คมนาคมสรุป 6 หลักเกณฑ์ Smart Mobility รอ “ไพรินทร์” เคาะ 20 ธ.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานการประเมินการเป็นเมืองอัจฉริยะด้าน Smart Mobility (คมนาคมขนส่ง) วันนี้ (18 ธ.ค.) เป็นการเสนอหลักเกณฑ์ เพื่อพิจารณาการเป็น Smart Mobility โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน มีมติให้คณะทำงาน Smart City ทั้ง 7 ด้าน ไปพิจารณาตั้งหลักเกณฑ์การคัดเลือก โดยให้หลักการกว้างๆ ว่า แต่ละด้านให้มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ผู้ที่จะผ่านเกณฑ์จะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 70 คะแนน

เบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่า สำหรับด้าน Smart Mobility ควรจะมี 6 หลักเกณฑ์สำคัญที่จะใช้ในการพิจารณา ได้แก่ 1.การเข้าถึงระบบขนส่งทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ ต้องเข้าถึงง่ายและเข้าถึงการทำกิจกรรมของเมือง เช่น โซน Smart City บางซื่อ เนื้อที่ 2,000 ไร่ ซึ่งมีกิจกรรมของเมืองมากมาย อยู่ใกล้กับสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ), เซ็นทรัล ลาดพร้าว, สวนจตุจักร และอาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ที่เป็นทั้งที่พักผ่อน, การจับจ่ายใช้สอย และแหล่งงาน การจะเป็น Smart Mobility จึงต้องคำนึงถึงการเชื่อมต่อกับพื้นที่เหล่านี้ด้วย

2.ความสะดวก โดยจะรวมการบริหารจัดการด้านจราจรไว้ในหลักเกณฑ์ข้อนี้ด้วย ต้องออกแบบให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ต้องออกแบบให้เข้าถึงการเดินทางได้ การเชื่อมต่อการเดินทางต้องไม่มีรอยต่อ เช่น จากรถไฟฟ้าไปรถเมล์ ไม่ต้องเสียเวลารอนานและไม่ต้องต่อรถเยอะ หรือแม้แต่การออกแบบระบบอื่นๆ ที่ช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น เช่น ระบบตั๋วร่วม เป็นต้น

3.ความปลอดภัย 4.เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานในการเดินทาง อาจจะมีการออกแบบจุดบริการรถจักรยานสำหรับผู้ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT หรือการจัดรถไฟฟ้า EV รับส่งคน เป็นต้น

5.การบริหารจัดการการเดินทางคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ หรือการออกแบบป้ายรถประจำทาง ที่สามารถบอกได้ว่ารถเมล์ที่จะมาจอดผ่านเส้นทางใดบ้าง จะมาถึงในกี่นาที เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะทำงานยังพิจารณาเพิ่มข้อเสนอเพิ่มเติมอื่นๆ อีก 1 ข้อ เป็นการให้ผู้ที่ยื่นขอสามารถเสนอสิ่งที่อยู่นอกเหนือทั้ง 5 ข้อข้างต้นได้ โดยคะแนนในข้อนี้จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะทำงานเอง

“5 ข้อแรก จะมีคะแนนเต็มแต่ละข้อ 20 คะแนน ต้องผ่านอย่างน้อยข้อละ 10 คะแนน แต่อย่างไรก็ตาม ตามที่คณะอนุกรรมการฯตั้งเกณฑ์ไว้จะต้องผ่านอย่างน้อย 70 คะแนนขึ้นไป การมีข้อเสนอเพิ่มเติมจึงเป็นคะแนนช่วยในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ที่ยื่นขอเป็น Smart City จะต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 2 ข้อ โดยมี Smart Environment เป็นข้อบังคับที่จะต้องผ่านให้ได้ ส่วนอีกข้อหนึ่งจะผ่านในหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านทั้ง 7 ข้อ อีกทั้งผู้ที่ยื่นก็ไม่จำเป็นต้องยื่นให้ครบทั้ง 7 ข้อก็ได้ อาจเลือกเฉพาะที่เขาถนัดก็ได้”

ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขั้นตอนต่อไป จะนำเสนอหลักเกณฑ์ดังกล่าวในที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ซึ่งอีก 6 Smart ก็จะเสนอในวันดังกล่าวพร้อมกันด้วย

หากที่ประชุมเห็นชอบแล้ว และเมื่อได้สัญลักษณ์ของโครงการและกำหนดวันที่จะเปิดตัวโครงการ Smart City อย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะนำทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานภายในต้นเดือน ม.ค. 2562 โดยจะมีการเปิดตัวโครงการและเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจพัฒนา Smart City ในช่วงปลายเดือนต่อไป

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!