ลูกบ้านแอชตัน อโศกยื่นรื้อฟื้นคดี “ยงสิทธิ์” อดีตผู้ว่า รฟม.ยินดีเป็นพยานศาลปกครอง

แอชตัน อโศก

เพราะไม่อาจนิ่งเฉย จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้ และต้องสู้จนถึงที่สุด

กล่าวสำหรับลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ในนาทีนี้ หลังได้รับผลกระทบจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแบบมีผลย้อนหลัง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพจิตที่หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า และมีความวิตกกังวลต่าง ๆ นานา

จนนำมาสู่การยื่นหนังสือร้องขอพิจารณาคดีใหม่ต่อศาลปกครองกลาง ในนามนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก หรือลูกบ้านแอชตัน อโศก จำนวน 668 ห้องชุด จาก 580 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

ยื่นขอฟื้นคดีตามมาตรา 75

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจาะประเด็นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่มี 4 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ

1.สืบเนื่องจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นผู้ฟ้องคดี โดยพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งก่อสร้างอาคาร (ม.39 ทวิ, ม.39 ตรี) โดยให้มีผลย้อนหลัง เนื่องจาก รฟม.นำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน มาให้ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรีของโครงการดังกล่าว เป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน

ทั้งนี้ เวลา 84 วันนับจากมีคำพิพากษาที่ผ่านมา แม้เจ้าของร่วม (ลูกบ้านแอชตัน อโศก) จะขวนขวายขอความช่วยเหลือไปยังส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้องหลายแห่ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ระยะเวลาในการใช้สิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 นี้

ดังนั้น นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก โดยนายพิสุทธิ์ รักวงษ์ และนางสาวเยาวลักษณ์ สุลีสถิระ จากสำนักงานกฎหมาย บริษัท พิสุทธิ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ได้ทำการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อศาลปกครองกลาง

“ลูกบ้านจำเป็นต้องปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง ด้วยการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากเจ้าของร่วมและนิติบุคคลอาคารชุดเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือถูกกระทบจากผลแห่งคดี แต่มิได้เข้าไปในกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าว จึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542”

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก

มั่นใจมีพยานหลักฐานใหม่

2.ประเด็นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ จะมีน้ำหนักพอที่ศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ตัวแทนลูกบ้านแอชตัน อโศก เชื่อว่ามีเหตุที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ และมีข้อเท็จจริงใหม่ในสาระสำคัญ ซึ่งอาจมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ดังนี้

2.1 เจ้าของ 668 ห้องชุดเห็นว่า การพิจารณาวัตถุประสงค์ของการกำหนดเขตที่ดินที่เวนคืนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินประกอบกัน

2.2 พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ปี 2550 ฉบับล่าสุด เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระบุวัตถุประสงค์ว่า “เพื่อสร้างหรือจัดให้มีการขนส่งโดยรถไฟฟ้าและที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้า และธุรกิจอื่นเพื่อประโยชน์แก่ รฟม. และประชาชนในการใช้บริการกิจการรถไฟฟ้า”

จากการที่เจ้าของห้องชุดแอชตัน อโศก ใช้ทางเข้า-ออกโครงการเป็นประจำทุกวัน เชื่อว่า รฟม.ได้ใช้บริเวณพื้นที่ใต้ดินของทางเข้า-ออกดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสุขุมวิท ที่ประกอบไปด้วยอาคารสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน อันเป็นกิจการรถไฟฟ้าซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว

ดังนั้น การอนุญาตให้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก ร่วมกับการใช้เป็นทางเข้า-ออกที่จอดรถของ รฟม. จึงไม่ได้กระทบต่อวัตถุประสงค์การเวนคืน และไม่ได้เป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่โครงการแอชตัน อโศก เท่านั้น

ซึ่งในประเด็นนี้ นิติบุคคลฯแอชตัน อโศก จะขอให้ศาลออกตรวจสถานที่พิพาท และมีคำสั่งให้ รฟม.จัดส่งแผนผังและระบบงานใต้ดิน เพื่อประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลด้วย หาก รฟม.ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ดิน ทางเข้า-ออกดังกล่าวจะทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

รฟม. “สงวนสิทธิ์” ทุกโครงการ

3.จากการตรวจสอบและค้นหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน รฟม.เป็นทางเข้า-ออก สำหรับอาคารชุดแห่งอื่น พบว่า

3.1 รฟม.ได้กำหนดข้อสงวนสิทธิ์ในการใช้ที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน สำหรับการอนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออกอาคารชุดทุกแห่งที่ได้รับอนุญาต

3.2 รฟม.มีแนวทางปฏิบัติต่อโครงการอาคารชุดแห่งอื่นเช่นเดียวกับโครงการแอชตัน อโศก กล่าวคือ รฟม.จะมีหนังสือยืนยันว่าอนุญาตให้อาคารชุดใช้ที่ดิน รฟม.เป็นทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะได้ตลอดเวลาที่อาคารตั้งอยู่

3.3 หากศาลปกครองมีคำสั่งให้เรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน รฟม.เป็นทางเข้า-ออก ของโครงการอาคารชุดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร เพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป ก็จะพบว่า รฟม.มีแนวทางปฏิบัติในการอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออก โครงการอื่นเช่นเดียวกับแอชตัน อโศก มิได้มีการอนุญาตเป็นพิเศษ หรือเฉพาะเจาะจงสำหรับโครงการนี้เท่านั้น

กระทบเชื่อมั่นผู้บริโภค-นักลงทุน

ประเด็นสุดท้าย 4.การเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้กับโครงการแอชตัน อโศก ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ได้แก่

4.1 ผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์และการอยู่อาศัยของลูกบ้าน 668 ห้องชุด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางการเงินของลูกบ้าน เจ้าของโครงการ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

4.2 ผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่เจ้าของโครงการและลูกบ้าน และกระทบต่อเนื่องไปถึงระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

4.3 ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

4.4 ผลกระทบต่อระบบงานของศาล เนื่องจากจะเกิดข้อพิพาทฟ้องร้องเกี่ยวกับโครงการนี้ต่อศาลยุติธรรม และศาลปกครองเป็นจำนวนมาก เช่น ลูกบ้านฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดเพื่อการละเมิดเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับแอชตัน อโศก หรือลูกบ้านฟ้องร้องเจ้าของโครงการให้รับผิดตามสัญญาซื้อขาย หรือกรณีสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อ ฟ้องลูกบ้านให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน

4.5 หากต้องรื้อถอนอาคารชุดแอชตัน อโศก จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในชุมชนโดยรอบ

และ 4.6 การให้รื้อถอนแอชตัน อโศก ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใด แต่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งในแง่งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างและรื้อถอน ซึ่งไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับจากการรื้อถอนเลย

อดีตผู้ว่าการ รฟม.ยินดีเป็นพยาน

ขณะที่ “ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล” อดีตผู้ว่าการ รฟม. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้ผ่านทางในปี 2557 กล่าวสั้น ๆ กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้าหากศาลปกครองมีการรื้อฟื้นคดี และเรียกให้ไปเป็นพยาน ตนมีความยินดีที่จะให้ถ้อยคำและเป็นพยานในคดีนี้

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล
ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล

 

ประเด็นคือ 1.ตนเคยให้สัมภาษณ์ในเพจ Money Chat ว่าคดีนี้ ทำไมศาลปกครองไม่ได้เรียกให้ตนไปให้ถ้อยคำ 2.ในช่วงเวลาที่คดีเริ่มต้นพิจารณาใหม่ ๆ ได้พูดคุยกับผู้บริหารชุดปัจจุบัน (นายภคพงศ์ ศิริกันทรามาศ ผู้ว่าการ รฟม.) พร้อมกับแนะนำว่าทำไมไม่เรียกผู้บริหารและบอร์ดชุดเก่า (ชุดที่เป็นผู้อนุมัติออกใบอนุญาตผ่านทางปี 2557) มาชี้แจงเพื่อให้เข้าใจเรื่องได้อย่างถูกต้อง เพราะผู้บริหารชุดใหม่ไม่ใช่เป็นผู้อนุมัติจึงอาจจะไม่เข้าใจเท่ากับชุดเก่า

“เบื้องต้น ผมดูข้อมูลของกฤษฎีกาพบว่ามีข้อผิดเพี้ยนข้อหนึ่ง ในประเด็นบอกว่า รฟม.ยกที่ให้โครงการ ซึ่งผิดเพี้ยนแน่นอน เพราะเราไม่ได้ยกที่ให้ แต่ให้ใช้เป็นทางผ่านร่วมกัน กรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของ รฟม. ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์เดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” คำกล่าวของอดีตผู้ว่าการ รฟม.