ป่ารอยต่อ พล.อ.ประวิตร พื้นที่ดีลปัญหาการเมือง ราชกิจจาฯระบุ 7 ข้อ

ประวิตร วงษ์สุวรรณ
FILE PHOTO : REUTERS/Jorge Silva

มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ปรากฏในสื่อ มีฐานะเป็นพื้นที่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แหล่งชุมนุมกลุ่มผลประโยชน์สำคัญ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นศูนย์รวม

วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด หรือบ้านป่ารอยต่อ ปรากฏในข่าวหลายสถานะ ที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิฯ

การก่อเกิดพื้นที่การเมืองแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่หลัง พล.อ.ประวิตร เกษียณอายุราชการ เมื่อเดือนตุลาคม 2548 หลังจากนั้น 28 กุมภาพันธ์ 2549 ได้ก่อตั้งมูลนิธิป่ารอยต่อฯ โดยที่ตั้งสำนักงานที่ บ้านพักสวัสดิการกองทัพบก ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน.1 รอ.) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ

สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งที่ทำการของกลุ่มอำนาจ 3 ป. ที่มักจะนัดรับประทานอาหารมื้อเช้า-เที่ยง และดินเนอร์ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คีย์แมนสำคัญของรัฐบาล

ก่อนการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงวันที่ 4 กันยายน 2564 ที่บ้านป่ารอยต่อแห่งนี้ ถูกเป็นที่เจรจาปิดเกมล้มเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากนั้นในช่วงดึกของวันที่ 8 กันยายน 2564 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ 2 รัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

มูลนิธิป่ารอยต่อฯดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ชุมนุมกลุ่มคอนเน็กชั่นทางการเมือง เป็นศูนย์รวมนักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ทั้งในฝ่ายพลเรือน และฝ่ายความมั่นคงทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมทั้งตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องปรากฏตัวในพื้นที่แห่งนี้ ในวาระจัดงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดของ พล.อ.ประวิตร ในช่วงตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

เป็นสถานที่จัดประชุมของฝ่ายบริหาร ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน แทนที่ทำเนียบรัฐบาล  รวมทั้งเคยถูกระบุว่าเป็นพื้นที่การเมือง ในการประชุมจัดตั้งรัฐบาล และแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง เป็นวงดินเนอร์-ล็อบบี้พรรคการเมืองที่บั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาล เช่น การนัดประชุมกลุ่มตัวแทนพรรคเล็ก 16 คน 1 วันก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565

ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 วัน ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย กลับเข้าบ้านป่ารอยต่ออีกครั้ง โดยอ้างว่าได้นำสมาชิกพรรค 16 เสียง เข้าอำลา พล.อ.ประวิตร เพื่อขอพ้นจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

หลายเหตุการณ์ที่ไม่ได้ปรากฏในสื่อมวลชน ถูกนำไปเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในปี 2563 และครั้งล่าสุด โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล

ล่าสุด นายวีระ สมความคิด ประธานประธานยุทธศาสตร์แผนงานต้านคอร์รัปชั่น พรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์ของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด หลังมีข่าวโยงเรื่องทางการเมืองอยู่ตลอดนั้น

โดยระบุถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่นำมูลนิธิดังกล่าวนี้มาดำเนินงานทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งมีหลักฐานปรากฏเป็นข่าวอย่างมากมาย มาตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

มีหลักฐานกระทั่ง นายพิเชษฐ สถิรชวาล ออกมายอมรับว่ามารับกล้วย (เงินเดือน) จาก พล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิแห่งนี้ หากเป็นการกระทำของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล พวกคุณจะปล่อยให้ลอยนวลเช่นนี้หรือไม่ ?

สำหรับภารกิจของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด” มีขอบเขตการทำงาน อำนาจ หน้าที่ ระบุว่า…

ความว่าด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร มีใจความสำคัญตามข้อบังคับของมูลนิธิ ดังนี้

1. มูลนิธิชื่อ “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด”

2 วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้คือ 2.1 สนับสนุนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

2.2  ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีสวัสดิการเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือน รวมทั้งครอบครัว ทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน ในขณะปฏิบัติหน้าที่ จนได้รับอันตราายถึงบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

2.3  อนุรักษ์ตามกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการโครงการ อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริและการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป

2.4 ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าภายในโครงการ ตลอดจนสร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป

2.5 ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริในการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของการดำเนินงานโครงการ

2.6 ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์และสังคมสงเคราะห์

2.7 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ประการใด

ราชกิจจา ป่ารอยต่อ