เจ้าท่าเข้ม 2 ก.ย.ลุยรื้อสิ่งปลูกสร้างรุกลำน้ำ

เเฟ้มภาพ

ยอดขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ 3 หมื่นราย กรมเจ้าท่ายันพ้นเส้นตาย 1 ก.ย. ไม่ยืดเวลาเพิ่ม สั่งลุยตรวจเข้มทั่วประเทศ พบทำผิดกฎหมายปรับ ดำเนินคดีอาญา รื้อถอน มีอาคารสิ่งปลูกสร้าง 18 ประเภทอยู่ในข่ายพิจารณาอนุญาตให้ได้ ส่วนร้านอาหาร รีสอร์ต ไม่เข้าเกณฑ์

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2560 ขยายเวลาแจ้งการเป็นเจ้าของหรือครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับอนุญาตแต่ไม่เป็นตามเงื่อนไขออกไป 60 วัน จาก 27 มิ.ย.-1 ก.ย. 2560 โดยเว้นค่าปรับและลดค่าตอบแทนรายปีให้ ล่าสุด 31 ส.ค. มีผู้มาแจ้งทั่วประเทศ 20,000-30,000 ราย

กรมเจ้าท่าไม่ยืดเวลารับแจ้ง

“กรมยังไม่ได้รับนโยบายให้ขยายเวลาเพิ่ม ใครไม่มาแจ้งหากตรวจสอบพบว่าทำผิดจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ปรับตั้งแต่ 1,000-20,000 บาท/ตร.ม. เพราะที่ผ่านมาประชาสัมพันธ์มาตลอด”

ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการป้องกันและตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ มิให้หาประโยชน์จากการอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ผ่านกลไกด้านกฎหมายและการออกแบบขั้นตอนการอนุญาต โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภทสิ่งปลูกสร้าง ที่พึงอนุญาตได้ และวิธีการในการพิจารณาอนุญาต มีคู่มือปฏิบัติงานและซักซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติ ออกแบบกระบวนการพิจารณาถ่วงดุลและสอบทานความถูกต้อง มั่นใจได้ว่าการอนุญาตถูกต้องและปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วน

เปิดให้ใช้ประโยชน์ 18 ประเภท

ประเภทสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ปลูกสร้างตั้งแต่ 24 ส.ค. 2537- 22 ก.พ. 2560 มีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมกำหนดประเภทที่อนุญาตได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 จำนวน 18 ประเภท 1.ท่าเทียบเรือ 2.สะพานปรับระดับ โป๊ะเทียบเรือ 3.สะพานข้ามแม่น้ำ-ข้ามคลอง 4.ท่อหรือสายเคเบิล 5.เขื่อนกันน้ำเซาะ 6.คานเรือ 7.โรงสูบน้ำ 8.กระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 9.ท่าเทียบเรือทางลาดในแม่น้ำโขง 10.ปะการังเทียม 11.ท่อลอด 12.แพสูบน้ำ 13.เขื่อนกันทรายกันคลื่น 14.ซ่อมแซมบ้านพักอาศัย 15. ฝายน้ำล้น 16.ซ่อมแซมชานไม้ 17.สะพานทางเดินไม้ 8.สิ่งปลูกสร้างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ

นายกฯประมงชี้ ก.ย.ส่อวุ่น

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการแจ้งข้อมูลสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำทั้งประเทศไม่น่าถึง 50% เนื่องจากชาวบ้านไม่เข้าใจ หลัง 1 ก.ย. มีการใช้กฎหมายเข้มจะวุ่นวายจ.สมุทรสงคราม ประเมินสิ่งรุกล้ำมีกว่า 4,000 ราย แต่มาแจ้งถึง 31 ส.ค. 2,718 ราย เหลืออีก 1 วันน่าจะแจ้งเพิ่ม 3,000 ราย ใกล้เคียงตัวเลขจริง

นายอำนาจ สอนหมวก ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตราด เปิดเผยว่า มีเข้าแจ้งแล้ว 5,000 ราย เกิน 80% ของที่รุกล้ำลำน้ำ

มึนมีหลายหน่วยงานดูแลพื้นที่

นายจักรฤชณ์ สลักเพชร นายกองค์การบริหารเกาะช้างใต้ จ.ตราด กล่าวว่า อบต.เกาะช้างใต้ได้สำรวจบ้านในน้ำ 5 หมู่บ้าน พบว่า มีบ้านที่ได้รับผลกระทบ 271 ครัวเรือน ปรากฏว่ามีผู้มายื่นเกือบ 100%

เช่นเดียวกับที่นายประดิษฐ์ คุ้มชนม์ นายกฯ อบต.แหลมกลัด อ.เมืองตราด จ.ตราด ระบุว่า อบต.แหลมกลัด มีประชากร 3,000 ครัวเรือน 10 หมู่บ้าน มี 5 หมู่บ้าน 322 หลังคาเรือน ปลูกสร้าสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ชาวบ้านตื่นตัวกันดี น่าจะมีผู้เข้ามาจดทะเบียนเกิน 90%

ด้านนายไตรรัตน์ เรือนนาม หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 (น้ำเชี่ยว-ตราด) กล่าวว่า กรณีชาวบ้านสร้างบ้านเรือนบนพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งสภาพป่าเป็นป่าชายเลน ก่อนมีมติคณะรัฐมนตรี 23 ก.ค. 2534 อนุญาตให้อยู่อาศัยได้ แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาแต่ได้รับความร่วมมือน้อย ขณะเดียวกันชาวบ้านค่อนข้างสับสนเพราะบางพื้นที่มีหลายหน่วยงานดูแล

เชียงใหม่ขู่ไม่มายื่นโดนรื้อแน่

ขณะที่นายไฉน นาคทรัพย์ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ล่าสุด มียอดขึ้นทะเบียน 200 รายเศษ จากกว่า 1,000 ราย หลังสิ้นสุดรับแจ้งจะลงสำรวจพื้นที่ทุกแปลง หากไม่เข้าหลักเกณฑ์จะออกคำสั่งให้รื้อถอนภายใน 30 วัน ผู้ที่ไม่ยื่นแจ้งจะดำเนินตาม พ.ร.บ.การเดินเรือ มีโทษปรับ คดีอาญา และรื้อถอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลสำนักงานประมง จ.เชียงใหม่ ระบุว่ามีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกระชังปลา 235 ราย รวม 2,800 กระชัง ส่วนผู้ยื่นจดแจ้งทั่วประเทศ 2-3 หมื่นรายมีทั้งที่อยู่อาศัย กระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ท่าเทียบเรือ ฯลฯ ขณะที่ร้านอาหาร รีสอร์ต จดแจ้งน้อยมาก