ประเดิม 11 โครงการพัฒนา “กรุงเทพฯ” เป็นเมืองสีเขียว

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มุ่งมั่นที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียวอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ดำเนินโครงการนำร่อง (ระยะที่ 1) จำนวน 11 โครงการ

1. สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร เขตลาดกระบัง พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 18 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้า 42% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 63

2. สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียน – ชายทะเล) เขตบางขุนเทียน พื้นที่ของกรมธนารักษ์ จำนวน 37 ไร่ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 64

3. สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 10 ไร่ ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประชาชนแล้ว

4. สวนสันติพร เขตพระนคร พื้นที่ของกรมธนารักษ์ จำนวน 2.5 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 63

5. สวนชุมชน เขตบางรัก พื้นที่เอกชนบริจาคให้กรุงเทพมหานคร จำนวน 0.5 ไร่ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี 64

6. สวนภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 3 เขตจตุจักร พื้นที่ของกรมธนารักษ์ จำนวน 2 ไร่ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี 64

7. พื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 70 ไร่ อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ และออกแบบ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้กลางปี 64

8. พื้นที่สีเขียวภายใน ปตท.สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดี เขตจตุจักร พื้นที่ของ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน จำนวน 0.75 ไร่ อยู่ระหว่างการออกแบบและเริ่มก่อสร้างบางส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 63

9. การพัฒนาพื้นที่สีเขียวตามแนวถนนพหลโยธิน (ห้าแยกลาดพร้าว – อนุสาวรีย์ชัยสมอรภูมิ) เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตราชเทวี พื้นที่สาธารณะและของเอกชนบางส่วนตลอดแนวระยะทาง 5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ดังกล่าว

10.พื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช (ซอยปรีดีพนมยงค์ 2) เขตวัฒนา พื้นที่ของการทางพิเศษฯ จำนวน 5.4 ไร่ อยู่ระหว่างการออกแบบและเริ่มก่อสร้างบางส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 64

และ 11. พื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช–วงแหวนรอบนอก (หน้าสถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน ) เขตบางซื่อ พื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการประสานงานเรื่องพื้นที่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้สำนักสิ่งแวดล้อมยังได้ประสานสำนักงานเขตปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ โดยมีรูปแบบการปลูกต้นไม้และเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม พร้อมทั้งได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ และแจกจ่ายให้ผู้มีหน้าที่ดูแลต้นไม้ทุกสำนักงานเขต รวมทั้งสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม

เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในคู่มือดังกล่าวประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับการปลูกและการบำรุงรักษาไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ดอกไม้ประดับในทุกๆ ด้าน รวมถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาพันธุ์ไม้ที่ควรปลูกตามแนวถนนในกรุงเทพมหานคร

สำหรับการเลือกพันธุ์ไม้จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการปลูก เช่น ต้องการร่มเงา หรือต้องการต้นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม โดยให้นำลักษณะตามธรรมชาติของพันธุ์ไม้เมื่อโตเต็มที่มาพิจารณาด้วย

เช่น หากต้องการให้บริเวณริมทางเท้ามีร่มเงา ต้นไม้ควรมีพุ่ม ใบหนาทึบพอสมควร ลำต้นและกิ่งก้านแข็งแรง ไม่ฉีกหักง่าย ระบบรากแข็งแรง การเจริญเติบโตปานกลาง มีอายุยืนนาน การดูแลรักษาง่าย เช่น พิกุล อินทนิล เสลา มะขาม

ในส่วนของพันธุ์ไม้ที่ไม่ควรปลูกบริเวณทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีลักษณะดังนี้ พันธุ์ไม้ที่โตเร็วและพุ่มใบใหญ่ เช่น จามจุรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ พันธุ์ไม้ที่มีลำต้นและกิ่งเปราะ ฉีกขาดหรือล้มง่าย เช่น จามจุรี ทองกวาว ทองหลาง พันธุ์ไม้ที่มีระบบรากรุนแรง เช่น หางนกยูงฝรั่ง ยางอินเดีย หูกระจง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการปลูกต้นไม้บริเวณทางเท้าจะต้องพิจารณาข้อจำกัดด้านพื้นที่ เช่น ความกว้างทางเท้า ความสูงของระดับสายไฟฟ้าหรือสายสื่อสาร และพิจารณามิให้บดบังไฟฟ้าส่องสว่างและกล้องวงจรปิดร่วมกับความร่มรื่น สวยงาม และปลอดภัยของประชาชนด้วย