จิราธิวัฒน์-โอสถานุเคราะห์ พลิกที่ดินผืนยักษ์ผุดมิกซ์ยูส บูมรังสิต-คลองหลวง รับรถไฟฟ้าสีแดง

หลังมีความชัดเจนการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา ในปี 2563 สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต จะเปิดใช้ในเดือน ม.ค. 2564 และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังเปิดประมูลก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และกรมทางหลวงเตรียมจะดึงเอกชนร่วมลงทุนโทลล์เวย์ต่อขยายรังสิต-บางปะอินภายในปีนี้

ตระกูลดังพลิกที่ดินรับรถไฟฟ้า

ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีแลนด์แบงก์ในย่านจังหวัดปทุมธานี เริ่มเตรียมจะนำที่ดินมาพัฒนาโครงการใหม่ ไม่ว่า “ตระกูลจิราธิวัฒน์” เจ้าของศูนย์การค้าเซ็นทรัลที่ซื้อที่ดินไทยเมล่อน 761 ไร่ และที่ดินแปลงใหญ่บริเวณจุดตัดถนนรังสิต-องครักษ์ กับวงแหวนตะวันออก รอขึ้นบิ๊กโปรเจ็กต์

ยังมี “ตระกูลโอสถานุเคราะห์” เจ้าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีแผนจะพลิกที่ดินมหา’ลัย เป็นพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เช่น บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ได้เข้าไปลงทุนซื้อที่ดินติดถนนพหลโยธินหลายแปลง พัฒนาโครงการพลัม คอนโด ที่พหลโยธิน 89 และรังสิต ใกล้กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เขย่าผังเมืองปทุมธานีใหม่

แหล่งข่าวจากโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปทุมธานีเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างผังเมืองรวม 3 แห่ง ได้แก่ ผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองรวมท่าโขลง-คลองหลวง-รังสิต และผังเมืองรวมลำลูกกา-บึงยี่โถ โดยท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำ คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2563-2564

“การวางคอนเซ็ปต์คร่าว ๆ คือ พื้นที่ช่วงระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงถึงวงแหวนรอบนอกตะวันออก จะเป็นพื้นที่แกนกลางเมือง การพัฒนาจะเป็นเนื้อเดียวกับกรุงเทพฯ ส่วนพื้นที่อำเภอเมือง การพัฒนาจะเกี่ยวเนื่องกับจังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ ในผังเมืองใหม่อยากจะเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ เช่น การย้ายนิคมอุตสาหกรรมไปอยู่ในอำเภอลาดหลุมแก้วกับอำเภอบางกระดี่ที่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนพื้นที่สีม่วงบางพื้นที่อาจจะต้องปรับใหม่เป็นพาณิชยกรรมรับกับการพัฒนาและศักยภาพของพื้นที่”

อสังหาฯซื้อที่ใน MMC

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับความเคลื่อนไหวการขอปรับสีผังเมืองก็มีหลายรายที่ยื่นเรื่องเข้ามา ที่ได้รับอนุมัติแล้ว มีที่ดินของโครงการ MMC แฟคตอรี่ นวนคร ประมาณ 1,300 ไร่ ก่อนถึงนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ขอปรับจากสีม่วง (อุตสาหกรรมและคลังสินค้า) เป็นสีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยบางส่วน แต่ได้รับอนุมัติให้เป็นสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ก็สามารถพัฒนาพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยได้ แต่สร้างอาคารขนาดใหญ่ไม่ได้ และคงพื้นที่สีม่วงเป็นอุตสาหกรรมเดิมบางส่วนไว้

“ที่ดินแปลงนี้เข้าใจว่าเจ้าของขายให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ จึงขอปรับผังใหม่เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย”

ไทยเมล่อนจากสีม่วงเป็นสีแดง

ส่วนที่ยื่นขอปรับปรุงและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เช่น ที่ดินไทยเมล่อนเดิม 616 ไร่ ที่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาได้ซื้อไป และเมื่อปี 2556 ยื่นขอปรับปรุงผังเมืองจากสีม่วงเป็นสีแดง (พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการพัฒนาพาณิชยกรรม ในรูปแบบลักษณะคอมมิวนิตี้มอลล์ มีทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากรังสิตไปบางปะอิน

“ที่ดินตรงไทยเมล่อน ทางเซ็นทรัลขอปรับเป็นสีแดง แต่ยังมีข้าง ๆ ที่เป็นสีม่วง ก็กำลังพิจารณาว่าจะต้องยกเลิกหรือไม่ ห้างกับโรงงานจะอยู่ร่วมกันได้ไหม และดูผลกระทบต่อการจราจรบนถนนพหลโยธินด้วย เพราะดูแล้วน่าจะเป็นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ม.กรุงเทพผุดมิกซ์ยูส

นอกจากนี้ยังมีที่ดินตรงมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เจ้าของที่ดิน คือ ตระกูลโอสถานุเคราะห์ เมื่อกลางเดือน ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ได้ยื่นคำขอปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่จำนวน 2 บริเวณ ซึ่งบริเวณแรกอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยติดถนนพหลโยธิน เนื้อที่กว่า 4 ไร่ ขอปรับจากสีส้มเป็นสีแดง และที่ดินด้านหลังติดกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง จำนวนกว่า 125 ไร่ จะขอปรับจากสีเขียวมะกอก กำหนดเป็นที่ดินเพื่อสถาบันการศึกษา เป็นสีแดง ให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ได้มากขึ้น

“ทั้ง 2 แปลงทางเจ้าของที่ดินแจ้งว่า ต้องการจะพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน หรือมิกซ์ยูส ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ เช่น คอนโดมิเนียม หอพัก บ้านเดี่ยว และอื่น ๆ และพื้นที่พาณิชยกรรมในลักษณะศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ประเภทคอมมิวนิตี้มอลล์ อาคารพาณิชย์ อาคารค้าปลีกค้าส่ง และอาคารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายอาคาร”

โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม เพื่อให้รวบรวมสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคและบริโภคครบวงจร สำหรับผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวในบริเวณอำเภอคลองหลวง อาทิ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส ร้านค้าแฟชั่น ศูนย์การศึกษา ศูนย์อาหาร ศูย์เภสัชกรรมและธนาคาร เป็นต้น รองรับธุรกิจการศึกษา ส่วนที่ดินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการจัดทำผังเฉพาะพัฒนาเอง จะรับกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีธรรมศาสตร์

อิเกีย-ตลาดไทร่วมแจม

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในพื้นที่อื่น ๆ มีที่ดินของ “อิเกียและเซ็นทรัลอีกแปลง” ที่ยื่นขอปรับสีในผังเมืองรวมลำลูกกา-บึงยี่โถ ตรงจุดตัดวงแหวนตะวันออกกับถนนรังสิต-องครักษ์ จากพื้นที่สีเขียวเป็นสีแดงเพื่อพัฒนาพาณิชยกรรม

ยังมีที่ดินตลาดไทที่ขอปรับที่ดินบางส่วนอยู่ด้านหลังที่ปัจจุบันเป็นสีเหลือง ประมาณ 246 ไร่ เป็นพื้นที่สีแดง เพื่อทำห้องเย็น ขณะที่ตลาดสี่มุมเมืองก็ขอปรับสีผังเมืองตรงที่ดินอยู่ด้านหลังเป็นสีแดง เพื่อพัฒนาพาณิชยกรรมเช่นกัน และมีที่ดินตรงทางเข้าโรงแรมแมนฮัตตัน (ซอยวัดคุณหญิงส้มจีน) มีที่ดินด้านหลังประมาณ 1,000 ไร่ เป็นพื้นที่สีม่วง ปัจจุบันทำอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ ผสมผสานกับการสร้างที่อยู่อาศัย ทางเจ้าของที่ดินจะขอปรับเป็นสีเหลือง เป็นต้น