ดร.นิเวศน์ ชี้อีก 10 ปี เวียดนามแซงไทย นักลงทุนหนีปัญหาการเมือง-สังคมคนแก่

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูนักลงทุนวีไอ วิเคราะห์สถานการณ์ประเทศไทย ยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง นักลงทุนเจอความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้การยอมรับบนเวทีโลกตกต่ำ ซ้ำเติมด้วยสังคมผู้สูงอายุ ชี้ เศรษฐกิจเวียดนามจะแซงไทยภายใน 10 ปี

วันที่ 14 สิงหาคม 2565 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ประเทศไทยเคยเป็น “ดาวรุ่ง” ของโลกโดยเฉพาะในช่วง “สงครามเย็น” ที่เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปี 1945 ถึงปี 1991 เป็นเวลา 46 ปี และต่อจากนั้นอีกประมาณ 16 ปี จนถึงปี 2007 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตซับไพรมในอเมริกาในปี 2008

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นและการมี “บทบาทในเวทีโลก” ในช่วงแรกนั้นส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการที่มหาอำนาจคืออเมริกาต้องต่อสู้ป้องกันการเผยแพร่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซียและจีน โดยที่ไทยเป็นประเทศ “หน้าด่าน” ที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อเมริกาต้องการชักชวนให้เข้าเป็นพวกซึ่งในกระบวนการนั้น ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยโดยเฉพาะในด้านของสาธารณูปโภคและการใช้จ่ายทางด้านการทหารจำนวนมากของสหรัฐเพื่อต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลครอบงำประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่รอบไทย

หลังจบสงครามเย็นและเริ่มกระบวนการ “Globalization” หรือการที่โลกเน้นการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงการลงทุนที่มีการเคลื่อนย้ายไปทั่วโลก นั่นทำให้ไทยซึ่งมีความพร้อมกว่าประเทศในย่านอาเซียน สามารถพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วโดยการเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการผลิต โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น และนั่นทำให้ไทยกลายเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ประเทศหนึ่งของเอเชีย

และแม้ว่าไทยจะประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2540 หรือปี 1997 เราก็ยังสามารถฟื้นขึ้นมาได้และเติบโตเร็วต่อมาอีก 10 ปี จนถึงปีวิกฤตปี 2008 ที่เศรษฐกิจตกลงมาอย่างหนักและหลังจากนั้นประเทศก็ยังเกิดปัญหาต่อเนื่องมาตลอดรวมถึงปัญหาทางการเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยเติบโตสูงต่อเนื่องยาวนานดูเหมือนว่าจะ “ลดลงอย่างถาวร” จนถึงวันนี้เป็นเวลา 13-14 ปีแล้ว

การเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าของประเทศไทยที่โดดเด่นในอดีตเองนั้น ดูเหมือนจะตกต่ำลงมากอานิสงส์จากการที่ประเทศข้างเคียงรวมถึงเวียดนามเริ่ม “เปิดประเทศ” ซึ่งสามารถดึงดูดทุนจากต่างประเทศได้ดีกว่าและมากกว่าไทยที่คนเริ่มขาดแคลนและแรงงานมีราคาแพงขึ้นมากเมื่อเทียบกับศักยภาพ

ปัญหาทางการเมืองก็มีส่วนที่ทำให้การยอมรับของโลกลดต่ำลงเมื่อเทียบกับเวียดนามที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในสายตาของอเมริกา กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญก็ไม่สนใจที่จะทำสนธิสัญญาทางการค้าด้วย ซึ่งก็ส่งผลให้ประเทศไทยไม่ใช่ทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนามหรืออินโดนีเซียที่ปัจจัยต่าง ๆ เอื้ออำนวยมากขึ้นมากเมื่อเทียบกับไทยที่ปัจจัยต่าง ๆ ถดถอยลง

ที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้นมากและอัตราการเกิดต่ำมาก และกำลังเป็น “สังคมคนแก่” ซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้นเป็นไปได้ยากนอกเสียจากว่าจะสามารถ “เพิ่มประสิทธิภาพ” การทำงานขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาที่แก้ยาก เหตุผลก็เพราะ “คุณภาพ” ของคนค่อนข้างจะจำกัด เพราะระดับการศึกษาของไทยนั้นมีการพัฒนาขึ้นน้อย เห็นได้จากระดับความก้าวหน้าทางด้านการศึกษา เช่น การวัดและจัดอันดับการทดสอบเช่น PISA Test ของเด็กไทยไม่ได้ดีขึ้นในระยะเวลายาวนาน เช่นเดียวกับดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

คำถามที่สำคัญก็คืออนาคตของประเทศไทยจะไปทางไหน เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกว่ามาก ? และผมเองก็อยากจะตอบคำถาม “ยอดฮิต” ที่ว่า เวียดนามจะตามทันไทยไหม ? และจะทันเมื่อไร ? และนี่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจ แต่เป็นบทบาททางการเมืองและสังคมระหว่างประเทศซึ่งหลายคนบอกว่าควรจะรวมถึงการเป็นผู้นำทางด้านกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลที่เป็นกีฬายอดนิยมของทั้งสองประเทศด้วย

ผมจะใช้ข้อมูลผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ของ 3 ประเทศหลักในอาเซียนคือไทย ฟิลิปปินส์และเวียดนามเป็นตัววัด โดยที่ไทยจะเป็นประเทศหลักในฐานะที่เจริญเติบโตมาก่อนและมีขนาดใหญ่ที่สุด ในปี 2021 ตัวเลขจากธนาคารโลกบอกว่า GDP ของไทยเท่ากับประมาณ 506 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 18 ล้านล้านบาท ในขณะที่ของฟิลิปปินส์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ที่ 394 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 78% ของไทย และเวียดนามเล็กที่สุดที่ 363 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 72% ของไทย

อย่างไรก็ตาม มองไปในอนาคตระยะยาวจากสถาบันระดับโลกและโดยการปรับตัวเลขที่ผมคิดว่าน่าจะใกล้เคียงนั้นบ่งชี้ว่าเวียดนามจะโตได้ปีละประมาณ 7.2% ต่อปี ฟิลิปปินส์โตปีละ 5.3% และไทยจะโตแค่เพียง 3.6% ต่อปี

ดังนั้น ภายในเวลา 10 ปี หรือปี 2032 เศรษฐกิจเวียดนามก็จะตามทันเศรษฐกิจไทย คือ GDP อยู่ที่ประมาณ 726 พันล้านเหรียญ หรือเศรษฐกิจเวียดนามโตขึ้นเท่าตัว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยโตขึ้น 43% นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าตกใจมาก เพราะหลายคนรวมถึงผมเองที่เข้าไปเที่ยวและลงทุนในเวียดนามอาจจะนึกไม่ถึง แต่ผมเองก็คิดว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้สูงเมื่อลองนึกดูว่าครั้งแรกที่ผมไปจีนเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนที่ได้เห็น “ความล้าหลัง” ของจีนอย่างสุดกู่ แต่เวลาผ่านมา “ไม่นาน” จีนซึ่งเติบโตเร็วมากกลายเป็นอีกโลกหนึ่ง

ฟิลิปปินส์เองที่เคยรุ่งเรืองกว่าไทยและแทบทุกประเทศในเอเชียในอดีต ได้กลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” ในสมัย “เผด็จการมาร์กอส” และก็กลับมารุ่งเรืองใหม่อีกครั้งในช่วง “ประชาธิปไตย” ในระยะหลังนี้ ประกอบกับจำนวนประชากรที่สูงถึง 116 ล้านคน ก็จะสามารถไล่ตามไทยทันในอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า โดยที่เศรษฐกิจจะใหญ่เท่ากันที่ 858 พันล้านเหรียญ ถึงวันนั้นประเทศไทยจะใหญ่เป็นอันดับ 4 ถ้ามาเลเซียไม่แซงไปเสียก่อน

คำถามที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งก็คือ ไทยจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือพัฒนาแล้วเมื่อไร ? ถ้าคิดจากตัวเลขรายได้หรือนิยามในปัจจุบันก็คือรายได้ต่อหัวของคนในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 710,000 บาทต่อปี หรือ 59,200 บาทต่อเดือน ในขณะที่ปัจจุบันรายได้ของเราอยู่ที่ 7,233 เหรียญต่อปี หรือเดือนละ 21,400 บาท นั่นก็หมายความว่าเราต้องใช้เวลาอีก 30 ปีกว่าที่เราจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วถ้าเรายังโตไปเรื่อย ๆ ในอัตราปีละ 3.5%

ผมเองคิดว่าโอกาสที่เราจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอาจจะน้อย เราคงติดกับ “ประเทศรายได้คนชั้นกลาง” ถ้าไม่เลวร้ายจนกลายเป็น “ประเทศล้มเหลว” เหมือนกับบางประเทศที่เคยรวยมาก่อน เพราะผมดูแล้ว การจะเติบโตปีละ 3.5% ติดต่อไปอีก 30 ปีนั้นคงจะยากเมื่อคำนึงถึงว่าจำนวนคนไทยจะเริ่มลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ไม่ต้องพูดถึงการพัฒนาทางด้านประสิทธิภาพที่จะยากขึ้นมากเมื่อเราแก่ตัวลงเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราอยากจะโตต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งที่จะทำได้คงต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ “สิ้นเชิง” และโดยคนรุ่นหนุ่มสาวในปัจจุบันที่ยังมีอายุเหลืออยู่เพียงพอที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและพัฒนาแล้ว