‘การบินไทย’ ผู้พา ‘กานเวลา’ แบรนด์ช็อกโกแลตของคนไทย ขึ้นเครื่องไปให้คนทั้งโลกลิ้มรสความอร่อย

รู้หรือไม่…หนึ่งในกลยุทธ์ที่ การบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ การสนับสนุนและส่งเสริม เกษตรกร-ผู้ประกอบการรายย่อย ให้เติบโต กระทั่งสามารถยืนอยู่บนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เหมือนกับที่ คุณกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์ หรือ คุณหนึ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ย้ำหนักแน่นว่า บริการใหม่ที่ถูกจัดไว้บนเที่ยวบินของการบินไทย นอกจากจะสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าแล้ว ประเทศชาติและสังคมต้องได้ประโยชน์ร่วมด้วย

คุณกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์

ดังนั้น เวลาที่การบินไทยจะหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ มาร่วมสร้างสรรค์บริการสุดประทับใจให้ลูกค้า จึงต้องเฟ้นหาหุ้นส่วนที่ไม่เพียงช่วยกันสร้างรายได้ แต่ยังต้องเกื้อหนุนและสร้างประโยชน์ให้สังคมในหลายๆ มิติ ซึ่ง ‘กานเวลา’ แบรนด์ช็อกโกแลตสายเลือดไทย ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่ตรงใจการบินไทยในหลายๆ ข้อ ไม่ว่าจะเป็น  

 ส่งเสริมเศรษฐกิจ เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรและคนในชุมชน พัฒนาสังคม เนื่องจากสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกโกโก้ ทั้งยังจัดหาแหล่งรับซื้ออย่างมั่นคงในราคายุติธรรม และ รักษาสิ่งแวดล้อม เพราะการปลูกโกโก้ที่เป็นพืชระยะยาว จะช่วยลดการเผา ถาง ในพื้นที่ทางการเกษตรได้ด้วย

เมื่อกานเวลาก่อประโยชน์ให้ทุกฝ่ายอย่างนี้ เราจึงขอพาทุกคนบินลัดฟ้าไปหา คุณธนา คุณารักษ์วงศ์ หรือ คุณท็อป เจ้าของและผู้ก่อตั้งแบรนด์กานเวลา ถึงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชิมช็อกโกแลตแสนอร่อย พร้อมพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกานเวลา ไปจนถึงที่มาที่ไปว่าเพราะอะไรถึงทำให้สายการบินแห่งชาติ เลือกให้ ‘ช็อกโกแลตกานเวลา’ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ใหม่อันน่าประทับใจให้กับผู้โดยสารของการบินไทย

คุณธนา คุณารักษ์วงศ์

กาลเวลา ทำให้เกิด ‘กานเวลา’

หลังจากเครื่องแลนดิ้ง เราก็ตรงดิ่งไปที่กานเวลา Kan Vela Craft Chocolate ร้านคราฟท์ช็อกโกแลตของคุณท็อป เมื่อจัดแจงที่นั่งและสั่งเครื่องดื่มขนมเสร็จสรรพ เราก็เริ่มบทสนทนากันทันที 

Advertisment

“เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ผมเริ่มอิ่มตัวจากการทำงานประจำ ทั้งยังอยากให้ลูกๆ ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ตอนนั้นเลยตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิต หันมาปลูกพืชทำสวนอย่างเต็มตัว เริ่มแรกก็ลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ลำไย มะม่วง ที่เป็นพืชหลักของเชียงใหม่ แต่ก็พบว่าพืชเหล่านี้เวลาออกผลผลิตพร้อมกันทีละมากๆ ถ้าขายออกไม่ทัน การแปรรูปมันลำบากเกินไป บวกกับผู้รับซื้อก็มีอยู่ไม่กี่ราย ดังนั้นผมจึงเริ่มศึกษาพืชอื่นๆ จนสุดท้ายมาจบที่โกโก้”

ตอนนั้นคุณท็อปก็คงเหมือนกับใครหลายคนที่ยังเชื่อว่า ‘ต้นคาเคา’ หรือ ‘ต้นโกโก้’ ปลูกได้แค่ที่อเมริกาเหนือ หรือในแถบทวีปแอฟริกาเท่านั้น แต่ความเป็นจริงไทยเราเองก็เป็นหนึ่งประเทศในทวีปเอเชีย ที่สามารถปลูกต้นโกโก้ได้เช่นกัน เนื่องด้วยต้นโกโก้เป็นพันธุ์ไม้ที่ดูแลง่าย ไม่กินน้ำมาก แถมโตเร็ว ไม่ค่อยมีศัตรูพืชรบกวน ทั้งยังมีอายุนานถึง 50 ปี ให้เราเก็บผลผลิต 

Advertisment

เมื่อคุณท็อปรู้เช่นนี้ ก็เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับการปลูกและแปรรูปโกโก้ให้ลึกขึ้น จนวันหนึ่งตัดสินใจลงมือปลูกต้นโกโก้เอง เพื่อทดลองว่าจะโตได้หรือไม่ในพื้นที่และสภาพอากาศของเชียงใหม่ เมื่อเห็นว่ามีการเติบโตแถมยังโตได้ดีด้วย แพลนขยายสวนจึงเกิดขึ้น!

“ตอนแรกก็ว่าจะปลูกเพื่อขายลูกโกโก้สดและเมล็ดโกโก้แห้งเพียงอย่างเดียว โดยจะเน้นขายผลผลิตที่คุณภาพดีในราคา 200-250 บาทต่อกิโลกรัม จนมาเจอเพื่อนต่างชาติที่เขาอยู่ในวงการอุตสาหกรรมช็อกโกแลต ก็ได้แนะนำว่า แม้ช็อกโกแลตจะผลิตและบริโภคในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือเป็นส่วนใหญ่ แต่แหล่งเพาะปลูกและส่งออกโกโก้จริงๆ กลับเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งแถบนั้นขายเพียง 120-150 บาทต่อกิโลกรัมเอง ซึ่งมันยากมากที่จะทำให้เขาเปลี่ยนใจมาซื้อเมล็ดโกโก้กับผม เพราะสุดท้ายก็ไม่มีใครอยากเฉือนกำไรตัวเอง”

กานเวลาเติบโตมากับเกษตรกรไทย

ระหว่างที่คุยกัน คุณท็อปก็หันไปหยิบผลโกโก้สดและเมล็ดโกโก้แห้งออกมาให้เราชมไปพลางๆ พร้อมเล่าต่อว่า หลังได้ฟังคำแนะนำจากเพื่อน นาทีนั้นก็เปลี่ยนเป้าหมายเลย โดยตั้งใจว่าช่วงแรกจะทำเมล็ดโกโก้แห้งที่เป็นวัตถุดิบในการทำช็อกโกแลตให้ได้ก่อน เมื่อไหร่ที่ทำได้ถึงจะต่อยอดทำโรงงานผลิตช็อกโกแลต เพื่อที่อย่างน้อยวันไหนช็อกโกแลตสัญชาติไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล มีการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด วันนั้นเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ก็จะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

แต่ไม่ง่ายอย่างนั้น เมื่อจะเริ่มแปรรูปแต่ต้นโกโก้ที่ปลูกยังไม่ออกดอกออกผลให้ได้ใช้ จนต้องขวนขวายหาซื้อผลผลิตจากที่อื่น ปรากฏว่าไม่มีสวนไหนยอมขายให้คุณท็อปเลย เนื่องจากช่วงปี 2561-2562 การปลูกโกโก้ยังไม่แพร่หลาย ผลผลิตที่ได้จึงน้อยมากๆ แต่สุดท้ายก็มีหนึ่งที่ที่ยอมขายผลโกโก้ให้กับกานเวลา นั่นคือ เกษตรกรจากบ้านคลองลอย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ในวันนั้นพี่เขายอมขายผลโกโก้ให้ผมเพียงราคากิโลกรัมละ 10-12 บาท เพราะเขาเห็นว่าเรามีความตั้งใจจึงอยากสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ ทำให้เราตั้งใจว่าเมื่อวันไหนกานเวลาเติบโต  เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ทุกคนก็ต้องเติบโตด้วยเช่นกัน”

กานเวลา กับขนมหวานหลากหลายรสชาติ

เคยได้ยินไหมว่า ‘ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร’ ตลอดหลายปีที่คุณท็อปและทีมงานตั้งใจศึกษาในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อค้นหาสายพันธุ์โกโก้ที่เหมาะสมสำหรับเป็นวัตถุดิบที่ดี เพื่อให้ได้ช็อกโกแลตที่มีรสชาติหลากหลาย จนได้รสชาติและคุณภาพช็อกโกแลตในแบบฉบับของกานเวลาออกมาในที่สุด

“แรกๆ ก็มีเพียงดาร์กช็อกโกแลตและช็อกโกแลตบงบงไม่กี่รสเท่านั้น แต่ปัจจุบันกานเวลามีช็อกโกแลตบาร์ 14 รสชาติ ในขณะที่ช็อกโกแลตบงบงมีถึง 30 รสชาติ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำขึ้นหน้าร้าน ให้ลูกค้าได้เลือกลิ้มลองกันแบบไม่ซ้ำ”

และเพราะมีเจ้าของเป็นพวกชอบทดลองและคิดค้นอะไรใหม่ๆ นี่แหละ จึงทำให้กานเวลามีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตหลากหลายรสชาติออกมาให้ลองไม่หยุด แถมยังมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร จนไปได้รางวัลจากเวทีระดับโลกถึง 2 สถาบัน คือ เวที International Chocolate Awards 2020 และ Academy of Chocolate 2021 ทั้งยังได้รับรางวัลดาวรุ่งหน้าใหม่ International Rising Star Award ในเวทีดังกล่าวอีกด้วย

ส่งมอบช็อกโกแลตจากเกษตรกรไทย ให้ลูกค้าการบินไทย 

ใครๆ ก็มีความฝัน เช่นเดียวกับคุณท็อปที่ฝันอยากให้สินค้าของกานเวลาเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก “เมื่อก่อนผมเดินทางไปต่างประเทศบ่อยมาก เวลาบินสายการบินแห่งชาติของประเทศไหนๆ ก็มักเห็นช็อกโกแลตที่ผลิตจากประเทศนั้นๆ ถูกนำขึ้นเสิร์ฟให้กับผู้โดยสาร ผมเลยคิดว่าถ้าวันหนึ่งสามารถทำช็อกโกแลตที่มีคุณภาพไปถึงจุดที่สายการบินแห่งชาติภูมิใจ และกล้าที่จะนำขึ้นไปบริการให้กับผู้โดยสารคงจะดี”

สอดคล้องกับที่ คุณหนึ่ง-กิตติพงษ์ เคยบอกไว้ว่า หลังจากคิดค้นกาแฟ Black Silk Blend ร่วมกับทางโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว มีคนแนะนำว่า เวลาดื่มกาแฟเสร็จ บางคนอาจรู้สึกว่าต้องมีของหวานมาประกอบจึงจะมีความเข้ากัน คุณหนึ่งและทีมงานของการบินไทย จึงระดมความคิดและศึกษาข้อมูลต่างๆ จนทราบว่า เมืองไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศเหมาะแก่การปลูกโกโก้ได้ดีเยี่ยม และสามารถผลิตช็อกโกแลตที่มีคุณภาพสูง หลากหลายแบรนด์ก็มีรางวัลการันตีอีกด้วย

การบินไทยจึงเปิดให้ผู้ผลิตช็อกโกแลตรายย่อย หรือเกษตรกรรายย่อย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งคุณท็อปก็ไม่รอช้า เดินเข้าไปหาการบินไทย พร้อมนำช็อกโกแลตรสชาติต่างๆ ของกานเวลาไปให้ทีมการบินไทยได้ลองชิม ผลปรากฏว่า เมื่อทุกคนได้รับประทานคู่กับกาแฟ Black Silk Blend ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เข้ากันอย่างลงตัว เพราะด้วยตัวกาแฟเองมีความนุ่ม กลมกล่อม และมีความเป็นกรดไม่สูง ซึ่งกาแฟที่มีคาแรกเตอร์แบบนี้จะเข้ากันได้ดีกับช็อกโกแลตที่มีกลิ่นหอมของมะพร้าวคั่วหรือคาราเมลอยู่ในตัวช็อกโกแลตของกานเวลา

ดังนั้น ช็อกโกแลตที่ถูกเลือก จึงเป็น ‘ช็อกโกแลตบาร์แบบวีแกน ดาร์ก 72 เปอร์เซ็นต์ คลองลอยออริจิ้น’ ที่เรียกตามชื่อของแหล่งปลูกต้นโกโก้ ณ หมู่บ้านคลองลอย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยให้บริการเสิร์ฟบนชั้นธุรกิจ Royal Silk Class ส่วนชั้นหนึ่ง First Class จะเสิร์ฟเป็น ‘ช็อกโกแลตบงบง’ ขนมรูปทรงกลมเล็กๆ พอดีคำ 4 ชิ้น 4 รสชาติ ได้แก่ ฝรั่งพริกเกลือ ตะโก้เผือก สังขยามะพร้าวคั่ว และเฮเซลนัทคาราเมล ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยเคียงคู่กับความเป็นสากล 

“เมื่อได้รับแจ้งว่าการบินไทยจะนำช็อกโกแลตทั้ง 2 ชนิดขึ้นให้บริการ จึงบอกพี่เกษตรกรที่ปลูกโกโก้ให้ทราบ ทุกคนก็ดีใจ ภูมิใจมากที่ผลผลิตที่เฝ้าดูแล ลงมือปลูกอย่างพิถีพิถัน เอาใจใส่ทุกขั้นตอน วันนี้ถูกนำขึ้นไปให้บริการบนสายการบินแห่งชาติ ผ่านสายตาของผู้โดยสารนับหมื่นคน”

คุณท็อปปิดท้ายบทสนทนา ด้วยข้อความหนึ่งว่า สิ่งที่กานเวลาทำในวันนี้ไม่เพียงตัวเองอยู่ได้ แต่ยังทำให้เกษตรกรที่ส่งผลผลิตให้เรามีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้หลายๆ คน มีความภูมิใจในถิ่นที่อยู่ของตัวเอง ไม่ต้องดิ้นรนไปหางานทำที่อื่น เกิดการสร้างงานในชุมชน ซึ่งจุดเล็กๆ พวกนี้ ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น เกิดการส่งต่อความรู้ไม่รู้จบ 

จะเห็นว่ากว่าจะเกิดเป็นหนึ่งบริการ การบินไทยไม่เพียงคิดแค่ว่าจะทำรายได้ให้เท่าไหร่ เพราะในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติ ต้องคิดเผื่อไปถึงว่างานที่ทำอยู่ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศอย่างไร ทำให้ประชาชนและสังคมดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ไปจนถึงช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่

ดังนั้นจึงมั่นใจได้เลยว่าเมื่อใช้บริการของการบินไทย ทุกคนได้ช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทย และช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้เติบโตไปอย่างยั่งยืนแน่นอน