เวนคืน 1.8 หมื่นไร่หมื่นล้าน สร้างรถไฟทางคู่สายใหม่เชื่อมภาคอีสาน “บ้านไผ่-นครพนม” ทะลุลาว

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

หลังมีชื่อปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (2515-2519) หรือประมาณ 50 ปีที่แล้ว จนกระทั่งมาเริ่มพิจารณาศึกษาเส้นทางอย่างจริงจังในปี 2532

ในที่สุดความฝันของคนอีสานใต้กำลังจะกลายเป็นความจริง เมื่อ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” นัด 28 พ.ค. 2562 อนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. ใช้เงินลงทุนรวม 66,848.33 ล้านบาท

เวนคืนหมื่นล้าน

แบ่งเป็นค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท พื้นที่รวม 7,100 แปลง หรือประมาณ 17,500 ไร่ ค่าก่อสร้าง 55,462 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,131 ล้านบาท

ซึ่งวงเงินดังกล่าวปรับลดลง 1,117 ล้านบาท จากเดิม 67,965.33 ล้านบาท ตามคำแนะนำของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยเป็นการปรับลดในส่วนของงบฯอุปกรณ์เครื่องจักรที่ไม่จำเป็นออกไป

โครงการจะใช้เวลาดำเนินการ 8 ปี นับจากนี้ถึงปี 2568 โดย “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไล่ไทม์ไลน์คาดว่าจะเริ่มขออนุมัติการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินได้ภายในปี 2562 จากนั้นในปี 2563 จะเป็นขั้นตอนของการประกวดราคาในรูปแบบ e-Bidding และเริ่มต้นก่อสร้างในปีเดียวกัน จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือน ม.ค. 2564 แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือน ม.ค. 2568

โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายของโครงการทั้งหมด มีสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณประจำปีสำหรับเป็นค่าเวนคืนที่ดิน ส่วนการก่อสร้าง กระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศ และจะค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขอกู้เงินได้ตามที่ระบุตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย 2494 และที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนของโครงการแล้ว

เปิดพื้นที่ใหม่ 6 จังหวัด

ส่วนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) จะดำเนินการคู่ขนานไปกับการประมูลเพราะการลงนามสัญญากับผู้รับจ้างจะทำได้ก็ต่อเมื่อ EIA อนุมัติแล้ว

แนวเส้นทางมีสถานีใหม่ 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 19 อำเภอ 6 จังหวัด จุดเริ่มต้นอยู่ที่ชุมทางบ้านหนองแวงไร่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พาดผ่าน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร ไปสิ้นสุดที่สถานีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 จ.นครพนม นอกจากนี้จะเชื่อมกับลาวที่แขวงสะหวันนะเขตและคำม่วน

มีการออกแบบถนนยกข้ามทางรถไฟจำนวน 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ จำนวน 245 แห่ง พร้อมการก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ความกว้างของราง ขนาด 1 เมตร สามารถเชื่อมต่อกับระบบรางเดิมของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่ รองรับการเดินรถขนาดความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนทางรถไฟเป็นรูปแบบใช้หินโรยทางทั้งทางระดับพื้นดิน สะพาน และโครงสร้างยกระดับที่เป็นคอนกรีต

คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 3,835,260 คน/ปี มีปริมาณสินค้าที่ขนส่งในเส้นทางนี้ 748,453 ตัน และจะมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 13% ทำให้มูลค่าเงินปัจจุบันสุทธิของโครงการอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) อยู่ที่ 0.42%

เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

“รถไฟสายนี้เป็นหนึ่งในโครงการเชื่อมรถไฟระหว่างภาคตะวันออกไปตะวันตก หรือ east-west corridor เส้นทางจากแม่สอด-นครสวรรค์ บ้านไผ่-นครพนม ระยะทางรวม 902 กม. เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตากและนครพนม นอกจากสายนี้แล้ว ยังมีช่วงบ้านไผ่-นครสวรรค์ ระยะทาง 291 กม. กรอบวงเงิน 47,712 ล้านบาท และช่วงนครสวรรค์-แม่สอด ระยะทาง 291 กม. กรอบวงเงิน 47,712 ล้านบาท ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม” นายอาคมระบุ

เท่ากับว่า “รัฐบาลทหาร” อนุมัติรถไฟทางคู่สายใหม่ในแผนครบ 2 เส้นทาง จากก่อนหน้านี้มีช่วง “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ระยะทาง 323 กม. เงินลงทุน 85,345 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ประทับตราไปเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว เพื่อเชื่อมการขนส่งและเดินทางภาคเหนือเชื่อมกับ สปป.ลาว ถึงขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่เวนคืน จนมาล่าสุดเป็นช่วงบ้านไผ่-นครพนม

อนุมัติกันฉลุย แต่ต้องลุ้นโครงการจะเดินหน้าได้ช้าหรือเร็ว !