The Aspen Tree ผนึกสองศูนย์วิจัย RISC-Baycrest สร้างมิติใหม่แห่งการดูแลสุขภาพคนวัยอิสระ

ดิ แอสเพน ทรี เดอะ ฟอเรสเทียส์ โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อวัยอิสระ ร่วมกับ เบย์เครสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงวัยระดับโลกจากแคนาดา และ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนภายใต้ MQDC (RISC by MQDC) ร่วมศึกษาและพัฒนางานวิจัยเชิงลึกด้านสมอง พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อวัย 50+

วันที่ 18 มีนาคม 2567นายคริสเตียน ทอยวาเนน ผู้อำนวยการบริหาร โครงการ ดิ แอสเพน ทรี เดอะ ฟอเรสเทียส์ กล่าวว่า รายงานจาก Statista พบว่าประชากรสูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 20-30% ของประชากรทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 30-40% ในปี 2593 ซึ่งหมายถึงประชากรโลก 1 ใน 6 คนเป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี้ รายงานในวารสาร Lancet Public Health ในปี 2565 คาดการณ์ว่าประชากรโลกที่มีภาวะสมองเสื่อม จะเพิ่มขึ้นมากถึง 166% ในปี พ.ศ. 2593 นับจากปี 2562 ส่วนในประเทศไทย ประชากรอายุเกิน 60 ปี ซึ่งมีประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ. 2565 และจะเพิ่มเป็น 40%ในปี พ.ศ. 2593 และผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าเป็นห่วงถึง 257% ใน 30 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มค่าเฉลี่ยอายุที่สูงขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จึงได้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับประชากรกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะ โดยตั้งเป้าให้เป็นโครงการที่มอบการดูแลอย่างครบวงจรตลอดชีวิต เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ สมอง และสังคม จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลวัยอิสระในการพัฒนาโครงการ เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับประชากรวัยอิสระได้อย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ จนถึงการให้บริการหลังลูกบ้านเข้าอยู่อาศัยในโครงการแล้ว

“ทางโครงการยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งร่วมสนับสนุนองค์ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และต่อยอดนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อผู้คน และสังคมวัยอิสระได้อย่างแท้จริง และยังเป็นโอกาสอันดีที่ทางโครงการ จะได้นำงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเวชศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้พัฒนาโครงการ เพื่อให้ ดิ แอสเพน ทรี สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยคุณภาพตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการมอบการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรตลอดชีวิตให้แก่ผู้อาศัย นอกจากนี้ผลงานวิจัยเหล่านี้จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะนำมาใช้ที่ศูนย์บริการทางการแพทย์เฉพาะทางสมองและฟื้นฟูสุขภาพบริษัทฯ ที่จะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้อีกด้วย” นายคริสเตียน กล่าว

ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ ฝ่ายบูรณาการงานวิจัยเพื่อการเผยแพร่ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนภายใต้ MQDC (RISC by MQDC) และหัวหน้าทีมวิจัยศาสตร์แห่งความสุขเชิงวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ทาง RISC ได้นำเสนอผลงานจากศูนย์วิจัยศาสตร์แห่งความสุขเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 กลุ่มงานวิจัยของ RISC และเป็นศูนย์วิจัยแห่งแรกในเอเชียที่เน้นค้นคว้าวิจัยเชิงลึก ในเรื่องการทำงานของสมองโดยเฉพาะ เพื่อหาปัจจัยที่ทำให้มนุษย์มีความสุข ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ นำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชากร โดยเฉพาะกลุ่มคนวัย 50+ ซึ่งกำลังกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ทั้งนี้ ศาสตร์แห่งความสุขเชิงวิทยาศาสตร์ (Happiness Science Hub) เป็นการศึกษาพฤติกรรมและจิตวิทยาของคนทุกช่วงวัย และวิจัยประสาทการรับรู้ของมนุษย์ ผ่านสัญญาณสมองและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างอารมณ์เชิงบวก และความสุข รวมถึงทำความเข้าใจความเสื่อมถอยด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ และหาแนวทางลดความเสี่ยงการเกิดโรค อาทิ โรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ เพื่อหาปัจจัยในการส่งเสริมคนแต่ละช่วงวัยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งปัจจุบัน ศาสตร์นี้ถือเป็นวิทยาศาสตร์สาขาใหม่ที่มีองค์ความรู้จำกัด

ดร.สฤกกา กล่าวเสริมว่า “งานวิจัยในศาสตร์นี้สามารถนำมาพัฒนาที่อยู่อาศัย เมือง และสิ่งแวดล้อม เพื่อการใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันความรู้สาขานี้ยังมีจำกัด ความร่วมมือระหว่างสามพันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญต่างสาขา จะช่วยดึงดูดนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาร่วมกันศึกษา ความรู้ใหม่ ๆ ต่อเนื่องต่อไป”

ขณะเดียวกัน เบย์เครส อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญซึ่งทำงานวิจัยศาสตร์เชิงป้องกันและเวชศาสตร์ผู้สูงวัยและสถานพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพคนวัยอิสระ ได้นำผลงานนวัตกรรม “Cogniciti” นวัตกรรมทดสอบสุขภาพ ของศูนย์ที่พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการรับมือกับภาวะความเสื่อมของสมองและศาสตร์เชิงป้องกันโรคทางสมองต่าง ๆ ที่มักเกิดกับประชากรวัย 50+ มาร่วมใช้กับโครงการ ดิ แอสเพน ทรี และให้คนไทยได้ใช้อีกด้วยเช่นกัน

รศ. ดร. ซิด เฟลด์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน เบย์เครสท์ เซ็นเตอร์ และหัวหน้าแผนกการดูแลผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยโตรอนโต กล่าวว่า “เบเครสต์มีความยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรกับ MQDC องค์กรมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเพื่อประชากรสูงวัย เห็นได้จาก โครงการ ดิ แอสเพน ทรี เดอะ ฟอเรสเทียส์ ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง เสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพ ความเข้าใจและการดูแลสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุ

“ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเบย์เครสท์ในด้านการดูแลผู้สูงอายุระดับชั้นแนวหน้าของโลก เราตั้งตารอที่จะได้เห็นประวัติศาสตร์ความเป็นเลิศในด้านการดูแลประชากรสูงวัย จากนวัตกรรม และการวิจัยตลอดระยะเวลากว่า 105 ปีของเรา จะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกในการดูแลประชากรสูงวัยของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เป็นโครงการที่อยู่อาศัยของประชากรวัยอิสระที่สมบูรณ์แบบ และเป็นโครงการตัวอย่างให้กับการพัฒนาโครงการชุมชนผู้สูงอายุอื่น ๆ อีกด้วย”