GAME CHANGER PART II กรวัฒน์ เจียรวนนท์ CEO สตาร์ทอัพอายุน้อยที่สุดในโลก

ไม่ธรรมดาตั้งแต่นามสกุล “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอโค่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการสื่อสารและการจัดการภายในองค์กรผ่านโทรศัพท์มือถือ

ปัจจุบันอายุ 24 ปี ก่อตั้ง Eko ตั้งแต่อายุ 17 ปี (2012) เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งอายุน้อยที่สุดในโลกที่ได้เงินลงทุนในระดับ Series A (จัดอันดับโดย Forbes Asia, 30 under) ปีที่ผ่านมาเพิ่งได้รับเงินทุนจากกองทุนชั้นนำของโลกระดับ Series B อีกกว่า 660 ล้านบาท หรือ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายตลาดในอเมริกาและยุโรป

“การได้ทุนซีรีส์ B เท่ากับพิสูจน์ว่านักลงทุนเห็นว่าสินค้าของเราไปได้และมีโอกาสไปได้ในระดับโลก”

แต่กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ได้ไม่ง่าย ทั้งยังเคยผ่านช่วงเวลาที่เกือบยกธงยอมแพ้มาแล้วด้วย

“กรวัฒน์” เป็นหลานปู่ของ นินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นลูกชายคนโตของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” แม่ทัพเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี.

กฎเหล็ก “เจียรวนนท์”

ธรรมเนียมปฏิบัติในครอบครัว “เจียรวนนท์” จะไม่ให้ลูกหลานเข้ามาในกิจการที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเจอสิ่งที่ “ใช่” เขาจึงไม่ลังเลที่จะไล่ล่าความฝันด้วยการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพของตนเอง หลังโครงงานพัฒนา “กรุ๊ป แมสเสจจิ้ง” ของเขาและเพื่อนได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 ทีมสุดท้าย ในโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพ สมัยเรียนมหาวิทยาลัย Columbia ปี 1 ที่สหรัฐอเมริกา

“ตอนนั้นสตาร์ตอัพเป็นเทรนด์ที่มาแรงที่อเมริกา และคุณพ่อมักพูดเสมอว่า ให้ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข เรื่องเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เอื้อให้คนอายุน้อยทำได้ เป็นสิ่งที่มีโอกาสเติบโตได้เร็ว และเริ่มต้นได้โดยไม่ต้องใช้เงินมาก” แต่คุณพ่อมีข้อแม้ว่า ถ้าจะดร็อปเรียน ต้องหาเงินทุนจากกองทุน (Venture Capital) มาให้ได้เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ คือต้องมีบทพิสูจน์ว่าทำได้ เพราะถ้าไม่มีเงินทุนจากข้างนอกแล้วออกจากการเรียนมาจะกลายเป็นว่า ไม่มีอะไรทำ ยิ่งถ้าธุรกิจไม่เวิร์ก จะกลายเป็นว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

จากกรุ๊ปแมสเสจจิ้งสู่ Eko

จากโครงงาน “กรุ๊ป แมสเสจจิ้ง” ในงานประกวดสตาร์ตอัพที่อเมริกา พัฒนามาเป็น All In One platform ภายใต้แบรนด์ Eko เป็น “แอปพลิเคชั่น” ที่รวมทุกอย่างให้พนักงานในองค์กรใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่บริการพื้นฐานอย่างการ Chat, Video Conference, การจัดการกระบวนการทำงาน รวมถึงการฝึกอบรม ต่าง ๆ เป็นต้น

“เราเอาหลายอย่างมารวมกันไว้ใน App เดียว ทำให้ใช้ง่ายและราคาดีกว่า แทนที่บริษัทจะต้องซื้อ 3-4 App ให้พนักงานใช้ เสียเงิน 6-7 เหรียญต่อหัวต่อเดือน มาใช้ของเราถูกกว่า ใช้ง่ายกว่า เพราะดีไซน์มาเพื่อให้ใช้งานได้ใน App เดียวในตลาดประเทศต่าง ๆ ยกเว้นในจีน ไม่มีใครทำโปรดักต์แบบเราโดยตรงจึงมีโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่มาก ซึ่งตลาดที่โตเร็วที่สุดของเรา คือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ”

“กรวัฒน์” พูดถึงหลักคิดในการทำธุรกิจสตาร์ตอัพว่า ควรคิดตั้งแต่แรกเลยว่าจะทำอะไรที่ไปได้ในตลาดระดับภูมิภาค ไม่ใช่มองแค่สำหรับคนไทยเท่านั้น เพราะตลาดไทยไม่เล็ก แต่ก็ไม่ใหญ่เทียบกับหลายประเทศในเอเชียด้วยกัน หากคิด “โกลบอล” ได้จะทำให้สามารถระดมทุนจากกองทุนต่างประเทศได้ด้วย

ซอฟต์แวร์ไทยไปได้ทั่วโลก

ซีอีโอหนุ่มวัย 24 ย้ำว่า เทียบกับตลาดต่างประเทศแล้ว ไทยยังถือว่าเล็กมาก และว่า ถ้าคิดแค่ตลาดไทยก็ได้แค่ในไทย”

ปัจจุบัน Eko มีสำนักงานในกรุงเทพฯ, นิวยอร์ก, ลอนดอน และกัวลาลัมเปอร์ พร้อมกับเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่และท้าทายกว่าเดิม คือการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น “แนสแดค” ภายใน 3 ปี

“คีย์ของธุรกิจซอฟต์แวร์ขึ้นอยู่กับ scale ธุรกิจนี้ใครชนะได้ในตลาดหนึ่งก็จะสามารถชนะในตลาดโลกได้เช่นกัน เปรียบกับ Amazon ถ้าจะเข้ามาทำตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยไม่ง่าย เพราะต้องสร้างโลจิสติกส์และระบบขนส่งต่าง ๆ ขณะที่ธุรกิจซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์จะนำ Microsoft Office เข้ามาทำตลาดในไทยก็เข้ามาได้เลย ทำให้บริษัทที่ใหญ่ ๆ ของโลกจะเป็นบริษัทซอฟต์แวร์”

เช่นกัน โปรดักต์ของ Eko ที่สามารถไปเปิดตลาดได้ทั่วโลก ขึ้นอยู่กับว่าจะสร้างทีมเพื่อขยับขยายการทำตลาดไปในประเทศต่าง ๆ ได้เร็วแค่ไหน

“กรวัฒน์” ย้ำว่า ธุรกิจซอฟต์แวร์ ถ้าจะรอดได้ต้องไปในระดับโลก สร้าง Business strategy ในต่างประเทศ

เพราะการใช้จ่ายด้านไอทีขององค์กรในไทยและอาเซียนยังน้อยมากเมื่อเทียบกับในยุโรปและอเมริกา

“เมื่อสเกลที่อเมริกาและยุโรปได้ บริษัทจะมีมูลค่าระดับโลก สำหรับเราถือเป็นความภูมิใจ เพราะ สตาร์ตอัพ Top 5 ในอาเซียนยังไม่มีเจ้าไหนที่ออกจากอาเซียนได้ ความฝันของเราคือเป็นสตาร์ทอัพ ที่ scale ไปในระดับโลกได้”

ปัจจุบันสินค้า Eko เป็น Global product ขายได้ทั่วโลก หลังจากเข้าไปทำตลาดในอเมริกาได้ 3 เดือน มีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 1.7 แสนรายมาใช้บริการแล้ว “เขาไม่ได้มองว่าเป็นสินค้าไทยหรือที่ไหน

เขาไม่ได้สนใจ ถ้า product ดีก็สามารถทำตลาดในต่างประเทศได้”

ฝันไกลถึงระดมทุนใน “แนสแดค”

การเปิดออฟฟิศในประเทศต่าง ๆ ขยายทีมงานขยายตลาดต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก นอกจากผลักดันการหารายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว “Eko” ยังมองไปถึงการระดมทุนในรอบถัดไปอีก 50-100 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนที่จะก้าวไปยังฝันที่ใหญ่กว่านั้นในอีก 3 ปีครึ่งข้างหน้า

“กรวัฒน์” มองถึงการนำบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาด้วย โดยให้เหตุผลว่า “แนสแดค”เป็นตลาดหุ้นที่ให้แวลูเอชั่นบริษัทสูงที่สุดในโลก

“ถือเป็นความฝันของเรา และมีคำมั่นสัญญากับนักลงทุนว่าจะเข้าให้ได้ภายใน 5 ปี นับจากปลายปี 2017 มาตอนนี้เหลือเวลาอีก 3 ปีครึ่ง ไม่ได้รู้สึกกดดัน แต่ก็ไม่ได้สบาย ถ้าสบายจะแปลว่าเรากำลังทำอะไรไม่ถูก เพราะงานมันใหญ่ขึ้น เราต้องไม่สบาย”

ดึงทาเลนต์สร้างองค์กรระดับโลก

“กรวัฒน์” บอกว่า การขับเคลื่อนองค์กรไปในระดับโลกได้ต้องมี “ทีมงาน” ที่มีความสามารถระดับโลกด้วย Eko จึงต้องดึงคนเก่งและมีประสบการณ์จากทั่วโลกให้เข้ามาร่วมงาน ปัจจุบันบริษัทมีทีมงานกว่า 200 คน ครึ่งหนึ่งอยู่ประจำสำนักงานในประเทศไทย อีกครึ่งอยู่ต่างประเทศ โดยรวมแล้วเป็นองค์กรนานาชาติที่มีคนมากกว่า 20 เชื้อชาติทั่วโลก

หลักในการเลือก “คน” มาร่วมทีม จะเลือก “คน” ที่โฟกัสเรื่องงาน และมีทัศนคติที่เปิดรับวัฒนธรรมและความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ในฐานะผู้นำองค์กร เขาบอกว่า สิ่งที่ “คนเก่ง” ต้องการคือ “ความท้าทาย” ดังนั้นการที่ Eko เป็นบริษัทที่มีโอกาสจะขึ้นไปในระดับโลกได้ ถือเป็น “โอกาสใหญ่และความท้าทาย” ที่ดึงดูดให้คนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาร่วมงานด้วย

“ถ้าเราเป็นบริษัทที่มองแค่ตลาดในประเทศ บุคลากรระดับโลกก็คงไม่สนใจมาทำงานด้วย แต่ถ้าเราจะทำอะไรในระดับโลก คนเก่งก็อยากมา ตอนนี้เรามีออฟฟิศในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก คุณอยากไปทำงานที่ลอนดอนหรืออเมริกาก็ได้”

ในฐานะสตาร์ตอัพรุ่นพี่ “กรวัฒน์” พูดถึงคุณสมบัติสำคัญที่สตาร์ตอัพควรจะมี โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น คือ การไม่ยอมแพ้ อาจฟังดูเหมือนง่ายแต่มันยาก เพราะต้องยอมรับว่า โอกาสประสบความสำเร็จน้อยมาก จึงยิ่งต้องไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ

“สำหรับเรา ตอนนี้ก็ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ตอนนี้สตาร์ตอัพไทยคิดเป็นอันดับ 2-3 ในแง่คุณภาพ เทียบกับอาเซียน แต่ในอเมริกาสตาร์ตอัพมีเยอะมาก ๆ ถ้าเทียบในระดับโลกถือว่าเราเล็กมาก ๆ และยังต้องสู้อีกเยอะ”

สอนให้จับปลาไม่ใช่ซื้อปลา

แม้จะเป็นทายาทตระกูลดัง และธุรกิจที่กำลังจะทำได้รับการยอมรับจากนักลงทุนแล้วว่ามีโอกาส แต่ครอบครัวก็ยังไม่ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแต่อย่างใด

“คุณพ่อบอกว่า ที่ไม่ลงทุนด้วย ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อในไอเดีย แต่ถ้าเอาเงินมาให้ เราจะไม่ได้เรียนรู้ ทุกอย่างง่ายเกินไป ท่านต้องการให้ผมพิสูจน์ตัวเองก่อน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เงินหมด ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานที่มีประมาณ 10 คน ไม่ได้จ่ายเงิน 2 เดือน สุดท้ายก็ได้เงินจากกองทุนมา โดยไม่ได้ขอเงินคนในครอบครัว ไม่ได้รู้สึกว่าทำไมเขาไม่ช่วย เราเข้าใจ”

“กรวัฒน์” มองว่า ถ้าครอบครัวยื่นมือมาช่วย แปลว่า “ไม่ได้ช่วย”

“คุณพ่อพูดเสมอว่า ถ้าคุณสำเร็จผมดีใจ แต่ถ้าคุณล้มเหลวผมก็ดีใจมาก ๆ แปลว่าเราได้เรียนรู้มาก ๆ ไม่งั้นเราก็จะไม่ได้ประสบการณ์ที่สำคัญ และจริง ๆ ผมคิดว่าบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงเยอะที่สุดก็ตอนที่กำลังจะตาย เป็นช่วงที่ทำให้เราคิดว่าจะต้องพลิกสถานการณ์ยังไง”

เป็นการสอนให้เรา “จับปลาให้เป็น ไม่ใช่ให้เงินมาซื้อปลา”

บทเรียนชีวิตจริง ไม่ใช่หนังฮอลลีวูด

ถึงแม้เขาจะไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ประสบการณ์ในชีวิตจากการทำงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมาเขาถือว่า “คุ้มค่ามาก”

“ถ้าคุณอยากเป็นผู้ประกอบการ ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่สอนได้ การทำบริษัทเองได้อะไรเยอะมาก ได้เรียนรู้ทุกด้าน ทั้งกฎหมาย ภาษี การบริหารจัดการ การระดมทุน การขายของ โปรดักต์ดีไซน์ ทำทุกอย่าง เป็นการเรียนรู้จากการทำงาน จากการลองผิดลองถูก และจากการอ่าน ทุกวันนี้ยังอ่านหนังสือทุกวัน และเรียนรู้ทุกวัน”

“กรวัฒน์” ตระหนักว่า การสร้างสตาร์ตอัพในชีวิตจริงแตกต่างจากเรื่องเล่าในหนังฮอลลีวูดที่เขาเคยดูมากนัก

“หนังโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือหนังของสตีฟ จ็อบส์ที่เคยดู ทุกอย่างจะสร้างได้อย่างยิ่งใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วเป็นอะไรที่ยากมาก และมีหลายสิ่งที่น่ากลัว และมีความเสี่ยง เช่น ถ้าเดือนหน้าไม่รู้ว่าจะจ่ายพนักงานยังไงก็น่ากลัวแล้ว เป็นภาระที่หนักมากแต่โชคดีที่ผม มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ที่มีประสบการณ์ช่วยให้คำแนะนำ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รู้สึกว่ากำลังจะล้มเหลว หลังจากทำธุรกิจของตนเองได้ 2 ปีแล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่ว่าคงทำไม่ได้ “เขา” เล่าว่า กำลังจะเปลี่ยนแนวธุรกิจจาก commercial product มาเป็น consumer product

คำสอนของพ่อ

“ตอนนั้นคิดว่าจะยอมแพ้แล้ว แต่คุณพ่อบอกว่า คุณต้องห้ามยอมแพ้ เพราะชีวิตจริงไม่เหมือนในหนัง บางคนต้องใช้เวลา 20 ปี นี่เพิ่งแค่ 2 ปีเอง ซึ่งถ้าเปลี่ยนตอนนั้น ก็คงไม่มีวันนี้ คงเป็นแค่ธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ และจบไปแล้ว เราเห็นคุณพ่อใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะสร้างบริษัทขึ้นมาสำเร็จ พอท่านบอกว่า อย่ายอมแพ้ เพิ่งจะเริ่มจะให้สำเร็จได้ยังไง ก็เลยคิดได้”

เมื่อตัดสินใจสู้ต่อ แนวคิดในการทำงานก็เปลี่ยนมาอยู่ในโหมดที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ คิดแค่ว่า “จะอยู่อย่างไรให้ยั่งยืน” มากกว่าเน้นการเติบโต พยายามลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีการปรับลดขนาดองค์กรจากที่มีพนักงานกว่า 60 คน ลดลงเหลือ 35 คน และหันมาโฟกัสโปรเจ็กต์ที่คิดว่าจะมีรายได้

“ช่วงนั้นเราใช้เงินเยอะเกินไป เชื่อมั่นในตัวเองมาก อยากขายโปรดักต์ได้เร็ว ๆ ทำให้ประมาทหลายอย่าง ยังไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าโปรดักต์อย่างเราต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการขาย เป็นช่วงที่ขยายงานเยอะ ลงทุนเยอะ เลยมีปัญหาเพราะจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนไม่ถูก”

“กรวัฒน์” บอกว่า พอผ่านวิกฤตช่วงนั้นมาได้ก็ไม่เคยสงสัยในแนวทางธุรกิจที่ทำ พร้อมเดินหน้าขยับขยายตลาดในต่างประเทศต่อเนื่อง และไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะยากแค่ไหน เขาจะไม่ยอมแพ้

“คงเหมือนกับคนที่ผ่านอะไรมาก่อน เขาจะบอกได้ว่า สิ่งที่เราเจอมันเป็นธรรมชาติ ไม่ได้แย่ และอาจมีแย่กว่านี้ได้อีกเยอะด้วย” (หน้าพิเศษ Game Changer PartII)