เผือกร้อน 8 เดือนสุดท้าย ประยุทธ์ จัดทัพขุนศึก ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมือง

ประยุทธ์
รายงานพิเศษ

1 กรกฎาคม 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครองอำนาจมา 8 ปี ก็จะโคจรเข้าสู่ครึ่งปีหลัง

นับถอยหลัง 8 เดือนสุดท้าย ก่อนครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 24 มีนาคม 2566 หลายเหตุการณ์สำคัญ ไม่ว่าเศรษฐกิจ-การเมืองกำลังท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ผู้นำประเทศคนที่ 29 ต้องฝ่าฟัน

เปลี่ยนผ่านสู่ “โรคประจำถิ่น”

ดีเดย์ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะ “เปลี่ยนผ่าน” จากสถานการณ์ “โรคระบาด” โควิด-19 สู่การเป็น “โรคประจำถิ่น”

สัญญาณบวก อย่างเป็นทางการ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่อง “ข้อกำหนด ฉบับที่ 46” ระบุไว้ใน ข้อ 3 การผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร

“เพื่อให้ประชาชนสามารถดําเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติยิ่งขึ้น จึงสมควรผ่อนคลายข้อจํากัดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ”

นอกจากนี้ยังปรับลดมาตรการ-เพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” ทั่วราชอาณาจักร เพื่อผ่อนคลายผู้ประกอบการร้านอาหาร-โรงแรม สถานบันเทิง ผับ-บาร์ รองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะทะลัก หลังยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass

ขณะที่การใช้จ่าย “เงินกู้” ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 จำนวน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท จะเข้าสู่ “เดดไลน์”

คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่มี “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน ครั้งที่ 15-ครั้งที่ 16 รายงาน “เงินก้อนสุดท้าย” ภายใต้ พ.ร.ก. เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เหลือ 62,182 ล้านบาท

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะโล่งอกไปได้เปลาะหนึ่ง หลังจากสถานการณ์ “วิกฤตสุขภาพ” คลี่คลายลง แต่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงาน-ราคาน้ำมัน จนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบกภาระหนี้ทะลุ 1 แสนล้านบาท ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2565

โดยเฉพาะการรับมือกับเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อสูง-สินค้าแพง ทั้งแผ่นดิน

คณะทำงานเฉพาะกิจ ที่มี “พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็น “หัวหน้าชุด” เตรียมเสนอแผนรับมือวิกฤตพลังงาน-ความมั่นคงทางอาหาร ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565

เพื่อบรรเทาแรงกดดันอารมณ์ในสังคมที่เริ่มไม่พอใจรัฐบาลในการแก้ปัญหาปากท้อง ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นม็อบปากท้อง คู่ขนานกับม็อบเรียกร้องประชาธิปไตย

Refresh ครม.ประยุทธ์ 2/5

แผลสดหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์กับอีก 10 รัฐมนตรี ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2565 จะส่งผลต่อการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/5

โดยเฉพาะรัฐมนตรีค่ายพลังประชารัฐ คือ เสี่ยโอ๋-ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส และ เสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่มีการรับแทงหวยล่วงหน้าว่า จะตกม้าตายกลางสภา-คะแนนโหวตไม่ไว้วางใจเกินครึ่ง

“รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐคนอื่น ๆ ทุกคนน่าเป็นห่วง ยกเว้น ท่านรองนายกฯ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ)” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย กาชื่อ-หมายหัวเอาไว้

ขณะที่รัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คน ที่เจียนอยู่-เจียนไปจากคำสั่งของศาล ได้แก่ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย กรณีการออกโฉนดที่ดินบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-เขตป่าไม้ถาวรโดยมิชอบ

และ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย พรรคประชาธิปัตย์ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ละเว้นไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ จำนวน 2 คัน เป็นเงิน 50.85 ล้านบาท ให้แก่บริษัทคู่สัญญา

ยังไม่นับ “หมัดเด็ด” ที่พรรคก้าวไกลเตรียมมาเปิดเผยกลางสภา โดยเฉพาะข้อมูลของบรรดา “รัฐมนตรีภูมิใจไทย” ที่แว่วว่ามีข้อมูลทุจริตระดับน็อกคาสภาได้

นับนิ้วแล้ว-รวมกับ “เก้าอี้ว่าง” จากโควตารัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐที่ยังว่างลง 2 ที่นั่ง อย่างน้อย 6 ตำแหน่งที่จะมีการปรับเข้า-ปรับออก

ส่วนจะเสริมทัพ “ทีมเศรษฐกิจ” เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทำ “แต้มต่อ” เป็น “สปริงบอร์ด” ไปถึงการ “กำชัยชนะ” ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้นที่จะให้คำตอบ เพราะ “เป็นเรื่องของผม”

โยกย้ายข้าราชการ-ผบ.เหล่าทัพ

นอกจากฝ่ายการเมืองแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 เป็นต้นไป จะเข้าสู่ฤดูกาลแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจ-ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่จะเกษียณอายุราชการยกแผง

แม้ บิ๊กบี้-พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะเกษียณอายุราชการถึงปี 2566 ก็ตาม

ไล่เรียงตั้งแต่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ

ขณะที่ข้าราชการระดับสูง ระนาบปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจ อาทิ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับกระทรวงมหาดไทย ระดับอธิบดี ได้แก่ นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายนิสิต จันทรสมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน และ นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัด 31 จังหวัด ได้แก่ 1.นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ นครศรีธรรมราช 2.นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ กาญจนบุรี 3.นายเฉลิมพล มั่งคั่ง มุกดาหาร 4.นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม สิงห์บุรี 5.นายชัยธวัช เนียมศิริ เลย

6.นายชาญนะ เอี่ยมแสง ระยอง 7.นายเชาวลิตร แสงอุทัย กำแพงเพชร 8.นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร เพชรบุรี 9.นายทวีป บุตรโพธิ์ อำนาจเจริญ 10.นายนิพันธ์ บุญหลวง ปัตตานี

11.นายประจญ ปรัชญ์สกุล เชียงใหม่ 12.นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม พิจิตร 13.นายภัครธรณ์ เทียนไชย ชลบุรี 14.นายภิรมย์ นิลทยา ยะลา 15.นายไมตรี ไตรติลานันท์ ฉะเชิงเทรา

16.นายรณชัย จิตรวิเศษ พิษณุโลก 17.นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ปราจีนบุรี 18.นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ลำพูน 19.นายวัฒนา พุฒิชาติ ศรีสะเกษ 20.นายวิเชียร จันทรโณทัย นครราชสีมา

21.นายวิรุฬ พรรณเทวี สุโขทัย 22.นายวีระชัย นาคมาศ พระนครศรีอยุธยา 23.นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อ่างทอง 24.นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ พะเยา 25.นายศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ หนองบัวลำภู

26.นายสนิท ขาวสอาด บึงกาฬ 27.นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ระนอง 28.นายสมศักดิ์ จังตระกูล ขอนแก่น 29.นายสิธิชัย จินดาหลวง ลำปาง 30.นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ นนทบุรี และ 31.นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ สุรินทร์

เป็นการเสริมทัพ-จัดวางกระบวนท่าใหม่ เพื่อรองรับ “งบประมาณใหม่” พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

สำหรับกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 325,900 ล้านบาท อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทย จำนวน 325,578 ล้านบาท อันดับ 3 กระทรวงการคลัง จำนวน 285,230 ล้านบาท

อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม จำนวน 197,292 ล้านบาท อันดับ 5 กระทรวงคมนาคม จำนวน 180,502 ล้านบาท อันดับ 6 กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 156,408 ล้านบาท อันดับ 7 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 126,067 ล้านบาท

อันดับ 8 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 124,748 ล้านบาท อันดับ 9 กระทรวงแรงงาน จำนวน 54,338 ล้านบาท และอันดับ 10 สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 32,477 ล้านบาท

วัดดวงสูตรปาร์ตี้ลิสต์

ขณะที่เกมนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร-รัฐสภา มีเกมสำคัญที่ตัดสิน-ชี้ชะตา อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่าย 3 ป. คือเกมแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ
ตามแผนของวิป 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เคาะการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับ จะเริ่มในวันที่ 5-6 กรกฎาคม ต่อจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 กรกฎาคม

จุดที่เป็น “หัวใจ” ของการพิจารณากฎหมายลูก ที่เชื่อมโยงกับอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่าย 3 ป. คือ สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากการเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว” เป็น “บัตรสองใบ”

จุดที่เป็นจุดชี้เป็น-ชี้ตาย คือจะใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบใด ให้เข้าทางกับการ “อยู่ต่อ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้มากที่สุด

ระหว่าง สูตรที่ 1 สูตรหาร 100 คือ ใช้สูตร “สัมพันธ์ทางตรง” โดย 3.5 แสนคะแนน เท่ากับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน วิธีคำนวณคือ นำคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคแต่ละพรรคได้ นำมาหารกับ 100 ซึ่งก็คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค

เบื้องต้นจึงคำนวณบนฐานคะแนนเลือกตั้งครั้งล่าสุดว่า 3.5 แสนคะแนนจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ซึ่งเข้าทางพรรคใหญ่ “เพื่อไทย” ยิ่งกาบัตรพรรคมาก ยิ่งได้ ส.ส.มาก

สูตรที่ 2 ซึ่ง ส.ว.+พรรคเล็ก+พรรคฝ่ายค้านบางพรรคอยากได้ โดยใช้จำนวน ส.ส.ทั้งสภา คือ 500 เป็นตัวหาร เพื่อให้ค่าเฉลี่ยของคะแนนเสียงที่ใช้ในการคำนวณ ส.ส.พึงมี ก่อนที่จะไปคิดว่าแต่ละพรรคควรมี ส.ส.ในสภาเท่าไร

จากนั้นไปดูว่าพรรคดังกล่าวได้ ส.ส.เขตเท่าไรแล้ว จึงเพิ่มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เต็มจำนวน ส.ส. ถ้าพรรคได้ ส.ส.เขตมาก จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย เป็นสัดส่วน “พึงมี”

แม้ พล.อ.ประยุทธ์กับพวกยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เช็กเสียง ส.ว.ฐานกำลังสำคัญของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” หนุนหาร 500 มากกว่าสูตร หาร 100 เพื่อปิดทางแผน แลนด์สไลด์เพื่อไทย

สิงหาฯชี้ชะตาปม 8 ปี

ไทม์ไลน์ยาวเหยียดตลอด 8 เดือนของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกแขวนไว้ในเดือนสิงหาคม 2565 เป็นช่วง “คอขาดบาดตาย” เพราะต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “ชี้ขาด” สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรี “เกิน 8 ปี” หรือไม่

3 แนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีตีความเป็นคำวินิจฉัย คือ แนวทางแรก พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงปี 2568 แนวทางที่สอง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงปี 2570 และแนวทางที่สาม ครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคม 2565

มีแนวทางที่สอง-อยู่ถึงปี 2570 เท่านั้น ที่จะการันตีสถานะความเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะใส่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เพียงชื่อเดียว หรือใส่ชื่อ “แคนดิเดตนายกฯสำรอง”