชุมและยกเลิก เมื่อยกเลิกแล้ว กรรมการหลายคนได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก อธิบดีกรมธนารักษ์จึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้าไป เพื่อดำเนินการในครั้งที่สอง” นายสันติกล่าวว่า

นายสันติกล่าวว่า ในครั้งที่ 2 บ.WHA หรือ บ.อมตะ ได้แจ้งไปที่คณะกรรมการอีอีซีว่า ถ้าได้บริษัทที่ไม่มีความสามารถ หรือ มีความสามารถแต่จะมาค้ากำไรเกินควร ถ้าจะเก็บค่าน้ำแบบไม่จำกัดนั้น แล้วการที่ท่อส่งน้ำในอีอีซีของกรมธนารักษ์ส่วนใหญ่จะทำอย่างไร ท้ายที่สุดคณะกรรมการชุดใหม่บอกว่า เดิมบ.อีสวอเตอร์เก็บค่าน้ำอยู่ที่ คิวละ 12 บาทกว่าถึง 21 บาท

ดังนั้น ครั้งนี้คณะกรรมการจึงกำหนดให้บริษัทที่ชนะการประมูลสามารถเก็บค่าน้ำได้สูงสุด 10.98 บาท ดังนั้นตัวเลข 150 ล้านคิวต่อปี กับการเก็บค่าน้ำสำหรับผู้ใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงกลั่น หรือ ครัวเรือนก็จะใช้เรต 10.98 บาทก็จะเกิดความเป็นธรรมและความเสมอภาค ปรากฏว่าการประกวดราคาครั้งที่สองนั้น บ.อีสวอเตอร์เสนอราคามาตามมาตรฐานเดียวกันนั้น 24,000 กว่าล้าน และบ.วงษ์สยามก่อสร้าง เสนอมา 25,600 กว่าล้าน ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่

“พล.อ.ประยุทธ์ได้เชิญผมไปแล้วบอกว่า ให้ไปตรวจสอบ ให้ไปดูให้รอบคอบ ถ้าคุณยุทธพงศ์ไม่สบายใจและพูดให้พี่น้องประชาชนเกิดความเคลือบแคลง ไปตั้งกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ความจริงปรากฏดูจะดีไหม จึงได้ไปรึกษานายอาคม รมว.คลัง และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความสบายใจทุกฝ่าย หลังจากตรวจสอบแล้วทุกอย่างโปร่งใส ขั้นตอนการเปิดประมูลถูกต้องทุกขั้นตอนและตรวจสอบในเรื่องของปริมาณน้ำต่าง ๆ ที่มีปัญหาอยุ่ให้เกิดความรอบคอบ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วค่อยมาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป” นายสันติกล่าว