“ซีพีแลนด์”ดีเดย์แกรนด์โอเพนนิ่งศูนย์ประชุม KICE เมืองขอนแก่น ธ.ค.นี้ ยอดบุ๊กกิ้งวิ่งฉิว 64%

ซ้าย: สมเกียรติ เรือนทองดี / ขวา: กฤษณ์ เลขะกะ

นายสมเกียรติ เรือนทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE-Khonkaen International Convention and Exhibition Center) ว่า โครงการนี้เริ่มปี 2558 เริ่มก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2559 คาดว่าการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ตั้งเป้าเปิดบริการภายในเดือนธันวาคม 2560 นี้

“บริษัทมีธุรกิจ 5 กลุ่ม โดยที่พักอาศัยมีคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ โรงแรมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ออฟฟิศบิลดิ้ง โดย KICE เริ่มตั้งแต่ 0 จนถึง 100 บัดนี้มีความพร้อมให้บริการชุมชนและจังหวัดขอนแก่น ใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท หลังจากนี้บริษัทเตรียมความพร้อมเพื่อลงทุนก่อสร้างโรงแรมเพื่อรองรับผู้มาร่วมงาน”

ล่าสุด สถิติบริษัทลงทุนแล้ว 33 จังหวัดจาก 77 จังหวัด แบ่งเป็นภาคอีสาน เริ่มที่ขอนแก่น จากนั้นมีการลงทุนในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีกรุงเทพฯ เป็นเฮดออฟฟิศ และต่างจังหวัดแต่ละภูมิภาคมีจังหวัดฮับของภูมิภาค

ก่อนหน้านี้เมื่อ 22 ปีที่แล้วบริษัทได้เข้าไปลงทุนในขอนแก่น จากประสบการณ์ลงทุน 35 ปีของบริษัท มีทีมงานจำนวนมากพอสมควร มีการพัฒนาคอนโดฯ 3 โครงการ 8 อาคาร, สำนักงาน 3 อาคารทันสมัยที่สุดในจังหวัด ล่าสุด กำลังจะมีศูนย์ประชุมทันสมัยที่สุดในภาคอีสาน เฉพาะระบบสื่อสารลงทุน 50 ล้านบาท โดยร่วมมือกับทรู คอร์ปอเรชั่น

ในขณะที่รัฐบาลมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู่พื้นที่ขอนแก่น ปัจจุบันมีศักยภาพเป็นเมืองศูนย์กลางส่วนราชการ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, มีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศูนย์กลางการค้าการลงทุน, เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ผ่านโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีศูนย์หัวใจสิริกิติ์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ในด้านประชากร ขอนแก่นอยู่อันดับ 3 ของภาคอีสาน ในขณะที่ด้านรายได้เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคนี้ โดยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนตอยู่อันดับ 2 ของภาค, สถิติการใช้มือถือ 4 แสนเครื่อง, คอมพิวเตอร์ 5 แสนเครื่อง

“ประสบการณ์ 22 ปีการลงทุนในขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีเส้นทางคมนาคมขนส่งเข้าถึงได้หลายเส้นทาง ในอนาคตจะมีรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-ขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งมีสถานีที่ขอนแก่นด้วย

การเดินทางนอกจากใช้รถยนต์ ยังมีโครงการขอนแก่นซิตี้บัส ให้บริการเดินทางในตัวเมือง ในอนาคตมีรถไฟฟ้ารางเบาอีกด้วย เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทตัดสินใจลงทุน KICE เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและรองรับการใช้บริการให้กับจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนตลาดเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)

รัฐบาลกำหนด MICE 5 แห่ง ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ กำลังจะไปพัทยา และภูเก็ต ในขณะที่ขอนแก่นซีพีแลนด์เป็นผู้ลงทุนเอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมพัฒนาโครงการภายใต้นโยบายของรัฐบาล

“ซัพพลาย-ดีมานด์ในขอนแก่นมีตลอด มีการจัดงานตลอด กลายเป็นว่าการจัดงานกระจุกตัวที่กรุงเทพฯ ส่วนการจัดงานในต่างจังหวัด บางจังหวัดยังไม่มีศูนย์ประชุมที่ชัดเจน ต้องอาศัยจัดที่โรงแรม KICE จึงเกิดขึ้นเพื่อให้มี MICE City ที่ชัดเจน และเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของบริษัท เพราะขอนแก่นถือว่า KICE เป็นโครงการลงทุนของจังหวัด”

นายกฤษณ์ เลขะกะ ผู้อำนวยการ KICE กล่าวเพิ่มเติมว่า KICE ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินขอนแก่นเพียง 15 นาที ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพ การเดินทางหากใช้เส้นทางจากโคราชมุ่งหน้าขอนแก่นจะอยู่ขวามือ ด้านหลังมีทางรถไฟซึ่งรัฐบาลกำลังจะสร้างไฮสปีดเทรน คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จใน 3 ปีหน้า

สำหรับเหตุผลในการลงทุน KICE พบว่ามีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ 4 ศูนย์ ซึ่งศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เตรียมปิดชั่วคราวเพื่อรีโนเวตครั้งใหญ่ ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการเริ่มมองหาแหล่งจัดงานแสดงสินค้ารองรับ ส่วนใหญ่มองไปทางภาคใต้และภาคอีสาน ทำให้ KICE สามารถรองรับความต้องการใช้บริการได้สอดคล้องพอดี

รายละเอียด สร้างบนที่ดินแปลงใหญ่ 60 กว่าไร่ พื้นที่จัดแสดงอินดอร์ 15,000 ตารางเมตร พื้นที่จัดแสดงเอาต์ดอร์หรือกลางแจ้ง 10,000 ตารางเมตร จอดรถได้ 1,000 คัน บริษัทเช่าที่ดินรองรับเป็นที่จอดรถได้อีก 1,000 คัน รวมเป็น 2,000 คัน

มีห้องประชุมย่อย 7 ห้อง ฟู้ดคอร์ทชั้นล่างรองรับได้ 600 คน ซินเนอร์ยี่กับซีพีฟู้ดเวิลด์ โดยร่วมมือกับบริษัทซีพีแรม , มีพนักงาน 150 คน จึงเชื่อมั่นว่าการบริการระดับเฟิร์สคลาส เพราะมีประสบการณ์จากทีมงานมืออาชีพ รองรับได้ทั้งการจัดแสดงสินค้า การจัดประชุมอินดอร์และเอาต์ดอร์ การจัดงานแบบผสมผสาน การประชุมทางการแพทย์ต่างๆ

ในด้านการออกแบบ ใช้บริษัทดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ออกแบบศูนย์สิริกิติ์ กับบริษัท ซีอีแอล ผู้รับเหมาระหว่างก่อสร้าง ลงทุนตามมาตรฐานของ สสปน. (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ-TCEB)

พื้นที่ชั้นล่าง 7,500 ตารางเมตร คำนวณฟลอร์โหลด 2.5 ตัน รองรับการจัดแสดงเครื่องจักรขนาดใหญ่และเครื่องจักรเกษตรกรรม ชั้นบนความสูง 15 เมตร มาตรฐานเดียวกับศูนย์ประชุมไบเทคและอิมแพค แจ้งวัฒนะ มีแคทวอล์กให้ออกาไนเซอร์ใช้สำหรับติดตั้งป้ายโดยไม่ต้องเช่ารถยกเพิ่ม , มีมัลติทัชหรือห้อยไฟในงานคอนเสิร์ตหรือมอเตอร์โชว์ ทำให้ไฟแสงสว่างมาก

มีการวางระบบเครือข่ายรางน้ำ ไฟ น้ำเสียทุก 9 ตารางเมตร เป็นการลงทุนสูงเทียบกับมาตรฐานทั่วไป เพราะบริษัทมองถึงความสะดวกในการใช้สถานที่ ลูกค้าสามารถมูฟอินภายใน 1 วัน จากปกติต้องใช้เวลามูฟอิน 3 วัน ทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการจัดงาน

นายกฤษณ์กล่าวต่อว่า บริษัทได้เข้าไปพูดคุยเพิ่มเติมกับ KKTT (บริษัทร่วมทุนของท้องถิ่นเพื่อระดมเงินสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล) จะมีรถจากชัตเติลบัสมารับ-ส่งถึงหน้า KICE ในอนาคตมีโครงการโมโนเรล 22 สถานี หนึ่งในนั้นมีสถานีด้านหน้าศูนย์ KICE

ไฮไลต์ยังมีการลงทุนเทคโนโลยีทันสมัยด้วยการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก รองรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 10 Gbps เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ เช่น ระบบไวไฟ เน็ตเร็วกว่า, ระบบ HD, เวลาทำการค้าหรือเซ็ตโปรแกรมสามารถสื่อสารได้ทันที โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยียังรองรับระบบ 5G สัญญาณหน่วงแทบจะไม่มีในศูนย์ ทุกคนสามารถรันการสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและทันที ระบบเครื่องเสียงดีที่สุดทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

ผู้รับเหมาก่อสร้างคือ บริษัทแก่นประกายทีม เป็นผู้รับเหมาอันดับ 1 ของจังหวัดขอนแก่น เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบริษัทที่ต้องการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนและจังหวัดใกล้เคียง

สำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย สัดส่วน 60% จากธุรกิจคอนซูเมอร์ในกรุงเทพฯ อีก 30% ลูกค้าขอนแก่น โดยเฉพาะส่วนราชการและกิจกรรมทางการแพทย์ และสัดส่วน 10% มองลูกค้าจากเออีซี

ปัจจุบันมีบุ๊กกิ้ง 64% หรือ 10 งาน อาทิ งานจัดสอบต่างๆ ในภูมิภาค งานเฟอร์นิเจอร์แฟร์ งานบ้านและสวนแฟร์ ฯลฯ โดยงานแรกของบริษัทแหอวน ครบรอบ 40 ปี คนร่วมงาน Staff Party 6,000 คนในช่วงเดือนธันวาคม ในขณะที่ KICE รองรับการจัดงานได้ครั้งละ 10,000 คน ทั้งนี้ มีงานใหม่ 12 หัวงานผ่านออกาไนเซอร์มาจากกรุงเทพฯ ระดับการจัดงานเหมือนจัดในกรุงเทพฯ แต่กระจายไปหัวเมืองต่างจังหวัด

“สังเกตว่าตอนนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีบริการ 3-4 ส่วนหลัก อาทิ Exhibition, Meeting, Incentive จากบุ๊กกิ้งที่มีคาดว่ารายได้ปีแรก 100-150 ล้านบาท ในขณะที่ปีที่ 2-3 เป็นต้นไปไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท คำนวณจากการจัดงานไม่มีศูนย์ประชุมแห่งใดทำรายได้ 100% หรือ 365 วันในหนึ่งปี เพราะต้องมีช่วงติดตั้งบูท เป็นต้น”

ในด้านการทำตลาด มีการติดต่อกับออกาไนเซอร์ผ่าน KKMM-Khonkaen Mice and Management 12 รายหลัก ในอนาคตหลังเปิดบริการคาดว่าจะมีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น บริษัทจัดอันดับแรกคือใช้พันธมิตรขอนแก่น จากนั้นสามารถขยายไปจังหวัดใกล้เคียงได้

“ต้องมองภาพขอนแก่น คนที่จะจัดงานลักษณะ B to B ไม่ได้ลำบาก แต่ต้องคุยคนเทนต์ว่าจะจัดแสดงเครื่องจักรตัวไหน เช่น เครื่องตัดอ้อย ทำให้มีผู้จัดแสดงจากต่างประเทศให้ความสนใจ โดยช่วงปลายปีบริษัทเตรียมจัดกิจกรรมแกรนด์โอเพนนิ่งเพื่อดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการ”

นายกฤษณ์กล่าวตอนท้ายว่า ระหว่างนี้มีการจัดทริปเยี่ยมชมศูนย์โดยออกาไนเซอร์ 14 ราย , ร่วมกับ TCEB นำออกาไนเซอร์ 40 รายลงพื้นที่, เชิญโลคอลออกาไนเซอร์มาร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสร้างเน็ตเวิร์กลูกค้าท้องถิ่นกับกรุงเทพฯ รวมทั้งลูกค้าสถาบันการศึกษา