เดินหน้าเนรมิต1,600ไร่ ผุดท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ขานรับลงทุน EEC ประตูการค้าเชื่อมพม่า-กัมพูชา-เวียดนาม-ลาว

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (Public Review) (ค.3) โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดสำหรับการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3

ร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่าการสัมมนาครั้งนี้ ได้นำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เช่น มีพื้นที่ท่าเรือถึง 1,600 ไร่ ความยาวท่าเรือ 4,500 เมตร มีท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า ท่าเรียบเรือชายฝั่ง 1 ท่า และท่าเทียบเรือตู้สินค้า 4 ท่า สามารถรองรับทั้งปริมาณเรือและตู้สินค้าได้สูงถึง 18 ล้าน TEU/ปี

นอกจากนี้ ในงานสัมมนายังนำเสนอมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยศึกษาครอบคลุมระยะต่างๆ ได้แก่ ระยะก่อนก่อสร้าง และระยะก่อสร้างสามารถแบ่งได้ 3 ด้าน

ประกอบด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจ-สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น จัดให้มีช่องทางการร้องเรียน ที่หลากหลาย 2.ด้านการกัดเซาะและการทับถมของตะกอนชายฝั่งเช่น ควบคุมการตอกเสาเข็มให้แล้วเสร็จ ในระยะเวลาที่กำหนดและใช้แพท้องแบนดำเนินการตอกเสาเข็มและวางคานเพื่อลดสิ่งกีดขวางกระแสน้ำ 3.ด้านมลภาวะทางอากาศ เสียง และการสั่นสะเทือน เช่น ก่อสร้างรั้วปิดล้อมรอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ใกล้ชุมชนหรือพื้นที่กองวัสดุก่อสร้าง

ระยะดำเนินการแบ่งได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ เช่น ติดตั้งป้ายเครื่องหมายสัญญาณเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้ถนน รวมถึงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากคลองบางละมุงเป็นประจำเพื่อให้เรือชาวประมงสัญจรได้สะดวก2.ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย เช่น ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปประจำอาคารต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการ 3.ด้านการจัดการกากของเสีย เช่น มีมาตรการจัดเก็บขยะให้หมดต่อวันเพื่อไม่ให้มีขยะตกค้าง พร้อมติดตั้งถังรองรับขยะมูลฝอยให้เพียงพอ

นอกจากนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยยังมีมาตรการช่วยเหลือชดเชยเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชน ในพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืน

เช่น การจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างเหมาะสมและ เป็นธรรม จัดให้มีตัวแทนชุมชนรอบพื้นที่ท่าเรือร่วมติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของชุมชน การจัดสรรพื้นที่ทำกินภายในเขตท่าเรือ เผยแพร่พิกัดแหล่งปะการังเทียมใหม่ให้กับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและประมงชายฝั่งเพื่อทำการประมง เป็นต้น

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 นับเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและคมนาคมทางน้ำ โดยเฉพาะแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียง เขตเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่เป็นแผนเร่งด่วนที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อน ให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว

นอกจากนี้ ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการคมนาคม ขนส่ง และกระจายสินค้าตลอดจนส่งเสริมขีดความสามารถใน การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียด้วย