ขนส่งทางบกลงเสาเอกโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้า”เชียงของ”ฮับโลจิสติกส์ประชิดชายแดนไทย-ลาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 มกราคม 2561 กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประกอบพิธีบวงสรวงการก่อสร้างและยกเสาเอกอาคารสำนักงานกลางโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย มี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน

โครงการดังกล่าวสร้างบนพื้นที่กว่า 336 ไร่ ต.เวียง อ.เชียง บนถนนทางหลวง 1356 ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย ประมาณ 1 กม. ใช้งบก่อสร้าง 1,360 ล้านบาท มี หจก.สามประสิทธิ์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการระยะที่ 1 ในปี 2563

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ให้เป็นประตูการค้าในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและยังรองรับนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายของรัฐบาลอีกด้วย

เนื่องจากอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดน เชื่อมไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)-สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และถนนสาย R3A ยกระดับมาตรฐานการขนส่งสินค้า รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียน การเติบโตของสาธารณรัฐประชาชนจีนฝั่งตะวันตก ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked)

รวมถึงรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า จากถนนสู่ระบบราง ตามแผนการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งจะทำให้อำเภอเชียงของกลายเป็นเมืองหลักด้านโลจิสติกส์ Logistic Hub เป็นอีกหัวใจสำคัญในการแปลงโฉม จ.เชียงราย ให้เป็นโลจิสติกส์ซิตี้ของภูมิภาค

ส่วนเส้นทางสาย R3A นับเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่มีบทบาทความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS)

จะเริ่มต้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เข้าสู่บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ฝั่ง สปป.ลาว ผ่านแขวงหลวงน้ำทา ก่อนจะเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน และตรงสู่เมืองเชียงรุ้ง และคุนหมิง รวมระยะทางประมาณ 1,100 กม.

ปัจจุบันมีสินค้าหลากหลายประเภททั้งสินค้าจำพวกผักและผลไม้สด สินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องจักร และวัสดุก่อสร้าง ถูกขนส่งผ่านเส้นทาง มีมูลค่าการค้าผ่านด่านเชียงของมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท

กรมการขนส่งทางบกจึง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประตูการค้าที่รองรับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีนฝั่งตะวันตก จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ

จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยจะเป็นที่ทำการของหน่วยงาน CIQ คือ Custom (พิธีการศุลกากร) Immigration (การตรวจคนเข้าเมือง) และ Quarantine (การตรวจและกักกันพืชและสัตว์) ทำให้ผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปมา สามารถเข้าไปใช้บริการที่ศูนย์ฯ เชียงของ เพียงแห่งเดียว เป็นจุดบริการแบบ One Stop Service

รวมถึงรองรับการพัฒนาเป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (CCA) ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยและ สปป.ลาว สามารถตรวจปล่อยสินค้าร่วมกันได้ ณ จุดเดียว ช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอนาคตอีกด้วย

สำหรับการให้บริการของศูนย์ฯ เชียงของ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ในระยะที่ 1 จะเน้นการให้บริการเปลี่ยนหัวลาก-หางพ่วง ระหว่างรถบรรทุกไทยกับรถบรรทุกต่างประเทศ มีการให้บริการอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ปลั๊กเสียบตู้แช่เย็น (Reefer) และอุปกรณ์ยกตู้คอนเทนเนอร์ (Reach Stacker)

ยังมีพื้นที่คลังสินค้าศุลกากร คลังสินค้าทัณฑ์บน และอาคารสำหรับบรรจุสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) รองรับให้บริการ จะสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้กว่า 270,000 ทีอียู

สำหรับระยะที่ 2 ศูนย์ฯ เชียงของ จะรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสู่ระบบราง พร้อมพัฒนาพื้นที่ Container Yard สำหรับการวางตู้คอนเทนเนอร์ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 2 ได้ในปี 2566 สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

คาดการณ์ว่าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงรายนี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ส่งผลให้จังหวัดชายแดนกลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อ (Hub) การขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งช่วยอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชิงบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบกกำลังเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP ติดตั้งระบบ บริหารและซ่อมบำรุงรักษาโครงการ และขณะนี้เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว คาดว่าประมาณไตรมาส 4 ปีนี้จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชน ตามขั้น พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556

คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของภาคเอกชน ประมาณ 820 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 15 ปี